(เพิ่มเติม) ธ.ก.ส.คาดเศรษฐกิจภาคเกษตร H2/57 โต 2.6-3.2%-โพลล์ชี้ความสุขเกษตรกรเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 23, 2014 14:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึงเศรษฐกิจการเกษตรไทยครึ่งหลังปี 57 มีแนวโน้มจะขยายตัว 2.6-3.2% เนื่องจากการขยายตัวของผลผลิตพืชสำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปี อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมันและผลไม้ ในครึ่งหลังของปี รวมถึงแนวโน้มผลผลิตไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ ที่เพิ่มมากขึ้น สำหรับกุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มที่ดีในการแก้ปัญหาโรคกุ้งตายด่วน(EMS) ทำให้ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงครึ่งปีหลังจะมีแนวโน้มที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษ ได้แก่ ปัญหาน้ำท่วม แนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ปัญหาโรคระบาดในพืชและสัตว์เกษตรต่าง ๆ

ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดว่าในครึ่งหลังปี 57 สินค้าเกษตรที่จะมีราคาสูงขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง คาดว่าราคาน่าจะอยู่ในช่วง 2.15-2.20 บาท/กก. อ้อย คาดว่าราคาน่าจะอยู่ในช่วง 12.20-13.00 บาท/กก. ไก่เนื้อ คาดว่าราคาจะอยู่ที่ช่วง 42.80-44.00 บาท/กก. และราคาสุกรหน้าฟาร์ม คาดว่าราคาจะอยู่ที่ช่วง 69-72 บาท/กก.

ขณะที่แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะปรับตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คาดว่าราคาจะอยู่ในช่วง 6.30-7.80 บาท/กก. ยางพารา คาดว่าราคาจะอยู่ในช่วง 60-61 บาท/กก. ปาล์มน้ำมัน คาดว่าราคาจะอยู่ในช่วง 3.20-4.35 บาท/กก. และข้าวเปลือกเจ้า 15% คาดว่าราคารับซื้อจะอยู่ที่ 7.5-9 พันบาท/ตัน ส่วนข้าวหอมมะลิ คาดว่าราคารับซื้อจะอยู่ในช่วง 1.4-1.5 หมื่นบาท/ตัน และกุ้งขาวแวนนาไม คาดว่าราคาจะอยู่ในช่วง 210-220 บาท/กก.

"ราคารับซื้อข้าวเปลือกเจ้า 15% ในตลาดขณะนี้ไม่ถือว่าสูงมากนัก โดยระหว่างช่วงที่ ธ.ก.ส.คาดการณ์นั้น น่าจะมีราคารับซื้อจริงอยู่ที่ 7.7-7.8 พันบาท/ตันเท่านั้น แต่ในส่วนของการประเมินนั้น ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส.พยายามมองภาพให้เป็นบวก โดยคำนึงถึงอนาคตว่าหากรัฐบาลมีนโยบายอะไรออกมากระตุ้นในส่วนนี้ น่าจะช่วยทำให้ราคาขายผลผลิตทางการเกษตรดังกล่าวขยับเพิ่มสูงขึ้นได้" นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 57 ว่า คาดว่าจะขยายตัว 2.5-3.5% ต่อปี ปรับตัวได้ดีกว่าครึ่งปีแรก อันเป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยดีขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์ต่างประเทศผ่านภาคการส่งออกและอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนสามารถขยายตัวได้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางการเมือง การเร่งรัดจ่ายเงินโครงการจำนำข้าว ปีการผลิต 56/57 ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ใช้จ่ายในการลงทุนทางการเกษตรและการบริโภคภาคชนบท

อีกทั้ง ผลจากการใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 57 และการอนุมัติแผนงบประมาณรายจ่ายปี 58 ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 57 สนับสนุนให้เม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ดีกว่าครึ่งปีแรก ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 57 จะสามารถขยายตัวได้ 1.6-2.4% ต่อปี

"คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง จะทำให้อุปสงค์ความต้องการสินค้าเกษตรในครึ่งปีหลังเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและส่งผลต่อเนื่องให้รายได้ของภาคเกษตรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน ภัยแล้ง ภาวะน้ำท่วม และโรคระบาดที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรเสียหายได้"นายสมศักดิ์ ระบุ

นอกจากนี้ ทางศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. ได้สำรวจความคิดเห็น (Poll) ของกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรในทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 2,346 ราย ในช่วงเดือน มิ.ย.57 หัวข้อ “ระดับความสุขของเกษตรกรไทย" พบว่า ความสุขมวลรวมของเกษตรกรไทยในภาพรวมอยู่ในระดับมากด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.10 จากคะแนนเต็ม 4 คะแนน โดยเกษตรกรมีความสุขในระดับมากขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ 78.51

ทั้งนี้ ความสุขของเกษตรกรไทยวัดจากตัวชี้วัดความสุขใน 6 มิติ คือ ครอบครัวดี คะแนนเฉลี่ยมากที่สุด 3.41 คะแนน ตามมาด้วยสุขภาพดี 3.21 คะแนน สังคมดี 3.20 คะแนน การงานดี 3.14 คะแนน สุขภาพเงินดี 2.85 คะแนนและใฝ่รู้ดี 2.74 คะแนน โดยในแต่ละมิติมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก

สำหรับระดับความสุขของเกษตรกรหลังได้รับเงินโครงการรับจำนำข้าว พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีความสุขมวลรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับมากที่สุดด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.35 จากคะแนนเต็ม 4 คะแนน ภายหลังจากได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าว โดยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวส่วนใหญ่มีความสุขในระดับมากขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ 88.6 สะท้อนให้เห็นว่าหลังจากเกษตรกรได้รับเงินแล้วเกษตรกรมีสภาพคล่องในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และมีความหวังในอาชีพทำนามากขึ้นหลังจากรอคอยเงินในโครงการฯ มาไม่ต่ำกว่า 6-8 เดือน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อระดับความสุขของเกษตรกรส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับมากที่สุด

ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. มีความเห็นว่าการที่จะทำให้เกษตรกรมีระดับความสุขเพิ่มขึ้น ธ.ก.ส. ควรส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพผลผลิตทางการเกษตร ด้วยการลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาเทคนิคการผลิต การใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร และการสนับสนุนให้มีการทำอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของเกษตรกร ซึ่งจะทำให้ดัชนีชี้วัดด้านสุขภาพเงินดีและใฝ่รู้ดีมีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความสุขโดยรวมของเกษตรกรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส. ควรส่งเสริมการมีอาชีพเสริมทั้งภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร โดยการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพระยะสั้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนจนสามารถยึดเป็นอาชีพที่สองได้ ที่สำคัญคือ ควรให้คำแนะนำด้านการตลาดเพื่อสร้างช่องทางการจำหน่ายและกระจายสินค้า โดยภาครัฐและส่วนงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งมาตรการช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้แก่เกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจในมาตรการช่วยเหลือจากรัฐ อาทิ การสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดต้นทุน

ส่วนตัวเลขดัชนีความสุขของเกษตรกรทั่วประเทศไทย โดยแบ่งเป็นภูมิภาค ดังนี้ ภาคกลาง มีดัชนีความสุขอยู่ที่ 2.99% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดัชนีความสุขอยู่ที่ 3.14% ภาคเหนือ มีดัชนีความสุขอยู่ที่ 3.13% ภาคใต้มีดัชนีความสุขอยู่ที่ 3.12% และภาคตะวันตก มีดัชนีความสุขอยู่ที่ 2.97% ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้มีดัชนีความสุขสูงสุดอยู่ที่ 3.28% เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย มีดัชนีความสุขอยู่ที่ 3.27% เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อ มีดัชนีความสุขอยู่ที่ 3.17% ส่วนเกษตรกรรับจ้างทำการเกษตรมีดัชนีความสุขน้อยที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ