ผู้ว่าฯ ธปท.มองปัญหาเชิงโครงสร้างกดดันขีดความสามารถ แนะเลิกหวังพึ่งส่งออกดันศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 16, 2015 18:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2015 ว่า ปัญหาที่ประเทศไทยต้องเผชิญอันมีผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันนั้น ถือว่าเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น, ต้นทุนแรงงานสูง, ปัญหาหนี้ครัวเรือน, การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ, พื้นฐานการศึกษาที่อยู่ในระดับต่ำ และความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เป็นต้น ซึ่งหลายประเทศก็เผชิญปัญหาในลักษณะนี้เช่นกัน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการแก้ไข แม้จะเป็นเรื่องที่แก้ยากก็ตาม

ทั้งนี้ การใช้กลไกจากเศรษฐกิจมหภาคจะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็จำเป็นต้องระมัดระวังเรื่อง Global Shock ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของทั้งภาคธุรกิจและภาคเอกชนได้

ดังนั้น การดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาคจะต้องคำนึงถึงประเด็นที่สำคัญเหล่านี้ คือ 1.ดูแลกรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคให้มีความยืดหยุ่น 2.การทำให้ตลาดการเงินและภาคธุรกิจเกิดความเชื่อมั่นในกรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ได้ดำเนินการอยู่ 3.มีเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายและสามารถผสมผสานกันได้ เพื่อเตรียมพร้อมไว้ใช้กับแต่ละสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และ 4. ต้องมีการสื่อสารและทำความเข้าใจที่ดีกับตลาดการเงินเมื่อเกิดปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น

ผู้ว่าฯ ธปท. มองว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมีส่วนสำคัญมาจากรายได้ภาคการส่งออกที่คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50-60% ของ GDP ยกเว้นในช่วง 2-3 ปีหลังที่การส่งออกของไทยเริ่มติดลบอันเป็นผลมาจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทั้งนี้ในอนาคตการพึ่งพาการส่งออกเพื่อช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะทำให้น้อยลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า รวมทั้งอำนาจซื้อเติบโตไม่มากเท่าเดิมแล้ว

"โครงสร้างการค้าระหว่างประเทศอาจจะไม่สัมพันธ์กับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเท่ากับอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากขณะนี้ทุกประเทศต่างมีการขยาย supply chain และเริ่มลดการนำเข้าลง แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปจะเริ่มฟื้นตัวได้ แต่ก็อย่าไปคาดหวังว่าจะมีการนำเข้าสินค้ามากเท่าเดิม" นายประสาร กล่าว

ดังนั้น สิ่งที่พอจะเป็นตัวช่วยเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง คือ การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาการบริโภคในประเทศจะฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็วกว่าส่วนอื่น เพียงแต่ในปีนี้การบริโภคในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้า ซึ่งอาจเป็นเพราะภาคการส่งออกที่หดตัวและส่งผลกระทบต่อการบริโภคของประชาชนที่อยู่ในภาคการเกษตร ประกอบกับยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีความล่าช้าในการพัฒนาหลายด้าน เพื่อเป็นการวางยุทธศาสตร์แห่งชาติระยะยาว ซึ่งภาครัฐได้พยายามเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ที่ล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 สาย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้ราว 0.5% พร้อมกันนี้ทางภาครัฐยังได้กระจายการลงทุนไปยังจังหวัดที่มีศักยภาพ รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจชายแดนด้วย ส่งผลให้ครึ่งปีหลังปีนี้จะมีเม็ดเงินจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น

"ปัจจุบันภาครัฐได้เร่งการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งล่าสุด ครม. ก็ได้อนุมัติโครงการมอเตอร์เวย์ 3 สาย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้ราว 0.5% และยังมีโครงการรถไฟฟ้ารางคู่อีก โดยภาครัฐก็ไม่ได้มีการพัฒนาเพียงแค่ในกรุงเทพฯเท่านั้น ยังมีการขยายไปยังจังหวัดที่มีศักยภาพรองรับการขยายตัวของการค้าชายแดนในอนาคตด้วย"นายอาคม กล่าว

นายอาคม มองว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยถือว่ายังมีศักยภาพในการเติบโต ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาถือว่าทำได้ดี แต่อย่างไรก็ตามต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติม รวมมถึงการชักจูงให้ผู้ประกอบการเข้ามาพัฒนาและวิจัยต้นแบบในประเทศไทย เพื่อที่จะพัฒนาไทยสามารถเป็นผู้ออกแบบและผลิตเองได้ ขณะที่ในเชิงที่ตั้งของประเทศนับว่าเป็นจุดศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งถือว่าเป็นข้อที่ได้เปรียบอยู่แล้ว แต่ยังต้องพัฒนาเรื่องของระบบโลจิสติกส์ และการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆแก่ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ อาทิ การมีเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อเป็นการขยายฐานการผลิตตามแนวชายแดนของประเทศด้วย

นอกจากนี้อนาคตไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศกำลังพัฒนา จะเข้าสู่ศตวรรษของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจ และจากการที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ AEC จึงมองว่ากลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพน่าจะเป็นสิ่งที่เป็นความต้องการของทุกๆประเทศ และธุรกิจเกี่ยวกับการศึกษาที่ยังขาดแคลนอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะเป็นสองธุรกิจที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอีก 15-20 ปีข้างหน้า

"จากที่เราเป็นศูนย์กลางของ AEC และอนาคตที่จะเป็นศตวรรษของผู้สูงอายุ เราจึงมองว่าความต้องการด้านสุขภาพจะขาดแคลนในอนาคต และอีกอย่างหนึ่งคือการศึกษาที่ยังมีความต้องการอยู่ จึงมองว่า ธุรกิจที่เกี่ยวกับการศึกษา และธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพนั้น จะเป็นตัวช่วยในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้"นายอาคม กล่าว

ด้านนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่วัยกลางคน หลังจากเติบโตอย่างรวดเร็วในเชิงโครงสร้างในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในระยะสั้นหลังจากนี้ควรจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อปรับสมดุล ไม่ให้เข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่การจะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้นั้นจะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น โดยอาศัยความได้เปรียบจากการที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และการจ้างงานที่ยังอยู่ระดับที่ดี ตลอดจนมีองค์กรขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นรูปธรรม และการใช้ประโยชน์อย่างจริงจังในโครงสร้างสาธารณูปโภคที่มีอยู่

โดยขณะนี้ก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่ช่วยดูแลและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไป ซึ่งมีคณะอนุกรรมการ 6 ชุดเพื่อเข้ามาขับเคลื่อน โดยในส่วนของตนได้ดูแลในส่วนของการจัดการข้อมูลและการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ก็จะมีการรวบรวมข้อมูลให้เป็นมาตรฐานและตัวชี้นำในการทำงานให้มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเบื้องต้นเห็นว่าระยะสั้น ปัญหาของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง มาจากการอำนาจการใช้จ่ายของประชาชนที่ลดน้อยลง สาเหตุมาจากโครงสร้างทางสังคม โครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ไม่ได้รองรับการเติบโตในรอบต่อไป ซึ่งในเชิงธุรกิจต้องหากลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหา และนำไปสู่แผนการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ