พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 15 พฤษภาคม 2558 - 21 พฤษภาคม 2558

ข่าวทั่วไป Friday May 15, 2015 15:04 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 15 พฤษภาคม 2558 - 21 พฤษภาคม 2558

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 15-17 พ.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดในบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนและด้านตะวันออกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-41 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 18-21 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งโดยเฉพาะบริเวณด้านตะวันตกของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เช่น มะม่วงและลิ้นจี่ บางพันธุ์ เกษตรกรควรรีบตัดแต่งกิ่งแล้วควรทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา เพื่อให้ต้นได้มีเวลาพักตัวได้นาน รวมทั้งเก็บกวาดผลที่เน่าเสียและร่วงหล่นไปทำลายไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ภายในสวน เพราะจะเป็นที่อาศัยหลบซ่อนของโรคและศัตรูพืชต่อไป

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 15-17 พ.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 18-21 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากทางด้านตะวันออกและตอนล่างของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

  • พื้นที่ซึ่งมีฝนตกในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตด้อยคุณภาพ
  • เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงฤดูฝน เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควร ดูแลหลังคาโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้มีรอยรั่วซึม และทำแผงกำบังฝนสาดให้แก่สัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันสัตว์เปียกฝน จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • เกษตรกรที่ปลูกพืชในช่วงนี้ควรจัดการดินให้มีการระบายน้ำที่ดี และไม่ควรปลูกพืชแน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้มีความชื้นสะสมในแปลงปลูก เป็นสาเหตุให้เกิดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 15-16 พ.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 17-21 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งทางด้านตะวันตกและตอนล่างของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำขังในพื้นที่เพาะปลูก ทำให้เกิดโรคพืชจากเชื้อรา
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก และยกพื้นคอกสัตว์ให้สูง ดูแลหลังคาโรงเรือนอย่าให้รั่วซึม และทำแผงกำบังฝนสาด เพื่อป้องกันสัตว์เปียกชื้นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ระยะนี้ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 15-16 พ.ค. อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ลมใต้ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 17-21 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรขุดลอกคูคลองและทางระบายน้ำอย่าให้ตื้นเขินน้ำไหลได้สะดวก เพื่อป้องกันน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่เพาะปลูก
  • ส่วนไม้ผลที่อยู่ในระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้ผลที่เน่าเสียและร่วงหล่นกองอยู่ในบริเวณสวน แต่ควรนำไปกำจัด เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยหลบซ่อนของโรคและศัตรูพืช
  • สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรรีบตัดแต่งกิ่ง แล้วทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา รวมทั้งใส่ปุ่ยเพื่อให้ต้นฟื้นตัวได้เร็วมีเวลาพักตัวได้นาน

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 15-16 พ.ค. ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 17-21 พ.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

  • ระยะนี้บริเวณภาคใต้จะเริ่มมีฝนเพิ่มมากขึ้นกว่าระยะที่ผ่านมา โดยทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณและการกระจายมากกว่าทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก เกษตรกรควรขุดลอกคูคลองและทางระบายน้ำอย่าให้ตื้นเขิน ป้องกันน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่เพาะปลูกเมื่อมีฝนตกหนักในระยะต่อไป
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงควรระวังและป้องกันน้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อเพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • พื้นที่ซึ่งมีฝนตกในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต การออกดอกและติดผลลดลง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 15-16 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 17-21 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลอันดามันตอนบน ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

  • ระยะนี้บริเวณภาคใต้จะเริ่มมีฝนเพิ่มมากขึ้นกว่าระยะที่ผ่านมา โดยทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณและการกระจายมากกว่าทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก เกษตรกรควรขุดลอกคูคลองและทางระบายน้ำอย่าให้ตื้นเขิน ป้องกันน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่เพาะปลูกเมื่อมีฝนตกหนักในระยะต่อไป
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงควรระวังและป้องกันน้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อเพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • พื้นที่ซึ่งมีฝนตกในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต การออกดอกและติดผลลดลง
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 17-21 พ.ค.บริเวณทะเลอันดามันตอนบน ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ