ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ ๒๖ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๐

ข่าวต่างประเทศ Friday November 17, 2017 13:51 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวประกาศผลผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ ๒๖ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ณ โรงพยาบาลศิริราช ร่วมกับศาสตราจารย์ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ และนายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๐ มีดังต่อไปนี้

สาขาการแพทย์ ได้แก่ โครงการจีโนมมนุษย์ (The Human Genome Project) จากสถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์ ในสังกัดของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา

โครงการจีโนมมนุษย์ เป็นโครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่มีส่วนสำคัญในความก้าวหน้าทางความรู้เกี่ยวกับพันธุศาสตร์และรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นกลไกในการกำกับและควบคุมกระบวนการของสิ่งมีชีวิตในทุกขั้นตอน จึงช่วยให้เกิดความเข้าใจกลไกการทำงานของเซลล์และอวัยวะต่าง ๆ อาทิ กลไกการกลายพันธุ์และกลไกการเกิดโรค องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาจีโนมมนุษย์ และการถอดรหัสพันธุกรรม ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางการแพทย์หลายด้าน ทั้งการวินิจฉัยโรคพันธุกรรมที่พบน้อยและถ่ายทอดในครอบครัวไปถึงโรคที่พบบ่อยในประชากร เช่น โรคมะเร็ง และโรคติดเชื้อ การตรวจคัดกรองในประชากรเพื่อค้นหาผู้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคตั้งแต่ระยะแรก ๆ จึงเป็นประโยชน์ในการควบคุมหรือป้องกันก่อนการดำเนินโรคจะแย่ลง อีกทั้งช่วยให้เกิดการพัฒนายารักษาโรคที่มีความแม่นยำ และทำให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ความรู้ที่ได้จากโครงการจีโนมมนุษย์นั้น ก่อให้เกิดการพัฒนาในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์อย่างก้าวกระโดด และได้รับการยอมรับว่าศาสตร์แขนงนี้มีความสำคัญยิ่งต่อความรู้ความเข้าใจในการเกิดโรคต่าง ๆ เปลี่ยนจากการวินิจฉัยและรักษาโรคที่ปลายเหตุมาเป็นการวิเคราะห์ต้นเหตุและค้นหาปัจจัยทางพันธุกรรมที่เกี่ยวกับการเกิดโรค เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม ความก้าวหน้าทางความรู้ด้านพันธุกรรมของมนุษย์จากความร่วมมือทุ่มเทค้นคว้าของโครงการจีโนมมนุษย์นี้ ถือเป็นความสำเร็จที่ก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลต่อมวลมนุษยชาติทั่วโลกอย่างชัดเจน

สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศาสตราจารย์พอร์ทเตอร์ ดับเบิลยู แอนเดอร์สัน จูเนียร์ นายแพทย์จอห์น บี รอบบินส์ แพทย์หญิงราเชล ชเนียสัน และศาสตราจารย์นายแพทย์มธุราม ซานโตชาม (Professor Porter W. Anderson, Jr., Dr. John B. Robbins, Dr. Rachel Schneerson and Professor Mathuram Santosham) ประเทศสหรัฐอเมริกา

ศาสตราจารย์พอร์ทเตอร์ ดับเบิลยู แอนเดอร์สัน จูเนียร์ นายแพทย์จอห์น บี รอบบินส์ และแพทย์หญิงราเชล ชเนียสัน ได้ร่วมกันพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อฮีโมฟีลุส อินฟลูเอนเซ ชนิดบี หรือเรียกสั้นๆ ว่า ฮิบ (Haemophilus influenza type B - Hib) ซึ่งเป็นแบคทีเรียสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็ก วัคซีนชนิดแรกที่ผลิตขึ้นเป็นวัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์ แต่พบว่าวัคซีนโพลีแซคคาไรด์นี้ไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า ๑๘ เดือน ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุด จึงได้มีการปรับปรุงจากวัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์ มาสู่ชนิดคอนจูเกต ซึ่งเป็นวัคซีนมาตรฐานในปัจจุบัน และศาสตราจารย์นายแพทย์มธุราม ซานโตชาม เป็นผู้นำโครงการฮิบ อินนิชิเอทีฟ (Hib Initiative) ซึ่งผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนฮิบสำหรับเด็กทั่วโลกรวมถึงในประเทศกำลังพัฒนา ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของเด็กหลายร้อยล้านคนทั่วโลก

ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ในวันพุธที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๑ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ