สถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ ที่ 30 เม.ย. — 4 พ.ค. 55 และแนวโน้มในสัปดาห์นี้ ที่ 7 — 11 พ.ค. 55

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 8, 2012 16:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--ปตท. ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ราคาน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) เฉลี่ยปรับตัวลดลง 0.60 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลอยู่ที่ 103.46 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เฉลี่ยปรับตัวลดลง 1.83 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 117.32 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.15 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ระดับ 115.34 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยปรับตัวลดลง 1.43 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 131.38 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และน้ำมันดีเซลเฉลี่ยปรับตัวลดลง 0.78 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 131.22 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่ ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - Reuters Survey รายงาน OPEC ผลิตน้ำมันดิบเดือน เม.ย. 55 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 0.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 31.75 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 - State Oil Marketing Organisation (SOMO) ของอิรักรายงานยอดส่งออกน้ำมันดิบของประเทศเดือน เม.ย. 55 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 0.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 2.51 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากการเปิดท่าส่งออกแห่งใหม่ - กระทรวงพลังงานรัสเซียรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบทางเรือในเดือน เม.ย. 55 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 16% อยู่ที่ระดับ 3.02 ล้านบาร์เรลต่อวัน - สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration: EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 เม.ย. 55 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 2.86 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 375.86 ล้านบาร์เรล - China Federation of Logistics and Purchasing (CFLP) ของจีนรายงาน PMI ภาคบริการในเดือน เม.ย. 55 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 1.9 จุด มาอยู่ที่ 56.1 จุด ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - ตัวเลขด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปรับตัวในทิศทางดีขึ้นจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ (Consumer sentiment) เดือน เม.ย. 55 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.20 จุด อยู่ที่ระดับ 76.4 จุด สูงสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 54 และกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 เม.ย. 55 ลดลง 27,000 ราย จากสัปดาห์ก่อนมาอยู่ที่ 365,000 ราย ขณะที่ Institute for Supply Management (ISM) รายงานดัชนีภาคการผลิตของโรงงานในสหรัฐฯ (National Factory Activity Index) เดือน เม.ย. 55 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.4 จุด อยู่ที่ระดับ 54.8 จุด สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับ 53 จุด - ธนาคารกลางสหภาพยุโรป (European Central Bank) ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1% - สหประชาชาติเตรียมออกมาตรการคว่ำบาตรซูดานและซูดานใต้หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 2 สัปดาห์ และปริมาณส่งออกน้ำมันดิบกว่า 400,000 บาร์เรลต่อวัน หยุดชะงัก (ปริมาณการผลิตอยู่ที่ 500,000 บาร์เรลต่อวัน) - อิสราเอลเรียกร้องสหภาพยุโรปไม่ให้ผ่อนปรนการคว่ำบาตรต่ออิหร่านหากอิหร่านไม่ยอมยุติหรือชะลอโครงการนิวเคลียร์ ขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศย้ำเตือนนิติบุคคลที่ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านจะถูกลงโทษตามที่กำหนดไว้สูงสุด ทั้งนี้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านในเดือน เม.ย. 55 อยู่ที่ระดับ 3.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 20 ปี แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ที่ 7-11 พ.ค. 55 ในระยะสั้นราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 109-115 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 94-100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลตามลำดับ ทั้งนี้ราคาน้ำมันมีความผันผวนปรับตัวขึ้นลงตามปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางจิตวิทยา โดยผลการเลือกตั้งในประเทศฝรั่งเศสและกรีซมีแนวโน้มส่งผลในเชิงลบต่อยุโรป ซึ่งประชาชนกรีซได้เทคะแนนเสียงให้กับพรรคต่อต้านมาตรการช่วยเหลือจากยุโรป และ IMF หลังจากประสบความยากลำบากจากมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี Papademos ส่วนทางด้านฝรั่งเศส นาย Hollande ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งนโยบายของนาย Hollande มีนโยบายในการลดมาตรการรัดเข็มขัดของฝรั่งเศสลง และเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งเป็นมุมมองที่ต่างกับนายกรัฐมนตรี Merkel ของเยอรมนี ผลการเลือกตั้งของทั้งสองประเทศได้เพิ่มความกังวลต่อเสถียรภาพภาวะหนี้สินของยุโรปว่าจะถดถอยอีก ซึ่งอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก อย่างไรก็ตามอินเดียมีแผนลดปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน โดยในปีงบประมาณปี 2555 อินเดียจะลดการนำเข้ามาอยู่ที่ระดับ 252,000 บาร์เรลต่อวัน จาก 315,000 บาร์เรลต่อวัน และในปีงบประมาณปี 2556 อินเดียจะนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านคิดเป็นสัดส่วน 7% ของการนำเข้าทั้งประเทศ ซึ่งอินเดียได้รับแรงกดดันจากสหรัฐฯ ให้ลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านเพื่อสอดคล้องกับมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ