พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 19 - 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ข่าวทั่วไป Friday July 19, 2019 14:48 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 19 - 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 86/62

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 19 - 20 ก.ค. 62 ภาคใต้และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง มีฝนน้อย สำหรับทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 21 - 25 ก.ค. 62 ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางด้านตะวันตกของประเทศ ส่วนภาคใต้และภาคตะวันออกจะมีปริมาณฝนลดลง สำหรับบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 19 - 20 ก.ค. 62 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยทำให้ภาคใต้ และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนน้อย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง ส่วนในช่วงวันที่ 21 - 25 ก.ค. 62 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงที่พัดพัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ภาคใต้ และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลงเป็นกำลังปานกลาง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งทางด้านตะวันตกของประเทศ ส่วนภาคใต้และภาคตะวันออกมีฝนลดลง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 19 - 20 ก.ค. 62 บริเวณภาคใต้และภาคตะวันออก จะมีฝนที่ตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับในช่วงวันที่ 19 - 21 ก.ค. บริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 19 - 20 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 21 - 25 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งทางด้านตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกน้อย ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงควรดูแลสภาพน้ำให้เหมาะสมกับชนิดของสัตว์น้ำที่เลี้ยง และดูแลจำนวนสัตว์น้ำที่เลี้ยงให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ หากสัตว์น้ำอยู่อย่างแออัดจะทำให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • เนื่องจากฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ตลอดจนข้าวนาปี ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 19 - 20 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 21 - 25 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ผิวไหม้เกรียมได้ หากมีความจำเป็นต้องทำงานกลางแจ้งควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดและดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรซ่อมแซมโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้มีความมั่นคงแข็งแรง และสำรวจหลังคาหากพบรอยรั่วซึมควรซ่อมแซมให้ใช้งานได้ตามปกติ รวมทั้งจัดทำแผงกำบังฝนสาด เพื่อป้องกันสัตว์เปียกฝน หนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย เมื่อมีฝนตก

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 19 - 20 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 21 - 25 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งทางด้านตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เนื่องจากปริมาณฝนมีน้อย แต่ปริมาณน้ำระเหยมีมาก ทำให้ความชื้นในดินลดลง เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอ เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ ถ้าขาดน้ำเป็นเวลานานจะทำให้ต้นพืชตายได้
  • เนื่องจากฝนที่ตกและหยุดตกสลับกัน สภาพอากาศเหมาะแก่การระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 19 - 20 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 21 - 25 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • พื้นที่ซึ่งมีฝนตกหนักติดต่อกัน อาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากได้ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • ฝนที่ตกติดต่อกันจะทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าในพริกไทย โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า และโรคหน้ากรีดยางในยางพารา โรคใบติดในทุเรียน เป็นต้น
  • ในช่วงวันที่ 19-21 ก.ค. บริเวณอ่าวไทยตอนบน จะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือ ด้วยความระมัดระวัง

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 19 - 21 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 22 - 25 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 19 - 21 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมาก บางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 22 - 25 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับทางฝั่งตะวันออก ฝนที่ตกในระยะนี้จะเป็นผลดีกับพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต และเจริญเติบโตทางผล แต่ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนไว้ด้วย
  • ส่วนทางฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 19 - 21 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
  • ฝนที่ตกติดต่อกันจะทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพู ในยางพารา และโรคราสนิมในกาแฟ เป็นต้น
  • ในช่วงวันที่ 19-21 ก.ค. บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน จะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณทะเล อันดามันควรงดออกจากฝั่ง

ปริมาณฝนสะสมเดือนกรกฎาคม (ในช่วงวันที่ 1-18 กรกฎาคม) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือด้านตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันออก และภาคตะวันออก ตอนบนกับตอนล่างของภาค โดยมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 200-600 มม. บริเวณจังหวัดนครพนม จันทบุรีและตราด สำหรับภาคใต้ส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมสูงกว่า 50 มม เว้นแต่ทางตอนบนของภาคที่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. โดยมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 200-400 มม. บริเวณจังหวัดระนองและพังงา

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนมากมีปริมาณฝนสะสมน้อยกว่า 50 มม. เว้นแต่ภาค ตะวันออกตอนล่างมีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 50 มม. โดยมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 100-300 มม. บริเวณจังหวัดจันทบุรีและตราด สำหรับภาคใต้ มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เป็นส่วนมาก เว้นแต่ภาคใต้ตอนกลางมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50 - 300 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-40 มม. โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมมากกว่าบริเวณอื่นๆ

สมดุลน้ำ บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำเป็นลบ โดยมีค่า (-1) - (-40) มม. เว้นแต่ภาคเหนือด้านตะวันตก และภาคตะวันออกตอนล่างมีค่าสมดุลน้ำเป็นบวก โดยภาคตะวันออกตอนล่างมีค่าสมดุลน้ำสูงสุด คือ 40-400 มม. สำหรับภาคใต้ตอนบนมีค่าสมดุลน้ำเป็นลบ โดยมีค่า (-1) - (-30) มม. เว้นแต่ภาคใต้ตอนล่างมีค่าสมดุลน้ำเป็นบวกโดยมีค่า 1 - 300 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยมีรายงานฝนตกหนักหลายพื้นที่กับมีฝนตกนักมากบางแห่ง สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้และภาคตะวันออก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจาก สภาวะดังกล่าว ส่วนเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงที่มีฝนน้อย นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา และศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะทำให้ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ