In Focusระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD: แก้ปัญหา หรือ บานปลาย ?

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 10, 2016 14:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เรื่องนี้เริ่มขึ้นช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559… เมื่อกระทรวงกลาโหมแห่งประเทศเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาต่างมีความเห็นตรงกันว่าการทดสอบนิวเคลียร์และการยิงจรวดพิสัยไกลของเกาหลีเหนือนั้นแสดงถึงแสนยานุภาพในการทำลายล้างระดับสูง รวมถึงเป็นภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งสองฝ่ายจึงตัดสินใจเปิดฉากการเจรจาในประเด็นการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD ให้กับกองกำลังสหรัฐในเกาหลีใต้ (USFK) เพื่อยกระดับการป้องกันขีปนาวุธร่วมกันอย่างเป็นทางการขึ้น และมีกำหนดติดตั้งให้แล้วเสร็จอย่างช้าที่สุดภายในปี 2560

THAAD คืออะไร?

THAAD ในที่นี้ย่อมาจาก Terminal High Altitude Area Defense ซึ่งก็คือระบบยิงสกัดขีปนาวุธจากค่ายล็อกฮีด มาร์ติน ที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำลายขีปนาวุธพิสัยใกล้, กลาง และสูง ซึ่งมีพิสัยยิงถึง 200 กิโลเมตร อีกทั้งยังสามารถทำลายขีปนาวุธมุ่งโจมตีได้ที่พิกัดความสูงถึง 150 กิโลเมตรจากพื้นดิน ทำงานโดยใช้พลังงานจลน์เป็นแรงกระแทกทำลายหัวรบขีปนาวุธของฝ่ายตรงข้ามโดยที่ไม่ต้องติดตั้งหัวรบในตัวเองแต่อย่างใด

สำหรับขั้นตอนการทำงานของ THAAD นั้น จะเริ่มขึ้นเมื่อศัตรูเริ่มยิงขีปนาวุธโจมตี ระบบเรดาร์ของ THAAD จะตรวจจับขีปนาวุธนั้นและรายงานไปยังศูนย์ควบคุมและบัญชาการ ซึ่งจะสั่งการปล่อยจรวดต่อต้านขึ้นไปทำลายขีปนาวุธเป้าหมาย ในขณะที่ขีปนาวุธนั้นเข้าสู่วิถียิงระยะสุดท้าย ส่วนฐานยิงเคลื่อนที่ของ THAAD นั้นสามารถบรรทุกจรวดต่อต้านได้ถึง 8 ลูกในคราวเดียวกัน

ทั้งนี้ THADD 1 ระบบประกอบไปด้วยเครื่องยิงที่เคลื่อนที่ได้จำนวน 6 เครื่อง, จรวดเข้าสกัดกั้นจำนวน 48 ลูก, ระบบเรดาร์ที่ติดตั้งบนเครื่องบิน และระบบควบคุมการยิงจำนวน 5 ระบบ นับเป็นหนึ่งในระบบป้องกันขีปนาวุธที่ทันสมัยที่สุดในโลก โดยสามารถสกัดกั้นและทำลายขีปนาวุธข้ามทวีปทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกชั้นบรรยากาศโลกได้ด้วย

ฐานที่มั่น

สำหรับสถานที่ติดตั้งระบบยิงสกัดขีปนาวุธในครั้งนี้ สำนักข่าวยอนฮับของเกาหลีใต้รายงานว่า คณะทำงานร่วมของทั้ง 2 ฝ่ายได้พิจารณาเรื่องการให้ความสำคัญสูงสุดต่อประเด็นด้านประสิทธิภาพทางการทหารและความปลอดภัยของประชาชนในท้องถิ่น โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศ, เข้าไปตรวจสอบสถานที่จริง และจำลองสถานการณ์ขึ้นมา จนได้ข้อสรุปว่าพื้นที่แถบซองจู จังหวัดกยองซังเหนือ อันเป็นเมืองภูเขาทางภาคใต้ของประเทศนั้นเป็นสถานที่ซึ่งเหมาะสมที่สุด เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กว่า 60% ของประเทศ

นอกจากนี้ เมืองซองจูยังมีข้อได้เปรียบในการคุ้มครองป้องกันสถานที่สำคัญ ๆ อาทิ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คลังน้ำมัน ตลอดจนกองทหารพันธมิตรเกาหลีใต้-สหรัฐ ซึ่งก็รวมไปถึงค่ายฮัมฟรีส์ (Camp Humphreys) ฐานทัพทางทหารแห่งใหม่ของสหรัฐที่กองกำลังเกือบ 30,000 นายซึ่งประจำอยู่ในเกาหลีใต้มีกำหนดจะโยกย้ายเข้าไปภายในปีหน้า

เหตุผลหลักอีกข้อหนึ่งที่ดูเหมือนเป็นปัจจัยที่นำมาสู่การตัดสินใจครั้งนี้ก็คือ เมืองซองจูตั้งอยู่ค่อนข้างห่างไกลจากประเทศจีน ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการติดตั้งระบบดังกล่าวอย่างแข็งกร้าวมาโดยตลอดนั่นเอง

ท่าทีจากจีนและรัสเซีย

การหารือกันระหว่างสหรัฐและเกาหลีใต้ในประเด็น THAAD นั้น มีเป้าหมายเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการติดตั้งและใช้งานระบบป้องกันขีปนาวุธบนคาบสมุทรเกาหลีโดยเร็วที่สุด ซึ่งระบบดังกล่าวจะมุ่งเป้าไปที่เกาหลีเหนือเท่านั้น ทว่าจีนและรัสเซียต่างไม่เห็นด้วยต่อการดำเนินการดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากระบบเรดาร์ของ THAAD สามารถสอดแนมพื้นที่ต่าง ๆ ของทั้ง 2 ประเทศได้อย่างง่ายดาย อันจะเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใดที่จีนซึ่งเป็นชาติมหามิตรเพียงหนึ่งเดียวของประเทศที่ลำบากยากแค้นและถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติ อีกทั้งยังต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารและน้ำมันจากจีนเป็นหลักอย่างเกาหลีเหนือ จะออกโรงประณามถึงการกระทำดังกล่าว โดยหนังสือพิมพ์พีเพิ่ล เดลี่ของจีนรายงานว่า การกระทำของเกาหลีใต้อาจส่งผลกระทบด้านลบในรูปแบบ ‘โดมิโน เอฟเฟคท์’ นอกจากนี้เกาหลีใต้อาจเป็นเป้าหมายแรกของจีนในการแสดงออกถึงความขัดแย้งที่มีกับสหรัฐฯ

ด้านสำนักประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ก็โต้กลับไปว่า จีนควรลดความแข็งกร้าวของเกาหลีเหนือลง พร้อมเน้นย้ำว่าการติดตั้งระบบ THAAD จะไม่จำเป็นเลยถ้าไม่มีการคุกคามจากเกาหลีเหนือก่อน

ทั้งนี้ จีนเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ โดยมีสัดส่วนการส่งออกถึง 25% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด ในประเทศเกาหลีใต้เองจึงมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวจนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์และลุกลามไปสู่การชุมนุมประท้วงหลายครั้ง ด้วยเหตุผลด้านความสัมพันธ์ในมิติต่าง ๆ ที่จะบานปลายตามมาในเวลาอันใกล้

เมื่อไม่นานมานี้สำนักข่าว allkpop รายงานถึงกระแสข่าวลือที่แพร่สะพัดว่า ทางการจีนเตรียมประกาศห้ามศิลปินจากประเทศเกาหลีใต้เข้ามาทำกิจกรรมในประเทศ อีกทั้งยังห้ามไม่ให้จัดกิจกรรมหรือการแสดงต่าง ๆ ตามประกาศของสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีนที่ระบุว่า รัฐบาลมีแผนจำกัดการเข้ามาจัดกิจกรรมของศิลปินเกาหลีใต้ในประเทศจีน แต่ยังไม่ได้ระบุขอบเขตอย่างชัดเจน อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้จึงเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกัลความเป็นไปได้ที่จะสูญเสียตลาดสำคัญที่สุดสำหรับวงการเพลงและซีรีส์ซึ่งสร้างกระแสในจีนได้อย่างถล่มทลายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ทางฝั่งประเทศรัสเซียก็ได้ออกแถลงการณ์ว่า สหรัฐกำลังทำลายดุลยภาพทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคดังกล่าวเช่นกัน และการติดตั้งระบบ THAAD โดยไม่นำพาต่อการคัดค้านอย่างเด็ดเดี่ยวของรัสเซียจะก่อให้เกิดผลร้ายแรงตามมา และจะยิ่งทำให้ปัญหานิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีแก้ยากขึ้นไปอีก พร้อมประณามว่าการตัดสินใจดังกล่าวนั้นบ้าบิ่น ทั้งยังเป็นสิ่งที่รับไม่ได้อย่างรุนแรง

เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมรัสเซียแถลงว่า รัสเซียและจีนจะจัดการฝึกซ้อมการป้องกันขีปนาวุธโดยอาศัยความช่วยเหลือของระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ทั้งสองฝ่ายจัดการฝึกร่วมเช่นนี้ นับเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปถึงสหรัฐ และยังเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือกันทางการทหาร ภายหลังจากที่มีฉันทามติทางการทูตเกี่ยวกับระบบป้องกันขีปนาวุธดังกล่าว

และเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2559 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้แถลงการณ์ยืนหยัดเรียกร้องให้ร่วมมือกันเผชิญหน้ากับการท้าทายและภัยคุกคามจากขีปนาวุธนำวิถีโดยยินดีมากกว่าที่จะเผชิญหน้ากับการแพร่กระจายขีปนาวุธนำวิถีภายในกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศและการทูตเชิงการเมือง ซึ่งไม่สามารถเสียสละความมั่นคงของประเทศกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อประโยชน์ของประเทศอีกกลุ่มหนึ่งได้

ล่าสุด เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งรัสเซีย กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า การตัดสินใจติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD ในเกาหลีใต้นั้น เป็นการยั่วยุจากฝั่งอเมริกา และการตัดสินใจดังกล่าวได้ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเกาหลีใต้และรัสเซียที่พัฒนาขึ้นอย่างแข็งแกร่งขึ้นมาตลอดหลายปีลง

ท่าทีของผู้คนในประเทศ

ใช่เพียงแค่มหาอำนาจ 2 ชาตินี้เท่านั้นที่ออกโรงประณามการติดตั้งระบบดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่ของเมืองซองจูก็เกรงว่า ระบบเรดาร์ซึ่งมีกำลังสูงอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพลเมืองและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนทำให้ชุมชนของพวกเขาตกเป็นเป้าหมายทางทหารอีกด้วย

สำหรับพรรคฝ่ายค้านเกาหลีใต้ก็มิได้ให้การสนับสนุนแผนติดตั้งระบบ THAAD เท่าที่ควร มีเพียง ส.ส.ฝ่ายซ้ายและนักเคลื่อนไหวบางคนเท่านั้นที่กล้าออกมาวิจารณ์เรื่องนี้อย่างเปิดเผย โดยให้เหตุผลว่าการติดตั้งระบบ THADD จะเป็นการดึงเอาประเทศตนเองเข้าไปร่วมกระบวนการประจัญหน้าระหว่างอเมริกากับจีนและรัสเซีย ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อถึงเวลานั้นเกาหลีใต้ย่อมกลายเป็นเป้าของการถูกโจมตีอันดับแรก

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การที่อเมริกาพยายามกดดันให้เกาหลีเหนือให้คำมั่นว่าจะเลิกผลิตและทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ แต่ก็ไม่ยอมรับรองความปลอดภัยให้ คือการเรียกร้องที่เอาแต่ได้ฝ่ายเดียว การแก้ปัญหาเช่นนี้จึงไม่มีทางบรรลุผลได้ มิหนำซ้ำยังจะนำระบบ THAAD มากดดันเกาหลีเหนืออีก ก็ยิ่งจะทำให้การเผชิญหน้ารุนแรงยิ่งขึ้น ความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามก็มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

อนึ่ง เจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯ เคยเตือนเกาหลีใต้ไว้นานแล้วว่าระบบป้องกันขีปนาวุธดังกล่าวอาจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเกาหลีใต้ ทว่าก่อนหน้านี้โสมขาวยังมีท่าทีลังเลเนื่องจากไม่อยากผิดใจกับชาติมหาอำนาจอย่างจีน จนกระทั่งความอดกลั้นขาดสะบั้นลงเมื่อเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธพิสัยไกลครั้งล่าสุด

แม้ THAAD จะยังมิได้ลงหลักปักฐานอย่างเป็นรูปธรรมในดินแดนโสมขาว แต่ท่าทีแข็งกร้าวของมหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างจีนและรัสเซียก็ส่งสัญญาณเตือนมาอย่างไม่ลดละ คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าเมื่อต่างฝ่ายต่างยืนยันถึงเหตุผลของตนจนรอมชอมกันไม่ได้ ระบบป้องกันขีปนาวุธดังกล่าวจะกลายเป็น ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ ที่นำความพังพินาศมาสู่ภูมิภาคนี้หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ