ธนาคารเกียรตินาคิน หนุนผู้ประกอบการ SME ผ่านบทวิจัย “Prefab ทางออกงานก่อสร้างในยุควิกฤตแรงงาน”

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 23, 2013 09:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) จัดสัมมนา “Prefab ทางออกงานก่อสร้างในยุควิกฤตแรงงาน” ระบุ การก่อสร้างด้วยระบบพรีแฟบในกลุ่มบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและลดเวลาการก่อสร้างได้เกือบเท่าตัว แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการก่อสร้าง และควบคุมมาตรฐานของคุณภาพงานก่อสร้างได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้กลุ่มผู้ประกอบการ SME ต้องเร่งบริหารต้นทุน และบริหารเวลาในการก่อสร้าง โดยธนาคารได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบโครงสร้างพรีแฟบ จัดทำแบบพร้อมรายละเอียดของชิ้นส่วนงานก่อสร้างในระบบพรีแฟบ มอบให้กับผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าธนาคารนำไปประยุกต์ใช้ พร้อมสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ เพื่อให้ลูกค้าได้ลงทุนพัฒนาระบบพรีแฟบเพื่อใช้งานเอง นายศราวุธ จารุจินดา ประธานสายสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (Mr. Sarawut Charuchinda, Head of Commercial Lending of Kiatnakin Bank Plc.) เปิดเผยว่า “ปัญหาขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง ยังเป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์เองมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 1-2 ปีทีผ่านมา ประกอบกับการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐทำให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานทวีความรุนแรงขึ้น ในส่วนของธนาคารเกียรตินาคิน ในฐานะที่เป็นสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ SME เป็นหลัก ได้ทำความเข้าใจกับลูกค้าและร่วมกันหาทางออกเพื่อให้ลูกค้าแข่งขันได้ และเล็งเห็นว่าการใช้ระบบ พรีแฟบหรือระบบการก่อสร้างกึ่งสำเร็จรูปเข้ามาประยุกต์ใช้นั้น เป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้ ซึ่งจากผลการศึกษาวิจัยของทีมที่ปรึกษาโครงการ สายสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคินในหัวข้อ “Prefabrication Project” พบว่าระบบพรีแฟบได้รับความสนใจจากธุรกิจการก่อสร้างในเมืองไทยอย่างมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยพบว่าปี 2552-2554 การก่อสร้างด้วยระบบ พรีแฟบนี้ มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ 50% (ในกลุ่มบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์) โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่ (ส่วนใหญ่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) ที่นำระบบนี้มาใช้งาน ในส่วนของผู้ประกอบการ SME ที่พบคือ กลุ่มลูกค้าระดับกลางหลายราย ได้เริ่มหันมาใช้ระบบพรีแฟบบ้างแล้ว โดยข้อดีของการใช้ระบบพรีแฟบ คือ ช่วยในเรื่องของการประหยัดแรงงานและวัสดุก่อสร้าง ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างน้อย ได้คุณภาพที่สม่ำเสมอ แต่มีข้อจำกัดคือในระยะเริ่มต้น ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนสูงและต้องมีบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะด้านเข้าร่วมพัฒนาด้วย” ทั้งนี้ ธนาคารได้มุ่งเน้นศึกษาข้อมูลในการก่อสร้างระบบพรีแฟบในส่วนของบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์เป็นหลัก ซึ่งพบว่าในกลุ่มบ้านเดี่ยวจะนิยมก่อสร้างด้วยระบบพรีแฟบในกลุ่มราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ส่วนของทาวน์เฮาส์ จะก่อสร้างในทุกระดับราคา ธนาคารได้กำหนด case study ในการศึกษาซึ่งเป็นแปลนที่นิยมสร้างกันในหมู่บ้านจัดสรรทั่วไป คือทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น หน้ากว้าง 6 เมตร จำนวนยูนิตขายทั้งหมด 200 ยูนิต ราคาขายตั้งไว้ยูนิตละ 1.95 ล้านบาท โดยพบว่าหากก่อสร้างด้วยระบบพรีแฟบจะใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 22 เดือน ใช้แรงงานสูงสุด ณ ขณะใดขณะหนึ่ง 45 คน ใช้เงินทุนหมุนเวียนมากสุดที่ 71.5 ล้านบาท มีผลกำไรเฉลี่ยต่อปีประมาณ 70 ล้านบาท หากจบโครงการจะมีกำไรประมาณ 140 ล้านบาท ในขณะเดียวกันหากก่อสร้างแบบปกติ แล้วเร่งงานก่อสร้างให้จบภายใน 22 เดือนเช่นกัน จะพบว่าการเร่งงานนี้จะมีผลตอบแทนที่ไม่แตกต่างมาก แต่ต้องใช้แรงงานมากสุด ณ ขณะใดขณะหนึ่งถึง 150 คน มากกว่า พรีแฟบถึง 3 เท่า และเงินทุนหมุนเวียนมากสุดที่ 134.5 ล้านบาท มากกว่าเกือบ 2 เท่า อย่างไรก็ตาม พบว่าในอนาคต ระบบการก่อสร้างสำเร็จรูปหรือพรีแฟบนี้ จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยระบบแผ่นหรือระบบ Panel เป็นระบบที่น่าสนใจมากที่สุด สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ SME นั้น หากพิจารณาในส่วนของการลงทุนระบบพรีแฟบไม่ว่าจะลงทุนผลิตเองหรือจ้างผลิตนั้นสามารถพิจารณาตามความเหมาะสมและข้อจำกัดของตนเอง กรณีจ้างผลิต โดยส่วนใหญ่จะมีเงื่อนไขในการทำสัญญาว่าจ้างผลิตชิ้นงานกับโรงงาน คือ ต้องมีปริมาณการผลิตขั้นต่ำอย่างน้อย 100 ยูนิต มีเงินมัดจำหลังทำสัญญา 30% มีอัตราการส่งชิ้นงานที่สม่ำเสมอ ซึ่งทางผู้ผลิตจะใช้เวลาในการเตรียมการ เช่น ผลิตโมล์ทเพื่อหล่อแบบชิ้นงานต่างๆ วางแผนการผลิตและขนส่งให้สอดคล้องกับ แผนงานก่อสร้างของโครงการ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการเตรียมการอยู่ประมาณ 45 วัน ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการตั้งโรงงานและผลิตชิ้นส่วนเองนั้น ในขั้นตอนนี้จะมีค่าใช้จ่าย 2 ส่วน คือค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างที่ปรึกษา ต่อมาคือค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างลานผลิต จากที่เราศึกษามาค่าใช้จ่ายขั้นต่ำในการก่อสร้างลานผลิตประมาณ 7 ล้านบาท จะเป็นลานผลิตขนาดเล็ก โดยราคานี้ไม่รวม ค่าที่ดิน ค่าถมดิน ไฟฟ้า 3 เฟส ประปา ในการก่อสร้างลานผลิตนี้จะใช้เวลาประมาณ 90 วัน หรือมากกว่าขึ้นอยู่กับการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “จากการศึกษาข้างต้น ธนาคารได้มีการนำเสนอโมเดลเพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าได้นำไปใช้งาน โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับขนาดธุรกิจของผู้ประกอบการระดับ SME เพื่อช่วยลูกค้าหาทางออกงานก่อสร้างยุควิกฤตแรงงานในปัจจุบัน ทั้งนี้ ลูกค้าจะได้รับข้อมูลในเชิงลึกและข้อมูลทางเทคนิคของระบบพรีแฟบเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการก่อสร้าง รวมถึงรายละเอียดของชิ้นส่วนงานก่อสร้างพร้อมรายการ Bill of Quantity (BOQ) ของรูปแบบบ้านที่ได้รับความนิยมในตลาด ซึ่งธนาคารจะมอบให้กับผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของธนาคารนำไปใช้งานได้ทันที และต่อจากนี้ ธนาคารจะนำระบบก่อสร้าง พรีแฟบบรรจุเข้าในระบบ Supplier Program ซึ่งเป็นระบบที่ธนาคารพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยสนับสนุนลูกค้าในลักษณะของการว่าจ้างผู้รับเหมาในการผลิตร่วมกันของผู้ประกอบการที่มีจำนวนการผลิตไม่มากพอ โดยมีธนาคารเป็นศูนย์กลางในการประสานงานระหว่างลูกค้าและผู้รับจ้างผลิต นอกจากนี้ธนาคารยังได้จัดให้บริการสินเชื่อเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการที่มความประสงค์จะตั้งโรงงานและผลิตชิ้นส่วนก่อสร้างในระบบพรีแฟบเองอีกด้วย” นายศราวุธ กล่าวในตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ