เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 5)

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday March 14, 2006 10:08 —ประกาศ ก.ล.ต.

                              ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สน. 6/2549
เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล
(ฉบับที่ 5)
________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 141(2) โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งตามมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 45 มาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับข้อ 16 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. และข้อ 4(2) ข้อ 18(6) และข้อ 19 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 14 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 14 ในการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติดังต่อไปนี้ด้วย
(1) ข้อกำหนดหรือเงื่อนไขการซื้อหน่วยลงทุนขั้นต่ำของผู้ลงทุนแต่ละราย ต้องไม่กำหนด
ไว้สูงกว่าห้าหมื่นบาท
(2) ไม่จัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดเกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด เว้นแต่เป็นกรณีดังต่อไปนี้
(ก) เป็นการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ หรือ
(ข) บุคคลที่ได้รับการจัดสรรหน่วยลงทุนเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยง
ชีพ กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป หรือบุคคลอื่นใดที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงานเมื่อมีเหตุจำเป็นและสมควร
(3) กำหนดระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกไม่ต่ำกว่าเจ็ดวัน
(4) ประชาสัมพันธ์การขายหน่วยลงทุนอย่างกว้างขวางเพื่อให้มีการกระจายข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหน่วยลงทุนต่อประชาชนอย่างแพร่หลาย
(5) จัดให้มีระบบในการจัดสรรหน่วยลงทุนที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้ซื้อหน่วยลงทุน
(6) การกำหนดเงื่อนไขหรือข้อสงวนสิทธิในการจำหน่ายหน่วยลงทุน ต้องไม่มีลักษณะเป็นการจำกัดกลุ่มผู้ลงทุนอันทำให้ไม่มีการกระจายการจำหน่ายหน่วยลงทุนอย่างเพียงพอ
ในกรณีที่มีบุคคลใดซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่เสนอขายหน่วยลงทุนแก่ผู้ลงทุนในวงกว้างทั้งหมดเพื่อขายต่อ หรือเป็นการซื้อขายหน่วยลงทุนในบัญชีบริษัทหลักทรัพย์แบบไม่เปิดเผยชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน (omnibus account) บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้มีข้อกำหนดให้บุคคลนั้น
ปฏิบัติให้เป็นไปตาม (1) (2) (3) (4) และ (5) ด้วยโดยอนุโลม”
ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 14/1 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547
“ข้อ 14/1 เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาความเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันตามประกาศนี้ ให้ถือว่าบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันดังต่อไปนี้เป็นกลุ่มบุคคลเดียวกัน
(1) บิดา มารดาและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
(2) คู่สมรส
(3) นิติบุคคล และผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนของนิติบุคคลนั้นซึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในนิติบุคคลดังกล่าวเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดหรือความเป็นหุ้นส่วนทั้งหมด แล้วแต่กรณี
(4) นิติบุคคล และนิติบุคคลอื่นซึ่งนิติบุคคลเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในนิติบุคคลอื่นนั้นเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของนิติบุคคลอื่นนั้นหรือความเป็นหุ้นส่วนทั้งหมดของนิติบุคคลอื่นนั้น แล้วแต่กรณี
(5) กองทุนส่วนบุคคลของบุคคลตาม (1)(2)(3) หรือ (4)”
ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (4) ในวรรคหนึ่งของข้อ 20 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547
“(4) ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป มีการจัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดเกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด เว้นแต่เป็นกรณีที่เข้าข้อยกเว้นตามข้อ 14(2)
ข้อ 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 21/1 ข้อ 21/2 ข้อ 21/3 และข้อ 21/4 ในส่วนที่ 7 การสิ้นสุดลงของการอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวม ของหมวด 1 หลักเกณฑ์ทั่วไป แห่งภาค 1 การจัดตั้งกองทุนรวมและการขายหน่วยลงทุน แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547
“ข้อ 21/1 สำนักงานอาจเพิกถอนการอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป หากปรากฏว่าบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมใดกองทุนรวมหนึ่งเกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวมนั้น เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันนั้นถือหน่วยลงทุนเกินหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด โดยมิได้เกิดจากการลงทุนหรือได้มาเพิ่มเติม
(2) เป็นการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมวายุภักษ์
(3) เป็นการถือหน่วยลงทุนโดยบุคคลตามข้อ 14(2)(ข)
ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมรายงานต่อสำนักงานภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่บริษัทรู้หรือควรรู้ถึงเหตุตาม (1)
ข้อ 21/2 ในกรณีที่ปรากฏพฤติการณ์ว่าบริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการใด ๆ หรือบุคคลใดถือหน่วยลงทุนโดยรู้เห็นหรือตกลงกับบุคคลอื่น อันเป็นการปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงในการถือหน่วยลงทุนของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดที่ประสงค์จะถือหน่วยลงทุน
เกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป สำนักงานอาจเพิกถอนการอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมนั้น
ข้อ 21/3 ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจมีการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปเพื่อการแสวงหาประโยชน์จากการลงทุนของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเป็นการเฉพาะ หรือเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพย์สินหรือธุรกิจของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด สำนักงานจะดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) แจ้งให้บริษัทจัดการกองทุนรวมหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทำการชี้แจง แสดงเหตุผล ข้อเท็จจริง และหลักฐานภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด
(2) ในกรณีที่ไม่มีการชี้แจงตาม (1) หรือชี้แจงแล้วแต่ไม่อาจพิสูจน์หรือทำให้เชื่อได้ว่าการจัดตั้งกองทุนรวมดังกล่าวเป็นการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปอย่างแท้จริง สำนักงานจะสั่งให้บริษัทจัดการกองทุนรวมทำการแก้ไข หรือดำเนินการใด ๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นนั้นเป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปอย่างแท้จริง
(3) ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่สามารถดำเนินการตามที่สำนักงานสั่งตาม (2) หรือดำเนินการแล้วแต่ไม่สามารถทำให้กองทุนรวมนั้นเป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปอย่างแท้จริง สำนักงานจะเพิกถอนการอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมนั้น
ข้อ 21/4 เมื่อมีการเพิกถอนการอนุมัติตามข้อ 21/1 ข้อ 21/2 หรือข้อ 21/3 หากได้มีการเสนอขายหน่วยลงทุนแล้ว แต่ยังมิได้มีการจดทะเบียนกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมคืนเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนและผลประโยชน์ใด ๆ ให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุน โดยให้นำความใน
วรรคสองของข้อ 20 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่หากมีการจดทะเบียนกองทุนรวมแล้ว ให้บริษัทดำเนินการให้มีการเลิกกองทุนรวมทันที”
ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในข้อ 42/5 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 20/2548 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 42/5 มิให้นำความในข้อกำหนดดังต่อไปนี้ มาใช้บังคับกับกองทุนรวมอีทีเอฟ
(1) ข้อ 14(1) และข้อ 20(1)
(2) ข้อ 14(2) ข้อ 20(4) และข้อ 21/1 ทั้งนี้ เฉพาะก่อนและในวันที่เริ่มซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟในตลาดรอง เว้นแต่ในกรณีของกองทุนรวมอีทีเอฟที่ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาคตามโครงการจัดตั้งกองทุนพันธบัตรเอเชียระยะที่สอง (Asian Bond Fund 2) ตามมติของที่ประชุมกลุ่มธนาคารกลางสมาชิก Executives’ Meeting of East Asia and Pacific Central Banks (EMEAP) มิให้นำมาใช้บังคับไม่ว่าในช่วงเวลาใด”
ข้อ 6 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2549
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป(retail fund) เพื่อเป็นเครื่อง
มือในการแสวงหาประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันเพียงรายใดรายหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่กอง
ทุนรวมและผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าวได้รับดังนั้น เพื่อให้การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป (retail fund) เป็น
กองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนรายย่อยอย่างแท้จริง โดยบริษัทจัดการกองทุนรวมสามารถใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้มีวิชาชีพในการ
จัดการลงทุนเพื่อประโยชน์โดยรวมของผู้ลงทุนรายย่อยเหล่านั้น จึงจำเป็นต้องออกประกาศฉบับนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ