(เพิ่มเติม) ธปท.อนุญาตบุคคล-นิติบุคคล-รายย่อยลงทุนโดยตรงตปท.ในปี 59-60

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 28, 2015 13:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีแผนผ่อนคลายให้ผู้ลงทุนรายย่อยลงทุนในต่างประเทศได้โดยไม่ผ่านตัวกลาง เพื่อสนับสนุนให้คนไทยกระจายความเสี่ยงการลงทุน โดยมีทางเลือกการติดต่อกับสำนักงานในต่างประเทศเพื่อลงทุนได้เอง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุน ซึ่งการผ่อนคลายดังกล่าวจะดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ในปี 59 และปี 60

สำหรับในระยะแรกปี 59 ธปท.จะอนุญาตให้ผู้ลงทุนที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด "Qualified invester" คือผู้ที่มีสินทรัพย์ขั้นต่ำ ดังนี้ บุคคลธรรมดาที่มีสินทรัพย์สภาพคล่อง ได้แก่ เงินฝากหรือพอร์ตการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินตั้งแต่ 100 ล้านบาท หรือ นิติบุคคลที่มีสินทรัพย์รวม 1,000-5,000 ล้านบาท กำหนดวงเงินโอนออก(gross) 5 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี ประเภทผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนได้ คือ หลักทรัพย์ทุกประเภท รวมเงินฝากในต่างประเทศ อนุพันธ์ทั้งในและนอกตลาด exchange โดยจะต้องยื่นหลักฐานแสดงสินทรัพย์ตามที่กำหนดกับธนาคารพาณิชย์

ส่วนระยะที่ 2 ในปี 60 ธปท.จะอนุญาตให้ผู้ลงทุนรายย่อยทั่วไปสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ทุกประเภท รวมถึงเงินฝากในต่างประเทศ อนุพันธ์เฉพาะในตลาด exchange วงเงินโอนออก 5 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี โดยจะต้องยื่นหนังสือรับรองต่อธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ รับทราบความเสี่ยงการลงทุน และ เงินที่นำมาลงทุนต้องไม่ใช่เงินที่มาจากการกู้ยืม

ทั้งนี้ ธปท.กำหนดหน้าที่ของผู้ลงทุนให้แจ้งความประสงค์การลงทุนในหลักรัพย์ต่างประเทศกับ ธปท.เป็นรายปี ก่อนการซื้อเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ รายงานการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเป็นรายเดือน จัดเก็บเอกสารเกี่ยวกับการลงทุน เช่น statement โดยหากไม่รายงานและจัดเก็บเอกสารตามเกณฑ์ที่กำหนด ธปท.จะไม่ออกแบบรับทราบการแจ้งความประสงค์ ซึ่งเป็นเอกสารประกอบการซื้อเงินกับธนาคตารพาณิชย์ในปีต่อไป

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.จะเริ่มใช้แนวทางดังกล่าวตั้งแต่ปี 59 วัตถุประสงค์คือต้องการกระจายความเสี่ยง ซึ่งไม่ได้หมายความถึงแค่ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเท่านั้น แต่หมายรวมถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนที่กระจุกตัวอยู่ในประเทศ เพราะเมื่อเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทยสินทรัพย์ที่ครอบครองอยู่ก็ถูกกระทบหมด แต่ถ้าสามารถกระจายการลงทุนไปในต่างประเทศกว้างขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็จะกระทบเฉพาะสินทรัพย์ที่ลงทุนในประเทศ ส่วนที่ลงทุนในประเทศอื่นก็จะไม่ถูกกระทบ

“เรื่องนี้เราคิดกันมาหลายปีแล้ว คิดว่าควรจะดีเดย์โดยเร็ว เพื่อไม่ไปฉุดรั้งความต้องการของนักลงทุนที่มีความพร้อมที่จะลงทุนในต่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย แต่การที่เราจะสร้างความคุ้มกันทั้งด้านผู้ลงทุนและด้านผู้ขายผลิตภัณฑ์ก็เป็นเรื่องจำเป็น เราคุยกันแล้วว่าจะเริ่มตั้งแต่ปี 59" นางผ่องเพ็ญ กล่าว

นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า ปีหน้าจะเป็นปีแรกที่นักลงทุนรายย่อยสามารถลงทุนทางตรงโดยไม่ผ่านตัวกลางได้ แต่ต้องเป็นนักลงทุนที่ทุนหนาที่หากไปลงทุนแล้วเกิดขาดทุนก็ยังมีทุนส่วนหนึ่งเพียงพอที่รองรับ โดยกำหนดคุณสมบัติเรื่องสินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น จะต้องมีเงินฝากหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงิน 100 ล้านบาทขึ้นไป หรือนิติบุคคลต้องมีสินทรัพย์รวมตั้งแต่ 1-5 พันล้านบาทขึ้นไป เพราะเราถือว่ากลุ่มนี้มีทุนหนา มีความรู้ ความเข้าใจ และมีประสบการณ์ในการลงทุนมาระดับหนึ่งแล้ว แต่ขอจำกัดวงเงินไม่เกินปีละ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนในปี 60 ธปท.จะขยายประเภทของนักลงทุนให้กว้างขึ้น คือ เป็นนักลงทุนรายย่อยทั่วไป แต่สิ่งสำคัญคือเงินที่ลงทุนต้องไม่ใช่เงินที่มาจากการกู้ยืม ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องเข้าไปพิสูจน์ให้ชัดเจนก่อน

นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า ระหว่างนี้ ธปท.ได้มีการเตรียมพร้อมเพื่อทำความเข้าใจแก่นักลงทุนรายย่อยที่ต้องการไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเองโดยไม่ผ่านตัวกลาง โดยจะดำเนินการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจทางการเงินแก่ผู้ลงทุนด้วยการจัดสัมมนา 2 โดยครั้งแรกวันที่ 1 ก.ย.58 สัมมนา “มิติใหม่ลงทุนนอกด้วยตัวเอง" เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ลงทุนที่ต้องการจะไปลงทุนในต่างประเทศด้วยตัวเอง ส่วนครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นในเดือน พ.ย.58

นอกจากนี้ ธปท.ยังจัดทำหนังสือคู่มือการลงทุน “มิติใหม่ลงทุนนอกด้วยตนเอง" ซึ่งเนื้อหาจะประกอบด้วย ข้อพิจารณาก่อนการลงทุน, ผลตอบแทนและความเสี่ยง, ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน, asset allocation,ช่องทางและขั้นตอนการลงทุนในต่างประเทศ และการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ