สัมมนาเวทีสาธารณะเรื่อง “การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ครอบคลุม (Comprehensive Economic Partnership Agreement: CEPA) ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี

ข่าวต่างประเทศ Thursday October 2, 2014 11:22 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๗ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการสัมมนาเวทีสาธารณะเรื่อง “การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ครอบคลุม (Comprehensive Economic Partnership Agreement: CEPA) ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)” ณ โรงแรมสุโกศล โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังจากหน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไปกว่า ๑๐๐ คน

นายดำรง ใคร่ครวญ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ตัวเลขความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ต่ำกว่าศักยภาพที่มีอยู่ รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายจึงได้ตกลงกันเมื่อปี ๒๕๕๕ ให้ทำการศึกษาร่วมกันถึงความเป็นไปได้ ข้อดี ข้อเสีย ของการจัดทำ CEPA บนสมมติฐานว่า ควรเป็นความตกลงที่ครอบคลุมทั้งในเรื่องการเปิดตลาดสินค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงาน รวมทั้งการดำเนินความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์โดยเฉพาะต่อการพัฒนาขีดความสามารถของไทย ทั้งนี้ ฝ่ายไทยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นผู้สนับสนุนทุนให้คณะนักวิจัยจากสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นผู้ทำการศึกษา

จากนั้น ผศ.ดร.วิศาล บุปผเวส หัวหน้าคณะนักวิจัย และ ดร.อัครพล ฮวบเจริญ ได้นำเสนอผลการศึกษา และชี้ว่า การจัดทำ CEPA นี้ น่าจะช่วยส่งเสริมผลประโยชน์ให้แก่ทั้ง ๒ ฝ่าย โดยเป็นทั้งการต่อยอดและลดทอนอุปสรรคจากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - เกาหลี (ASEAN-Korea Free Trade Area: AKFTA) ทั้งในด้านการค้า การลงทุน บริการ ทรัพย์สินทางปัญญา และแรงงาน โดยสินค้าไทยที่มีโอกาสสูงที่จะเข้าไปทำตลาดในเกาหลีใต้หากมีการลดอุปสรรคทางภาษี เช่น อาหารทะเลกระป๋อง น้ำเชื่อม ข้าวโพดหวานกระป๋อง เอทิลแอลกอฮอล์ เป็นต้น

นอกจากนี้ คณะนักวิจัยเห็นว่า ไทยควรมีการทบทวนโครงสร้างการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นระบบและมียุทธศาสตร์ เพื่อเป็นการสร้างกรอบที่เป็นมาตรฐานและใช้ในการเจรจาทำความตกลงด้านการค้าการลงทุนกับประเทศต่างๆได้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนควรมีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในประเทศ และการอำนวยความสะดวกทางการค้าอื่นๆ เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และอาจไม่จำเป็นต้องใช้การลดภาษีนิติบุคคลเพื่อกระตุ้นการลงทุนเท่านั้น แต่อาจใช้แรงจูงใจด้วยการลดภาษีเครื่องจักรซึ่งใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าของตน นอกจากนี้ การจะเปิดเสรีการค้าการลงทุนนั้น ไม่ควรเปิดให้ประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่ควรเปิดให้แก่ประเทศที่มีศักยภาพที่จะเป็นประโยชน์ต่อไทยให้มากที่สุด

ต่อมานายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และผศ.ดร. อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันอภิปราย โดยต่างเห็นพ้องว่า CEPA น่าจะมีส่วนช่วยให้ไทยมีโอกาสขยายการค้าการลงทุนกับเกาหลีใต้มากขึ้น ซึ่งหากประเทศคู่แข่งอื่น ๆ ของไทยในภูมิภาคต่างหันไปทำ FTA โดยตรงกับเกาหลีใต้ ในขณะที่ไทยไม่ทำ ก็อาจจะทำให้ไทยเสียประโยชน์ได้

นอกจากนี้ คณะวิทยากรยังเห็นพ้องด้วยว่า ไทยควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่มีการกำหนดมาตรฐานสินค้าจำนวนมากเพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าให้สามารถการแข่งขันกับประเทศอื่นได้อยู่เสมอ ทั้งนี้อาจมีความร่วมมือกับเกาหลีใต้เพื่อเรียนรู้ know-how เพื่อมาพัฒนาสินค้าไทยด้วย แต่ไม่ว่าจะมีการเปิดการค้าเสรีระหว่างกันหรือไม่ ภาคเอกชนของไทยควรตื่นตัวและพัฒนาตนเองอยู่เสนอเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ นอกจากนี้ ไทยควรดูตัวอย่างจากเกาหลีใต้ในการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ โดยให้เป็นฐานการผลิตสินค้าที่เน้นปริมาณเนื่องจากค่าแรงถูก แต่ให้คงฐานการผลิตสินค้าคุณภาพสูง และศูนย์วิจัยและพัฒนาไว้ในประเทศตนเองเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ