กลุ่มซีไอเอ็มบี เข้าซื้อกิจการ แบงก์ออฟคอมเมิร์ซ ในฟิลิปปินส์ พร้อมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับซานมิเกลคอร์ปอเรชั่น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 8, 2012 17:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กลุ่มซีไอเอ็มบีโฮลดิ้งส์ (CIMBGH) เข้าซื้อกิจการธนาคารในฟิลิปปินส์ โดยในวันนี้ได้ทำความตกลงเข้าซื้อหุ้น 60% จาก ซานมิเกล พร็อพเพอร์ตี้ส์ , ซานมิเกล คอร์ปอเรชั่น รีไทร์เมนท์แพลน และผู้ถือหุ้นส่วนน้อยอื่นๆ (ขอเรียกโดยรวมว่า “ผู้ขาย”) ที่ถือหุ้นอยู่ใน แบงก์ออฟคอมเมิร์ซ (Bank of Commerce ชื่อย่อ BoC) ในประเทศฟิลิปปินส์ สำหรับการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ จะดำเนินการผ่านธนาคารซีไอเอ็มบี โดยเข้าซื้อหุ้นในราคา 181.25 เปโซต่อหุ้น โดยคาดว่าจะคิดเป็นมูลค่ารวมการซื้อหุ้นทั้งหมดประมาณ 12,203 ล้านเปโซ (หรือประมาณ 8,810 ล้านบาท) ซึ่งจะชำระเงินค่าหุ้นด้วยเงินสด ทั้งนี้ ราคาซื้อขายดังกล่าวของ BoC คิดเป็น 1.14 เท่าของมูลค่าทางบัญชี ณ 31 ธ.ค.2554 (อย่างไรก็ตาม หากคำนวณตามนโยบายทางบัญชีและการตั้งสำรองของกลุ่มซีไอเอ็มบี ราคาซื้อขายดังกล่าวจะถูกบันทึกไว้ที่ 1.3 เท่าของมูลค่าทางบัญชี) ในการซื้อกิจการครั้งนี้ ธนาคารซีไอเอ็มบี ยังได้ทำความตกลงในการร่วมมือกับซานมิเกลคอร์ปอเรชั่น (SMC) ที่จะยังคงให้การสนับสนุน SMC ecosystem (ระบบการบริหารจัดการ วิถีการทำงาน เครือข่ายความสัมพันธ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นบุคลากร ลูกค้า พันธมิตรของ SMC) ที่บริหารจัดการใน BoC ต่อไป เพื่อผสานความร่วมมือและกระชับการทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างกลุ่มซีไอเอ็มบี และกลุ่ม SMC โดยซานมิเกล คอร์ปอเรชั่น รีไทร์เมนท์แพลนจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ใหญ่ที่สุดของ BoC ด้วยสัดส่วนหุ้น 27% “ในฐานะที่เราเป็นธนาคารครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน การขยายธุรกิจไปยังฟิลิปปินส์เป็นสิ่งที่ต้องทำ และผมเชื่อว่าเราได้เข้าสู่ตลาดฟิลิปปินส์ในเวลาอันเหมาะสม เป็นดีลที่ลงตัว และมีพันธมิตรที่ดี” ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค ประธานบริหาร กลุ่มซีไอเอ็มบี กล่าว สำหรับ BoC นั้น เริ่มดำเนินธุรกิจเมื่อปี 2506 และเป็นธนาคารที่มีสินทรัพย์ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 16 ในฟิลิปปินส์ ให้บริการทางการเงินแบบครบวงจรทั้งเงินฝาก สินเชื่อให้แก่ลูกค้าตั้งแต่รายย่อยไปจนถึงลูกค้าขนาดใหญ่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงิน การบริหารจัดการสินทรัพย์ ทรัสตี การค้าระหว่างประเทศ และบริการบัตรเครดิต ผ่านเครือข่ายที่มี 122 สาขา และตู้เอทีเอ็ม 300 ตู้ในฟิลิปปินส์ “แม้วันนี้ BoC ยังมีขนาดเล็ก แต่ด้วยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่ยังต่ำอยู่ และฐานเงินกองทุนที่สูง BoC จะสามารถเติบโตในเวลาอันรวดเร็ว BoC จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถานะของกลุ่มซีไอเอ็มบีในความพร้อมของการให้บริการด้านการค้า การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวภายในภูมิภาคอาเซียนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ ยังจะช่วยเพิ่มเครือข่ายการให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อยเพิ่มเป็น 1,239 แห่งทั่วภูมิภาคอาเซียน ตอกย้ำการเป็นกลุ่มธนาคารที่มีเครือข่ายสาขามากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน” นาเซียร์ กล่าว ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค กล่าวเสริมว่า กลุ่มซีไอเอ็มบี ยังมั่นใจในศักยภาพการเติบโตของประเทศฟิลิปินส์ในระยะยาว จากปัจจุบันที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ในภูมิภาคอาเซียน และมีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค “ประเทศฟิลิปปินส์มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 4.9% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับการเมืองที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ และมีรัฐบาลที่ส่งเสริมการทำธุรกิจ ยิ่งมีส่วนผลักดันให้ประเทศต่างๆในอาเซียนเชื่อมเข้าหากัน และการมีธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ทะลุทะลวงเข้าถึงตลาด ฟิลิปปินส์จึงเป็นประเทศที่สำคัญต่อกลุ่มซีไอเอ็มบีอย่างยิ่ง” ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค กล่าวย้ำ ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค กล่าวถึงแผนธุรกิจของกลุ่มซีไอเอ็มบีว่า “การซื้อกิจการครั้งนี้ เราจะได้เห็นศักยภาพของธุรกิจลูกค้ารายใหญ่เพิ่มขึ้นทันที โดยจะมอบบริการทางการเงินและบริการเกี่ยวข้องกับตลาดทุนให้ถึงมือลูกค้าบริษัทได้ดียิ่งขึ้น ทางฝั่งลูกค้ารายย่อย อาจต้องใช้เวลาและการลงทุนเพิ่มอีกสักนิด แต่โดยรวมเชื่อว่าเราจะได้ประโยชน์จากการลงทุนครั้งนี้ภายในเวลาอันรวดเร็ว สิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดก็คือ เราจะเข้าถึง SMC ecosystem นั่นคือ ระบบการบริหารจัดการ วิถีการทำงาน เครือข่ายความสัมพันธ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นบุคลากร ลูกค้า พันธมิตรของ SMC ซึ่งถือเป็นชุมชนที่ใหญ่มาก” นาเซียร์ อธิบาย ว่า หนึ่งในจุดแข็งของ CIMB Group คือความสามารถที่จะรวมพลังและดึงประโยชน์จากการเข้าซื้อกิจการออกมาใช้ในการทำธุรกิจ "ผมพูดเสมอว่า ความสามารถที่จะบูรณาการและต่อยอดพลังจากการเข้าซื้อกิจการ สำคัญพอๆกับการเข้าซื้อกิจการ กลุ่มซีไอเอ็มบี มีประวัติศาสตร์ที่ดีเสมอมา และเราจะทำสิ่งนี้อีกครั้งใน BoC" เขาสรุป อนึ่ง การเสนอซื้อกิจการในครั้งนี้ จะไม่มีผลกระทบใดๆต่อมูลค่าสินทรัพย์สุทธิและรายได้ในงบการเงินปี 2555 ของ CIMBGH

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ