PTTAR สนับสนุนงานวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของหอกลั่น และเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์พลอยได้จากกระบวนการกลั่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 21, 2010 10:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น นายชายน้อย เผื่อนโกสุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) (PTTAR) และ ศาสตราจารย์ นพ. ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามสัญญาความร่วมมือด้านการวิจัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของหอกลั่น และ เพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์พลอยได้จากกระบวนการกลั่น เมื่อวัน 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ณ ห้องรับรอง 2 อาคาร จามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่าง PTTAR และ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วยโครงการวิจัย 3 เรื่อง คือ โครงการวิจัยเรื่อง Retrofit of Crude Preheating Train for Crude Distillation Unit เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของหอกลั่น ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน ส่วนโครงการที่ 2 และ 3 เป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์พลอยได้จากกระบวนการกลั่น ประกอบด้วยโครงการ Production of Aromatics from Pentane-containing Naphtha และ โครงการ Methylation of Benzene and Toluene to Mixed Xylenes โดยทั้ง 2 โครงการนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี พร้อมมีการผลิตนิสิตปริญญาโทและเอก จาก 2 โครงการนี้ด้วย นายชายน้อย เผื่อนโกสุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTAR กล่าวว่า PTTAR ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหวังให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้านการผลิต มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับมีการพัฒนา เทคนิคและนวัตกรรมใหม่ ๆ ตลอดเวลา โดยเฉพาะเพื่อการลดมลภาวะให้เหลือน้อยที่สุด การที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เกียรติร่วมงานวิจัยกับ PTTAR ในครั้งนี้ จึงนับเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ PTTAR บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเมื่อการวิจัยทั้ง 2 โครงการ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์พลอยได้จากกระบวนการกลั่น แล้วเสร็จ จะทำให้ประเทศไทยมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ถือเป็นลิขสิทธิ์ของประเทศเกิดขึ้น ดังนั้น โรงงานของ PTTAR จึงเปรียบเสมือนเป็นห้องทดลองวิทยาศาสตร์ห้องใหญ่ให้กับนักวิจัย ศาสตราจารย์ นพ. ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการเป็นเสาหลักของแผ่นดิน (Pillar of the Kingdom) จึงเป็นที่คาดหวังของสังคมในการเป็นที่พึ่ง หรือเพื่อนคู่คิดในเหตุการณ์ต่างๆ จากอดีตที่มีการพูดว่างานวิจัยในมหาวิทยาลัยเป็น งานที่ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ หรืองานวิจัยขึ้นหิ้ง แต่ในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้มีการปรับยุทธศาสตร์ต่างๆ เพื่อให้งานวิจัยในมหาวิทยาลัยเข้าสู่ภาคปฏิบัติมากขึ้น หนึ่งในยุทธศาสตร์ดังกล่าว คือ การสนับสนุนให้หน่วยงานในมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น พิธีลงนามสัญญาความร่วมมือระหว่าง PTTAR และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของ PTTAR ที่เล็งเห็นความสำคัญของงานวิจัยต่อการพัฒนาบุคลากรในสาขาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีของประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มุ่งสนับสนุนให้หน่วยงานในมหาวิทยาลัยดำเนินการวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการควบคู่ไปกับการปฏิบัติจริงของภาคอุตสาหกรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ