ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับการบริหารจัดการลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน
1. ความสำคัญและความเป็นมา
ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านเป็นลุ่มน้ำที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งเป็นประจำ ซึ่งทรัพยากรน้ำของทั้งสองลุ่มน้ำได้มีส่วนสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิตและกิจกรรมการผลิตในภาคกลาง ซึ่งที่ผ่านมาการแก้ปัญหาของทั้งสองลุ่มน้ำไม่ได้ดำเนินการแก้ไขอย่างถูกต้องจริงจัง จึงทำให้เกิดปัญหากับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของทั้งสองลุ่มน้ำอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น เพื่อเสนอแนะนโยบายการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างบูรณาการ คณะทำงานศึกษาปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำในแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านและคณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและพลังงาน สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงทำการศึกษาปัญหาด้วยการทบทวนวรรณกรรมผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จัดเชิญนักวิชาการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาให้ข้อมูลและการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นจากประชาชนผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์
2. วิสัยทัศน์และเป้าหมายการบริหารจัดการลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน
“ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน มีการบริหารจัดการแหล่งน้ำแบบยั่งยืน ป่าไม้สมบูรณ์ มีน้ำสมบูรณ์เพียงพอ เพื่อการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม อุปโภคบริโภค และการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน”
3. วัตถุประสงค์การศึกษา
1. เพื่อเสนอแนะวิธีแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งของลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านต่อคณะรัฐมนตรี
2. เพื่อเสนอแนะวิธีแก้ปัญหาการการชะล้างพังทลายในพื้นที่ลาดชันและดินริมตลิ่ง การตกตะกอนในแหล่งเก็บกักน้ำ การทำลายป่าไม้ ของลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านต่อคณะรัฐมนตรี
4. สภาพปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน
พื้นที่ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน มีสภาพปัญหาจากการศึกษา 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
1. ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรช่วงฤดูแล้งและมีน้ำหลากท่วมช่วงฤดูฝน เนื่องจากลุ่มน้ำยมมีปริมาตรฝนเฉลี่ย 1,160 มิลลิเมตร คิดเป็นปริมาตรน้ำเฉลี่ยต่อปีประมาณ 27,350 ล้าน ลบ.ม.และจะเปลี่ยนเป็นปริมาณน้ำท่าในลำน้ำยมปีละประมาณ 3,660 ล้าน ลบ.ม. แต่เนื่องจากไม่มีอ่างเก็บน้ำอย่างเพียงพอ จึงเป็นเหตุให้น้ำท่วมซ้ำซากในฤดูฝนและฤดูแล้งเกิดน้ำแล้งซ้ำซากตลอดแนวแม่น้ำ ตั้งแต่จังหวัดแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์และลุ่มน้ำน่าน มีปริมาตรฝนเฉลี่ย 1,270 มิลลิเมตร คิดเป็นปริมาตรน้ำเฉลี่ยต่อปีประมาณ 43,690 ล้าน ลบ.ม. และจะเปลี่ยนเป็นปริมาณน้ำท่าของลุ่มน้ำน่านทั้งหมดปีละประมาณ 12,015 ล้าน ลบ.ม. โดยมีเขื่อนสิริกิตติ์ เก็บกักน้ำได้ประมาณ 9,510 ล้าน ลบ.ม.ในขณะที่ท้ายเขื่อนตั้งแต่จังหวัดอุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ และนครสวรรค์ ยังมีพื้นที่รับน้ำฝนของทั้งลุ่มน้ำน่านตอนล่าง อีกประมาณ 21,245 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นปริมาตรจากน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 27,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นปริมาณน้ำท่าไหลลงทางตอนล่างของลุ่มน้ำน่านปีละประมาณ 6,600 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังไม่มีการเก็บกักน้ำตามลำน้ำสาขาของแม่น้ำน่าน จึงมีปริมาณน้ำของลำน้ำยม-น่านไหลลงท้ายลุ่มน้ำทั้งสองประมาณ 10,000 ล้าน ลบ.ม.
2. การบุกรุกทำลายป่าไม้ การชะล้างพังทะลายของพื้นที่ลาดชันและดินริมตลิ่ง และการตกตะกอนในแหล่งเก็บกักน้ำ
3. การขาดน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคและน้ำมีการปนเปื้อนสารเคมี
5. ข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
รัฐควรกำหนดเรื่องลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อระดมทรัพยากรในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการและยั่งยืน เพื่อให้ป่าไม้สมบูรณ์ มีน้ำเพียงพอสำหรับการเกษตรกรรม
อุตสาหกรรม และอุปโภคบริโภค โดยมีข้อเสนอแนะที่จะบรรเทาปัญหาได้ ดังต่อไปนี้
1. การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง รัฐควรดำเนินการ ดังนี้
1.1 จัดทำแผนการใช้น้ำระดับพื้นที่เพื่อการเกษตร โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของ
ประชาชนเพื่อลดการสูญเสียน้ำ
1.2 พัฒนาให้มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กกระจายในพื้นที่ทุกหมู่บ้าน ชุมชน และแหล่งเก็บกักน้ำตามจุดรวมลำห้วยสาขาให้กระจายทั่วพื้นที่อย่างเหมาะสม โดยต้องมีคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำกับอ่างขนาดกลาง เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและเป็นการป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน
1.3 ขุดลอกแหล่งเก็บน้ำเดิม เพื่อลดการตื้นเขินในลำน้ำธรรมชาติ
1.4 จัดให้มีระเบียบข้อบังคับและกฎหมายในการควบคุมและดูแลจัดการแหล่งน้ำ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
1.5 การพัฒนาระบบชลประทานและคู คลองให้ทั่วถึง
1.6 พัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำยมให้เต็มศักยภาพ เพื่อให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอ เช่นเดียวกับลุ่มน้ำน่าน
2. การแก้ปัญหามีน้ำหลากท่วมในช่วงฤดูฝน
รัฐต้องเร่งศึกษาวางระบบคูคลองให้เป็นโครงข่าย โดยให้ขุดคลองซอยย่อยของลุ่มน้ำยมและน่านเพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและมีประตูระบายน้ำเข้าในฤดูฝน และระบายน้ำออกในฤดูแล้ง รวมทั้งมีเครื่องมือสูบน้ำเข้าในฤดูฝน และสูบน้ำออกในฤดูแล้ง และดำเนินการเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
2.1 สร้างผนังกั้นน้ำเสริมคันคลองที่ต่ำและสร้างประตูระบายน้ำ โดยเร่งดำเนินการ
ในพื้นที่แหล่งชุมชนหนาแน่นที่เกิดน้ำท่วมหลากเป็นประจำโดยไม่เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์เดิม และ ควรออกแบบให้แนวกั้นน้ำมีความสวยงามกลมกลืนกับทัศนียภาพริมตลิ่ง
2.2 ศึกษารายละเอียดในพื้นที่น้ำท่วมขังเป็นประจำ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาระบบ
ระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะถนนที่สร้างกีดขวางทางน้ำไหลให้ปรับปรุงออกแบบมีสะพานเป็นช่วงๆ เพื่อขยายเส้นทางการไหลของน้ำ
2.3 ขุดลอกลำน้ำที่ตื้นเขินและพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ ด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำให้
เหมาะสมกับพื้นที่เป็นระยะตลอดลุ่มน้ำสาขา
2.4 ปรับปรุงหนองน้ำธรรมชาติตามสถานที่สาธารณะต่างๆ ให้เป็นแก้มลิง เพื่อรองรับน้ำช่วงฤดูฝน รวมทั้งเร่งแก้ปัญหาการบุกรุกแหล่งเก็บน้ำธรรมชาติในพื้นที่สาธารณะ เช่น บริเวณบึงบอระเพ็ด เป็นต้น
2.5 จัดวางระบบการระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขังทั้งการสูบน้ำและผันน้ำระหว่างแหล่งน้ำ
2.6 จัดวางระบบเตือนภัยและการอพยพให้ความช่วยเหลือในพื้นที่น้ำท่วมเป็นประจำ
2.7 ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนในโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนสูง อย่างเร่งด่วน เช่น โครงการทะเลหลวง จังหวัดสุโขทัย และโครงการห้วยสัก จังหวัดแพร่ เป็นต้น
3. การแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าไม้ การชะล้างพังทะลายของพื้นที่ลาดชันและดินริมตลิ่งและการตกตะกอนในแหล่งเก็บน้ำ รัฐควรดำเนินการดังนี้
3.1 รัฐควรศึกษาการออกกฎหมายให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้ใช้ประโยชน์ที่ดิน ต้องปลูกไม้ยืนต้นที่รักษาสภาพแวดล้อมอย่างน้อย ร้อยละ 10 ของพื้นที่ที่ประชาชนครอบครองหรือทำประโยชน์อยู่ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า โดยรัฐให้การสนับสนุนตามความจำเป็น
3.2 เร่งฟื้นฟูและขยายพื้นที่ป่าไม้ทดแทนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และออกกฎหมายห้ามใช้ประโยชน์จากป่าเสื่อมโทรมเพื่อกิจกรรมใด ๆ ให้อนุรักษ์ไว้เพื่อป่าจะได้คืนกับสู่สภาพด้วยระบบธรรมชาติ และกำหนดแนวเขตป่าไม้ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการบุกรุก
3.3 จัดให้มีมาตรการป้องกันการพังทลายของดินด้วยการก่อสร้างและวิธีธรรมชาติอย่างเหมาะสม เช่น ลดการไถพรวนดินบริเวณพื้นที่ลาดเอียงสูง ปลูกหญ้าแฝกตามแนวพระราชดำริและศึกษาชนิดพันธุ์ต้นไม้ที่สามารถป้องกันพังทลายของดินให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เป็นต้น
3.4 ปรับปรุงแหล่งเก็บน้ำเดิมของชุมชนและหมู่บ้าน ให้ลดการตื้นเขิน เพื่อเพิ่มศักยภาพของแหล่งกักเก็บน้ำ
3.5 ให้ความรู้ ความเข้าใจ กับกลุ่มและองค์กรในท้องถิ่น ในการเฝ้าระวังและบริหาร
จัดการน้ำระดับพื้นที่ รวมทั้ง การสร้างจิตสำนึกให้เห็นความสำคัญของการจัดการแหล่งน้ำระดับลุ่มน้ำ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและเสียสละของประชาชนทุกพื้นที่ที่ลุ่มน้ำไหลผ่าน
3.6 กำหนดแนวทางให้คนอยู่กับป่าในพื้นที่อย่างเหมาะสม
3.7 ฟื้นฟูอนุรักษ์แหล่งน้ำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
3.8 จัดให้มีคณะกรรมการร่วมระหว่างประชาชนต้นน้ำและท้ายน้ำ เพื่อบริหารจัดการลุ่มน้ำ
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9