พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 07 กันยายน 2559 - 13 กันยายน 2559

ข่าวทั่วไป Wednesday September 7, 2016 14:17 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 07 กันยายน 2559 - 13 กันยายน 2559

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 8-9 ก.ย.มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 10-13 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • ข้าวนาปี อากาศชื้นสูง : ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคไหม้ และโรคขอบใบแห้ง ฝนตกหนัก : แปลงนาในที่ลุ่มควรเสริมคันนาเพื่อป้องกันน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่นา
  • กาแฟ อากาศชื้นสูง : ชาวสวนกาแฟควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราสนิม โดยดูแลสวนให้โปร่ง และเก็บกวาดใบและกิ่งที่เป็นโรคไปกำจัด
  • ไม้ดอก ดินและอากาศชื้น : เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคใบจุด และดอกเน่า ในเบ็ญจมาศ โรคใบจุดสีดำในกุหลาบ เป็นต้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 8-9 ก.ย.มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 10-13 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

  • ข้าวนาปี อากาศชื้นสูง : ควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจาก เชื้อรา เช่น โรคไหม้ และโรคใบจุดสีน้ำตาล เป็นต้น
  • สัตว์เลี้ยง ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ
  • พืชผัก ฝนตกต่อเนื่อง ดินและอากาศมีความชื้นสูง : ดูแลระบบระบายน้ำออกจากแปลงปลูก ป้องกันน้ำท่วมขัง และระวังโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคเน่าคอดิน โรคเน่าดำ และโรคเน่าเละ

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 8-10 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 11-13 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • ข้าวนาปี อากาศชื้นสูง : ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคไหม้ และโรคใบจุดสีน้ำตาล เป็นต้น
  • สัตว์เลี้ยง ฝนตกต่อเนื่อง อากาศชื้น : ควรดูแลโรงเรือนให้โปร่ง และพื้นคอกไม่ให้ชื้นแฉะ เพื่อป้องกันสัตว์เปียกชื้น อ่อนแอ และเป็นโรค โดยเฉพาะโรคหวัดในสัตว์ปีก
  • ไม้ดอก ดินและสภาพอากาศชื้น : เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคเน่าดำ โรคใบจุด ในกล้วยไม้ โรคราสนิม โรคใบจุดในกุหลาบ เป็นต้น

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 8-10 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 11-13 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส

  • ไม้ผล อากาศชื้น : ดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน โรคผลเน่าในสละและแก้วมังกร เป็นต้น
  • พริกไทย อากาศชื้น : ระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่า โรครากขาว และ โรคแอนแทรกโนส
  • สัตว์น้ำ (ในบ่อ) ฝนตกหนัก : เสริมขอบบ่อไม่ให้น้ำฝนไหลลงบ่อ ทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์อ่อนแอเป็นโรค และเปิดเครื่องตีน้ำหลังฝนตก เพื่อปรับอุณหภูมิน้ำ เพิ่มออกซิเจน

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 7-9 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 10-13 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส

  • ไม้ผล ดินและอากาศมีความชื้นสูง : ไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ชาวสวนควรตัดแต่งกิ่ง และใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นฟื้นตัวได้เร็ว มีเวลาพักตัวได้นานขึ้น และเก็บกวาดผลที่ร่วงหล่นเน่าเสียไปกำจัดไม่ควรกองอยู่ในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อรา
  • กาแฟ (ฝั่งตะวันออก) บริเวณที่มีฝนตกน้อย : ศัตรูพืช เช่น หนอนเจาะลำต้น เพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้ง เป็นต้น

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

ในช่วงวันที่ 7-8 และ 11-13 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวัน ตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 9-10 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-30 องศาเซลเซียส

  • ไม้ผล ดินและอากาศมีความชื้นสูง : ไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ชาวสวนควรตัดแต่งกิ่ง และใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นฟื้นตัวได้เร็ว มีเวลาพักตัวได้นานขึ้น และเก็บกวาดผลที่ร่วงหล่นเน่าเสียไปกำจัดไม่ควรกองอยู่ในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อรา
  • ยางพารา (ฝั่งตะวันตก) อากาศชื้น : ดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากขาว โรคราสีชมพู และโรคเส้นดำ เป็นต้น

หมายเหตุ

ปริมาณฝนสะสมเดือนกันยายน (วันที่ 1 - 6 ก.ย.) ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องจากเดือนสิงหาคม ทำให้มีฝนสะสมเพิ่มขึ้นบริเวณ ภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันออก ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยมีฝนสะสม ประมาณ 100 – 200 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีฝนสะสมมากกว่า 20 มม. เป็นส่วนมากยกเว้นบางพื้นที่ของภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันตก ภาคกลางตอนกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ที่มีฝนสะสมน้อยกว่า 20 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำ : ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาบริเวณประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-30 มม. เป็นส่วนมาก เว้นแต่ภาคใต้ตอนล่าง ที่มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 30 -35 มม.

สมดุลน้ำ : ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาสมดุลน้ำมีค่าบวกเป็นส่วนมาก โดยสมดุลน้ำสูงสุดอยู่ที่ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีค่า 100-300 มม. ส่วนบางพื้นที่ของภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันตก ภาคกลางตอนกลาง ภาคตะวันออกตอนบน และภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีค่าสมดุลน้ำเป็นลบ โดยมีค่าอยู่ระหว่าง (-1) ถึง (-30) มม.

คำแนะนำ : ในช่วง 7 วันที่ผ่านมามีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ทำให้ในหลายพื้นที่มีค่าสมดุลน้ำเป็นบวก แต่บางพื้นที่ค่าสมดุลน้ำยังคงมีน้อย และในช่วง 7 วันข้างหน้าคาดว่าจะมีฝนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อพืชที่ขาดน้ำในช่วงที่ผ่านมา สำหรับพื้นที่การเกษตรในที่ลุ่มบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก เกษตรกรควรดูแลระบบระบายน้ำออกจากแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ ป้องกันน้ำท่วมขังเวลามีฝนตกหนัก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ