หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน(ฉบับที่ 2)

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday March 14, 2006 12:48 —ประกาศ ก.ล.ต.

                      ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สข/น. 7/2549
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน
(ฉบับที่ 2)
____________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 118(1) และ มาตรา 141(2) โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งตามมาตรา 29 ประกอบมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 45 มาตรา 48 และมาตรา 50 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับข้อ 16 โดยได้รับความ
เห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ข้อ 18(2) และ (6) และข้อ 19 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นส่วนที่ 1/1 การถือหน่วยลงทุนเกินกว่าหนึ่งในสาม ของหมวด 1 หลักเกณฑ์ทั่วไป แห่งภาค 2 การจัดการกองทุนรวม ข้อ 11/1 ข้อ 11/2 ข้อ 11/3 ข้อ 11/4 ข้อ 11/5 ข้อ 11/6 และข้อ 11/7 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 1/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
“ส่วนที่ 1/1
การถือหน่วยลงทุนเกินกว่าหนึ่งในสาม
ข้อ 11/1 ความในส่วนนี้ให้ใช้บังคับเฉพาะกับกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป (retail fund) แต่ไม่รวมถึงกองทุนรวมวายุภักษ์
ข้อ 11/2 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมตรวจสอบหรือดำเนินการให้มีการตรวจสอบว่ามีบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมใดเกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด หากปรากฏว่าบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดถือหน่วยลงทุนเกินกว่าอัตราดังกล่าวไม่ว่าจากการที่บริษัทตรวจสอบหรือดำเนินการให้มีการตรวจสอบหรือได้รับการแจ้งจากบริษัทหลักทรัพย์ตามข้อ 11/3 ให้บริษัทปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) รายงานต่อสำนักงานภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมรู้หรือควรรู้ถึงเหตุดังกล่าว เว้นแต่เป็นกรณีที่เข้าข้อยกเว้นตามข้อ 14(2) แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล
(2) ในการขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนในเรื่องใด ๆ บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องไม่นับคะแนนเสียงของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันนั้นในส่วนที่เกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด รวมในจำนวนเสียงในการขอมติ
(3) ดำเนินการแก้ไขสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันนั้นให้มีจำนวนไม่เกินหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวมนั้นภายในสองเดือนนับแต่วันที่ปรากฏกรณีดังกล่าว หรือดำเนินการเลิกกองทุนรวมนั้นทันที เว้นแต่เข้าข้อยกเว้นตามข้อ14(2) และข้อ 21/1(1) แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ
ตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล
ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมระบุกรณีตาม (2) และ (3)ไว้อย่างชัดเจนในโครงการ
ข้อ 11/3 ในกรณีที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดถือหน่วยลงทุนในบัญชีบริษัทหลักทรัพย์แบบไม่เปิดเผยชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน (omnibus account) บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้มีข้อกำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นเจ้าของบัญชีดังกล่าวปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) ตรวจสอบหรือดำเนินการให้มีการตรวจสอบว่ามีบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดในบัญชีดังกล่าวถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมใดเกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
(2) แจ้งให้บริษัทจัดการกองทุนรวมทราบโดยพลันเมื่อปรากฏว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดในบัญชีนั้นถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมใดเกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
(3) ไม่นับคะแนนเสียงของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันนั้นในส่วนที่เกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวมใด รวมในจำนวนเสียงในการขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนในบัญชีดังกล่าว
ข้อ 11/4 มิให้นำความในข้อ 11/2 และข้อ 11/3 มาใช้บังคับกับกองทุนรวมที่จดทะเบียนกองทุนรวมอยู่แล้วก่อนวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2549 แต่ให้กองทุนรวมดังกล่าวอยู่ภายใต้บังคับข้อ 11/5
ข้อ 11/5 ในกรณีที่กองทุนรวมใดที่จดทะเบียนกองทุนรวมอยู่แล้วก่อนวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2549 หากกองทุนรวมดังกล่าวมีบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดถือหน่วยลงทุนเกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวมนั้น ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) รายงานให้สำนักงานทราบเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่14 มีนาคม พ.ศ. 2549 โดยให้ระบุชื่อกองทุนรวม รายชื่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันที่ถือหน่วยลงทุนเกินกว่าอัตราดังกล่าว และจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นถือไว้ และ
(2) ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ 14 มีนาคม พ. ศ. 2549
(ก) เสนอขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติม หรือควบกองทุนรวมหรือรวมกองทุนรวมดังกล่าว เพื่อให้อัตราการถือหน่วยลงทุนของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันดังกล่าวไม่เกินหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวมนั้น
(ข) เลิกกองทุนรวมนั้น
(ค) ดำเนินการอื่นใดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่ดำเนินการตาม (2) ภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือดำเนินการแล้วแต่ไม่สามารถลดอัตราการถือหน่วยลงทุนให้ต่ำกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดได้ สำนักงานอาจสั่งให้บริษัทเลิกกองทุนรวม
ข้อ 11/6 กรณีที่กองทุนรวมใดที่จดทะเบียนกองทุนรวมอยู่แล้วก่อนวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2549 มีบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดถือหน่วยลงทุนเกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และเป็นกรณีที่เข้าข้อยกเว้นตามข้อ 14(2) แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล เท่านั้น บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่ต้องดำเนินการตามข้อ 11/5 (2) ความในข้อ 11/5 มิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนรวมซึ่งจดทะเบียนกองทุนรวมอยู่แล้วก่อน วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2549 และมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เป็นกองทุนรวมปิดที่กำหนดวันสิ้นอายุโครงการไว้อย่างแน่นอนโดยไม่มีการแก้ไขอายุโครงการหรือมีการแปลงสภาพเป็นกองทุนรวมเปิด
(2) เป็นกองทุนรวมเปิดที่ไม่มีการเสนอขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติมอีก
(3) เป็นกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศ
ข้อ 11/7 เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาความเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันตามประกาศนี้ ให้ถือว่าบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันดังต่อไปนี้เป็นกลุ่มบุคคลเดียวกัน
(1) บิดา มารดาและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
(2) คู่สมรส
(3) นิติบุคคล และผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนของนิติบุคคลนั้นซึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในนิติบุคคลดังกล่าวเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดหรือความเป็นหุ้นส่วนทั้งหมด แล้วแต่กรณี
(4) นิติบุคคล และนิติบุคคลอื่นซึ่งนิติบุคคลเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในนิติบุคคลอื่นนั้นเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดหรือความเป็นหุ้นส่วนทั้งหมดของนิติบุคคลอื่นนั้น แล้วแต่กรณี
(5) กองทุนส่วนบุคคลของบุคคลตาม (1)(2)(3) หรือ (4)”
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (ก) ของ (2) ของข้อ 76 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 1/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(ก) เรียกเก็บเป็นจำนวนคงที่ หรือเป็นอัตราร้อยละของมูลค่าทรัพย์สินหรือมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม”
ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของข้อ 97 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 1/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
“มิให้นำความในข้อ 82(1) และ (3) มาใช้บังคับกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ”
ข้อ 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 108/1 ในหมวด 8 หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมอีทีเอฟ ของภาค 2 การจัดการกองทุนรวม แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 1/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
“ข้อ 108/1 มิให้นำความในข้อ 11/2 ข้อ 11/3 และข้อ 11/5 มาใช้บังคับ ทั้งนี้ เฉพาะก่อนและในวันที่เริ่มซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟในตลาดรอง เว้นแต่ในกรณีของกองทุนรวมอีทีเอฟที่ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาคตามโครงการจัดตั้งกองทุนพันธบัตรเอเชียระยะที่สอง (Asian Bond Fund 2) ตามมติของที่ประชุมกลุ่ม
ธนาคารกลางสมาชิก Executives’ Meeting of East Asia and Pacific Central Banks (EMEAP) มิให้
นำมาใช้บังคับไม่ว่าในช่วงเวลาใด”
ข้อ 5 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2549
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป (retail fund) เพื่อเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันเพียงรายใดรายหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่กองทุนรวมและผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าวได้รับ ดังนั้น เพื่อให้การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป (retail fund) เป็นกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนรายย่อยอย่างแท้จริง โดยบริษัทจัดการกองทุนรวมสามารถใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้มีวิชาชีพในการจัดการลงทุนเพื่อประโยชน์โดยรวมของผู้ลงทุนรายย่อยเหล่านั้น นอกจากนี้ เพื่อปรับปรุงแก้ไขหลักการเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการและเหตุในการเลิกกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพให้มีความเหมาะสมมากขึ้น จึงจำเป็นต้องออกประกาศฉบับนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ