พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 8 - 14 มิถุนายน พ.ศ.2563

ข่าวทั่วไป Monday June 8, 2020 14:48 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 8 - 14 มิถุนายน พ.ศ.2563

ออกประกาศวันจันทร์ ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2563

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 69/63

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 8 - 11 มิ.ย. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวมะตะบันและมีแนวโน้มจะเคลื่อนไปยังอ่าวเบงกอลตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะทางด้านตะวันตกของประเทศและภาคตะวันออกซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุม สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้นโดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 14 มิ.ย. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกและภาคใต้ และคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังอ่อนลง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 8-11 มิ.ย. เกษตรกรในภาคเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ ระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ สำหรับชาวเรือและชาวประมงบริเวณทะเลอันดามัน ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ โดยหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 8-11 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 12-14 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย จากสภาพอากาศที่มีฝนตกและมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคเน่าในผักตระกูลกะหล่ำ เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลี ผักกาดขาว เป็นต้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 8-12 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนและตะวันออกของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 13-14 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

  • ฝนที่ตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย สำหรับเกษตรกรที่จะปลูกพืชในระยะนี้ ควรคลุกเมล็ดพันธุ์หรือชุบท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อรา และไม่ควรปลูกแน่นจนเกินไป เพื่อป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 8-11 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 12-14 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ในช่วงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ทำให้ในดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรดูแลแปลงปลูกพืชให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก และกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความชื้นสะสมในแปลงปลูก และลดความรุนแรงของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ปีก ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 8-11 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 12-14 มิ.ย.มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ระยะนี้ฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ไว้ด้วย รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่า โคนเน่าในไม้ผล

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 8-10 มิ.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 11-14 มิ.ย.63 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ฝั่งตะวันตก ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 8-11 มิ.ย. ตั้งแต่ภูเก็ตขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ในช่วงวันที่ 12-14 มิ.ย. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร เมื่อมีฝนตกหนัก สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงควรเสริมขอบบ่อให้สูงขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนที่ตกบริเวณใกล้เคียงไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้หลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ อนึ่ง ในช่วงวันที่ 8-11 มิ.ย. บริเวณทะเลอันดามันมันจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมง ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ลักษณะอากาศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 1-7 มิถุนายน 2563 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้นในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ โดยในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวมะตะบัน ลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนาแน่นตลอดสัปดาห์ และมีรายงานน้ำป่าไหลหลากในบางพื้นที่

ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 30-65 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดพิจิตรในวันที่ 1 มิ.ย. จังหวัดลำปางในวันที่ 2 มิ.ย. จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 5 มิ.ย. กับมีรายงานน้ำป่าไหลหลากบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 2 มิ.ย. จังหวัดน่านในวันที่ 4 มิ.ย. และมีรายงานดินถล่มบริเวณจังหวัดน่านในวันที่ 1 มิ.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 70-85 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง โดยมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดกาฬสินธุ์ นครราชสีมา และนครพนมในวันที่ 1 มิ.ย. จังหวัดสุรินทร์ในวันที่ 1, 2 และ 5 มิ.ย. ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 15-60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 2 และ 6 มิ.ย. มีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง โดยมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสระบุรี นครสวรรค์ และชัยนาทในวันที่ 2 มิ.ย. กับมีรายงานน้ำป่าไหลหลากบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ในวันที่ 2 มิ.ย. ภาคตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนมากบริเวณชายฝั่งตอนล่างของภาค ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 1, 3 และ 7 มิ.ย. มีฝนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่ง

ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดน่าน ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปทุมธานี กาญจนบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี และยะลา สำหรับบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก สุโขทัย พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม ราชบุรี สมุทรปราการ นครนายก สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ชุมพร สงขลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ