"อนุสรณ์"ชี้ระบบแบงก์พาณิชย์ต้องแข่งขันมากขึ้นหนุนการลดดบ.ธปท.มีประสิทธิภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday May 10, 2015 11:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เขียนเฟสบุ๊คให้ความเห็นในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อเรื่องนโยบายการเงินล่าสุดดังนี้

มาตรการผ่อนคลายให้เงินทุนไหลออกและการลดอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติได้ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งน่าจะช่วยกระต้นการส่งออก การท่องเที่ยวและน่าจะดึงให้ราคาสินค้าเกษตรในรูปเงินบาทปรับตัวสงขึ้นได้บ้าง โดยมีแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อน้อยมาก ขณะที่นักลงทุนต่างชาติได้ทยอยเทขายหุ้นไทยจากการที่เศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนชะลอตัว

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนและการบริโภคได้ระดับหนึ่ง รวมทั้งช่วยลดต้นทุนทางการเงินลง อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของนโยบายการเงินและกลไกการส่งผ่านการลดดอกเบี้ยจะส่งผลต่อเศรษฐกิจดียิ่งขึ้น หากระบบธนาคารพาณิชย์ตอบสนองต่อการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยได้มากขึ้นและอย่างเหมาะสม แต่กลไกการส่งผ่านนโยบายการเงิน (ดอกเบี้ย) ยังไม่ราบรื่นเท่าที่ควร ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องไปดูแลให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีโครงสร้างตลาดที่มีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ เมื่อโครงสร้างตลาดมีการแข่งขัน กลไกการส่งผ่านนโยบายดอกเบี้ยจะมีประสิทธิภาพดีขึ้น

ส่วนมาตรการผ่อนคลายของธนาคารแห่งประเทศไทยให้เงินไหลออกได้มากขึ้น (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาตลาดการเงินระยะยาวอยู่แล้ว) จะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อการแข็งค่าเงินบาทได้และยังส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ช่วยทำให้ขีดความสามารถของภาคเอกชนไทยดีขึ้นในอนาคต รวมทั้งช่วยกระจายความเสี่ยง รวมทั้งรองรับการขยายการลงทุนระหว่างประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นสอดคล้องกับภาวะไร้พรมแดนของโลกาภิวัฒน์ทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงครึ่งปีหลังจากเงินทุนไหลออกมากขึ้นและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง สิ่งที่ควรระมัดระวัง คือสภาพคล่องส่วนเกินของระบบการเงินโลกที่มีอยู่จำนวนมาก ภาวะดังกล่าวดำรงอยู่นานหลายปีนับจากการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ QE ของธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้ว อัตราดอกเบี้ยระดับต่ำอยู่ยาวนานมากกว่าปกติทำให้ทุกภาคส่วนอาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็นหากในอนาคตหลายประเทศดำเนินนโยบายการเงินพลิกผันกลับทางรวดเร็วกว่าที่คาดไว้ โดยที่หลายฝ่ายไม่ได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์อาจจะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงืนและเศรษฐกิจได้ ระบบการเงินและระบบธนาคารของไทยสามารถมีภูมิต้านทานต่อความท้าทายต่างๆ เหล่านี้ได้ดี เพราะมีการกำกับดูแลที่เป็นมาตรฐานสากลของธนาคารแห่งประเทศไทยและการบริหารความเสี่ยงและการกำกับดูแลกิจการตามธรรมาภิบาลของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ