รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 6 มีนาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 6, 2015 10:59 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 มีนาคม 2558

Summary:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ. 58 ลดลงอยู่ที่ระดับ 68.4 จุด

2. นายกรัฐมนตรีจีนประกาศเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 58 ที่ "ประมาณร้อยละ 7"

3. อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์ เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ. 58 ลดลงอยู่ที่ระดับ 68.4 จุด
  • นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ระดับ 68.4 จุด จากระดับ 69.7 จุด ในเดือนก่อนหน้า จากผู้บริโภคที่มีความกังวลต่อความไม่แน่นอนด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และราคาน้ำมันภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงตกต่ำ และภาพรวมการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีดังกล่าวที่ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกัน ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจซึ่งมีระดับการเติบโตที่ชะลอลง โดย GDP ไทยปี 57 ที่ประกาศตัวเลขเมื่อเดือน ก.พ. 58 ที่ผ่านมา ขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.7 ผนวกกับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการปรับโครงสร้างราคาส่งผลต่อความกังวลด้านต้นทุนกาครองชีพที่อาจสูงขึ้น อย่างไรก็ดี จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ทรงตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี กอปรกับปัจจัยเสริมด้านการใช้จ่ายของภาครัฐที่คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ตามโครงการลงทุนของภาครโดยเฉพาะการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เริ่มมีความชัดเจนในปีนี้ คาดว่าจะส่งผลดีต่อบรรยากาศการบริโภคและลงทุนในประเทศให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 3.9 (คาดการณ์ ณ เดือน ม.ค. 58)
2. นายกรัฐมนตรีจีนประกาศเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 58 ที่ "ประมาณร้อยละ 7"
  • ในพิธีเปิดการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (National People's Congress) ประจำปี 58 นายกรัฐมนตรีหลี่ เคอเฉียง ได้แถลงเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสำหรับปี 58 โดยกำหนดให้อยู่ที่ "ประมาณร้อยละ 7.0" ซึ่งลดลงจากเป้าหมายที่ประมาณร้อยละ 7.5 ในปี 57 นอกจากนี้ ยังได้ประกาศเป้าหมายเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญอื่น ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่ประมาณร้อยละ 3 อัตราการว่างงานไม่เกินร้อยละ 4.5 มูลค่าการส่งออกขยายตัวประมาณร้อยละ 6 อัตราการว่างงานไม่เกินร้อยละ 4.5 และการขยายตัวของปริมาณเงิน (M2) ไม่เกินร้อยละ 12
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การกำหนดเป้าหมายดังกล่าว เป็นไปตามที่ตลาดคาด และสอดคล้องกับการประมาณการณ์ขององค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เช่น IMF และธนาคารโลก ที่คาดว่าในปี 58 เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 6.8 และ 7.1 ตามลำดับ โดยการปรับลดเป้าหมายในครั้ เป็นการตอกย้ำจุดยืนของทางการจีนที่ต้องการให้น้ำหนักกับการปฏิรูปทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ทั้งการลดกำลังการผลิตส่วนเกิน การลดการก่อหนี้ การลดมลพิษ การต่อต้านคอร์รัปชั่น และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้พึ่งพาการลงทุนและการส่งออกลดลง เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ก็เป็นสัญญาณว่าทางการจีนจะไม่ปล่อยให้เศรษฐกิจชะลอลงอย่างรวดเร็วจนเกินไป (Hard Landing) โดยผู้นำจีนให้คำมั่นว่า พร้อมที่จะใช้นโยบายทางคลังแบบขาดดุลเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เพื่อสนับสนุนกาขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าในปี 58 การขาดดุลงบประมาณจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.3 ขอ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.1 ในปี 57 และทางการจีนจะดำรงการดำเนินนโยบายทางการคลังอย่างรอบคอบ เพื่อรักษาเสถียรภาพทั้งด้านราคาและอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจจีนจะมีทิศทางขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง แต่ด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก จนทำให้มีการประเมินว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนที่ร้อยละ 7 ในปีนี้ จะก่อให้เกิดอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการในโลกมากเทียบเท่ากับที่จีนมีอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 14 ด้วยขนาดเศรษฐกิจเมื่อ 10 ปีก่อน
3. อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์ เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวอยู่ภายในช่วงคาดการณ์ของธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (Banko Sentral ng Pilipinas: BSP) ที่ร้อยละ 2.2 - 3.0 สอดคล้องกับการตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ BSP ที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 58 ที่ผ่านมา โดย BSP จะมีการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 26 มี.ค. 58 นี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อฟิลิปปินส์ที่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 17 เดือน เนื่องจากราคาสินค้าส่วนใหญ่ทรงตัวจากเดือนก่อน แต่ราคาอาหารซึ่งมีน้ำหนักในการคำนวณมากที่สุด (ร้อยละ 39.0) ยังคงขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 4.8 ตลอดจนราคาหมวดที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค และคมนาคมขนส่งปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากราคาน้ำมันในตลาดโลกทีเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนแต่ยังคงอยูในระดับต่ำ เป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าอุปสงค์ในประเทศซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของฟิลิปปินส์ล่าสุด ณ วันที่ 4 มี.ค. 58 ปรับเพิ่มขึ้นมากมาปิดที่ระดับ 7,847.83 จุด ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดในประวัติการณ์

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ