ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่ “บ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร” ที่ระดับ “A+/Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 24, 2008 11:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 6,000 ล้านบาทของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” ในขณะเดียวกันยังประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม การมีสินค้าและตลาดรองรับที่หลากหลาย การลงทุนในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนพัฒนาการของผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน อย่างไรก็ตาม การให้อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทที่ค่อนข้างต่ำ ต้นทุนวัตถุดิบธัญพืชและพลังงานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนความคาดหมายว่าบริษัทจะรักษาสถานภาพทางการตลาดในธุรกิจเกษตรอาหารที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเอาไว้ได้ ทั้งนี้ การตัดสินใจนำตราสัญลักษณ์ “CP” มาใช้กับผลิตภัณฑ์อาหารของบริษัทมีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์และน่าจะช่วยลดความผันผวนของราคาสินค้าพื้นฐานลงได้บางส่วน นอกจากนี้ การมีสินค้าที่หลากหลายและมีการจัดจำหน่ายในหลายๆ ประเทศ ประกอบกับการมีธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งทำให้ได้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดน่าจะช่วยกระจายความเสี่ยงของธุรกิจและช่วยให้บริษัทมีผลกำไรที่สม่ำเสมอยิ่งขึ้นในระยะปานกลาง
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งธุรกิจดังกล่าวถือเป็นธุรกิจหลักของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในประเทศไทยด้วย โดย ณ เดือนเมษายน 2551 บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และบริษัทในเครือถือหุ้นในบริษัท 40% ธุรกิจของบริษัทแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักคือ กลุ่มธุรกิจสัตว์บก และกลุ่มธุรกิจสัตว์น้ำ คิดเป็นสัดส่วน 70% และ 30% ของยอดขายรวมตามลำดับ โดยในแต่ละกลุ่มธุรกิจจะครอบคลุมสินค้าตั้งแต่อาหารสัตว์ พันธุ์สัตว์ สัตว์มีชีวิต เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน การดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรส่งผลให้สินค้าของบริษัทได้มาตรฐานสากลในด้านความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับซึ่งสามารถส่งออกไปยังประเทศผู้นำเข้าหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และเพื่อสร้างเสถียรภาพของกระแสเงินสด บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานเพื่อจำหน่ายทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออกภายใต้ตราสัญลักษณ์ “CP” โดยรายได้จากผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานคิดเป็น 6% ของยอดขายรวมในปี 2550 และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 นอกเหนือจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายแล้ว บริษัทยังได้เริ่มลงทุนในประเทศใหม่ๆ หลายแห่ง โดยกิจการในต่างประเทศล่าสุดที่ประเทศรัสเซียคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในช่วงปลายปี 2551 สัดส่วนรายได้จากธุรกิจในต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 8% ของยอดขายรวมในปี 2546 เป็น 16% ของยอดขายรวมในปี 2550
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ในปี 2550 ผลการดำเนินงานจากกิจการในประเทศไทยของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารได้รับผลกระทบด้านลบจากราคาสินค้าหลักที่ปรับลดลงค่อนข้างมาก รวมทั้งจากต้นทุนวัตถุดิบธัญพืชและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น และการแข็งค่าของเงินบาท ผลการดำเนินงานที่ถดถอยของกิจการในประเทศไทยได้รับการชดเชยบางส่วนจากกิจการในต่างประเทศที่มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้บริษัทยังคงมีกำไรสุทธิรวม 1,275 ล้านบาทในปี 2550 และมีการปรับตัวดีขึ้นมากในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2551 จากการฟื้นตัวของราคาสินค้าปศุสัตว์ภายในประเทศโดยเฉพาะไก่เนื้อและสุกร ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 451 ล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับผลขาดทุนสุทธิ 1,135 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2550 ทั้งนี้ ราคาผลิตภัณฑ์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพ และการควบคุมต้นทุนที่ดียิ่งขึ้นน่าจะมีส่วนช่วยลดความกดดันในการทำกำไรของบริษัทได้บางส่วนจากปัญหาการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบธัญพืชและน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับช่วงที่เหลือของปี 2551
ฐานะการเงินของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารยังคงแข็งแกร่ง โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 48.51% ในปี 2549 เป็น 50.04% ในปี 2550 และเป็น 50.70% ในเดือนมีนาคม 2551 และเพื่อเป็นการลดผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทต่อเงินดอลลาร์สหรัฐ บริษัทได้ทำสัญญาขายสินค้าเป็นสกุลเงินปอนด์สเตอร์ลิงและเงินยูโรประมาณ 30%-40% ของยอดขายส่งออกของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทมียอดขายจากการส่งออก 18% และ 16% ของยอดขายรวมในปี 2550 และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น การที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น รวมทั้งความผันผวนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น และมาตรการด้านการค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลายังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ