ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิต “บ. การบินไทย” เป็นระดับ “A” จาก “A+”

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 23, 2009 14:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศปรับลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็น “A” จากเดิมที่ระดับ “A+” พร้อมแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตที่ลดลงสะท้อนถึงฐานะทางการเงินที่อ่อนแอลงกว่าที่ประมาณการไว้ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2551 ตลอดจนราคาน้ำมันที่ผันผวนอย่างมาก และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ขณะเดียวกัน อันดับเครดิตดังกล่าวยังคงสะท้อนถึงการที่บริษัทได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่และมีสถานภาพเป็นสายการบินแห่งชาติด้วย โดยปัจจุบันบริษัทมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 51.0% และที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้การสนับสนุนแก่บริษัทในด้านต่างๆ เช่น การกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อให้บริษัทกู้ต่อโดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ยเพิ่ม และการออกเอกสารรับรอง (Letter of Comfort) ให้แก่เจ้าหนี้เงินกู้ต่างประเทศในกรณีที่บริษัททำสัญญาเช่าซื้อเครื่องบิน เป็นต้น และล่าสุดกระทรวงการคลังยังได้ริเริ่มจัดตั้งวงเงินกู้ระยะสั้นจำนวน 200,000 ล้านบาทเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่รัฐวิสาหกิจที่ต้องการเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องในภาวะที่ตลาดการเงินไม่เอื้ออำนวยด้วย ซึ่งทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะได้รับประโยชน์จากวงเงินช่วยเหลือดังกล่าว แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าการบินไทยจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการแก้ปัญหาสภาพคล่อง โดยวงเงินกู้ระยะสั้นจำนวน 200,000 ล้านบาทที่กระทรวงการคลังจัดสรรไว้เพื่อช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งความช่วยเหลือจากรัฐบาลในการหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมจะช่วยลดปัญหาสภาพคล่องของบริษัทลงได้ นอกจากนี้ แนวโน้มดังกล่าวยังสะท้อนถึงความคาดหวังว่าผลประกอบการของบริษัทน่าจะสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงต้นปี 2553 ทริสเรทติ้งรายงานว่า ผลการดำเนินงานของการบินไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 และแม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงอย่างมากในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 แต่บริษัทก็ยังมีต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูง เนื่องจากบริษัทได้ทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันไว้ประมาณ 42% ของน้ำมันที่ใช้ในช่วงไตรมาสดังกล่าวในระดับราคาที่ค่อนข้างสูง ในขณะเดียวกัน วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจนทำให้มีการประกาศ พรก. ฉุกเฉินในเดือนกันยายน 2551 และการยึดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองนานถึง 8 วันในช่วงปลายปี 2551 ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารลดต่ำลงมาก ทำให้รายได้ของบริษัทในไตรมาสที่ 4 ซึ่งปกติจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของบริษัทนั้น ต่ำกว่าประมาณการอย่างมาก รวมทั้งการที่บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานค่อนข้างสูงและต้องจ่ายเงินล่วงหน้าค่าเครื่องบินจำนวนถึง 3,108 ล้านบาทในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 จึงทำให้สภาพคล่องของบริษัทลดลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ความต้องการซื้อขายเครื่องบินในตลาดรองที่ลดลงอย่างมากก็ส่งผลกระทบทำให้บริษัทไม่สามารถจำหน่ายเครื่องบิน A340-500 จำนวน 4 ลำซึ่งใช้ในเส้นทางบินกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก ได้ตามแผน ทำให้ภาระหนี้ของบริษัทไม่สามารถปรับลดลงได้ ประกอบกับความต้องการเครื่องบินในตลาดรองที่ลดลงก็อาจทำให้บริษัทขาดทุนหากจำหน่ายเครื่องบินดังกล่าวออกไป นอกจากนี้ บริษัทยังมีภาระที่จะต้องเช่าซื้อเครื่องบิน A330-300 จำนวน 8 ลำ และเครื่องบิน A380 จำนวน 6 ลำซึ่งจะทยอยส่งมอบในปี 2552-2554 ซึ่งผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวลง ประกอบกับภาระการลงทุนและภาระหนี้ที่ต้องชำระตามกำหนดที่มีค่อนข้างสูงในปี 2552 ทำให้บริษัทต้องขอรับความช่วยจากกระทรวงการคลัง โดยขณะนี้บริษัทกำลังเตรียมแผนเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 บริษัทมีเงินสดคงเหลือประมาณ 7,500 ล้านบาท ซึ่งโดยปกติบริษัทจะต้องมีเงินสดคงเหลือเพื่อใช้ในการดำเนินงานประมาณ 6,000 ล้านบาท ในขณะที่หนี้ระยะสั้นของบริษัทก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 7,500 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 มาอยู่ที่ 17,980 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 นอกจากนี้ บริษัทยังมีหนี้ระยะยาวซึ่งรวมถึงหุ้นกู้และหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อที่ครบกำหนดชำระในปี 2552 ประมาณ 22,774 ล้านบาท และมีภาระลงทุนประมาณ 33,367 ล้านบาท ในขณะที่คาดว่าจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานประมาณ 15,000-20,000 ล้านบาทต่อปี โดยที่บริษัทมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้ใช้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 ประมาณ 3,421 ล้านบาท และได้รับเงินจากการออกหุ้นกู้ให้แก่นักลงทุนสถาบันจำนวน 4,790 ล้านบาทเข้ามาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2552 ดังนั้น บริษัทจึงมีภาระที่จะต้องกู้หนี้ใหม่อีกประมาณ 45,000-55,000 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินที่กู้ใหม่เพื่อนำมาชำระคืนหนี้และใช้ในการลงทุนนี้อาจเปลี่ยนแปลงโดยขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานในปี 2552 ทั้งนี้ แผนการกู้ยืมนี้ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารของบริษัทแล้ว ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2551 ทริสเรทติ้งได้เคยปรับลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของการบินไทยเป็น “A+/Stable” จากระดับเดิมที่ “AA-/Stable” มาก่อนแล้ว บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (THAI) อันดับเครดิตองค์กร: ลดเป็น A จาก A+ อันดับเครดิตตราสารหนี้: THAI09OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 7,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2552 ลดเป็น A จาก A+ THAI10OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 4,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2553 ลดเป็น A จาก A+ THAI104A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,455.29 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2553 ลดเป็น A จาก A+ THAI10NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2553 ลดเป็น A จาก A+ THAI115A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2554 ลดเป็น A จาก A+ THAI11OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 4,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2554 ลดเป็น A จาก A+ THAI11OB: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 987.92 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2554 ลดเป็น A จาก A+ THAI12NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 4,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 ลดเป็น A จาก A+ THAI13OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,556.79 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 ลดเป็น A จาก A+ THAI14OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 ลดเป็น A จาก A+ THAI155A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 ลดเป็น A จาก A+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (ทริสเรทติ้ง) โทรศัพท์ 0 2231 3011 ต่อ 500 โทรสาร 0 2231 3012 E-mail: rapee@tris.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ