บทสรุปสำหรับผู้บริหาร การใช้พลังงานของครัวเรือน พ.ศ.2557

ข่าวผลสำรวจ Monday May 25, 2015 13:30 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ประมวลผลข้อมูลการใช้พลังงานของครัวเรือน พ.ศ. 2557 จากโครงการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2557 ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลในทุกจังหวัดทั่วประเทศทั้งในเขตและนอกเขตเทศบาลตั้งแต่เดือนมกราคม - ธันวาคม 2557 จำนวน 52,000 ครัวเรือน

ข้อมูลที่นำมาประมวลผล ได้แก่ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมัน และแก๊สชนิดต่าง ๆ และการใช้พลังงานในรูปแบบอื่น (ไฟฟ้า ถ่านไม้และฟืน) สรุปผลที่สำคัญได้ดังนี้

ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือน

ผลจากการสำรวจในปี 2557 พบว่า ครัวเรือนทั่วประเทศมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยเดือนละ 20,892 บาท เป็นค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน 2,377 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.4 ของค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานส่วนใหญ่ (ร้อยละ 69.9) เป็นค่าใช้จ่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โดยพบว่าแก๊สโซฮอล์มีสัดส่วนสูงสุด คือ ร้อยละ 33.0 ในขณะที่น้ำมันไบโอดีเซลและพลังงานทดแทนประเภทอื่น ๆ มีสัดส่วนต่ำสุด คือ ร้อยละ 0.1 นอกจากนี้เป็นค่าใช้จ่ายพลังงานประเภทอื่นอีกร้อยละ 30.1 ของค่าใช้จ่ายด้านพลังงานทั้งสิ้น ได้แก่ ไฟฟ้า (ร้อยละ 28.5) และถ่านไม้และฟืน (ร้อยละ 1.6)

สำหรับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานโดยรวมของครัวเรือนในแต่ละภาค ในปี 2557 พบว่า ครัวเรือนในกรุงเทพมหานครและ 3 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ) ใช้จ่ายด้านพลังงานมากที่สุดเฉลี่ยเดือนละ 3,291 บาท ซึ่งคิดเป็น 1.9 เท่าของครัวเรือนในภาคเหนือ ซึ่งเป็นภาคที่มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานน้อยที่สุด (1,774 บาท) รองลงมา ได้แก่ ครัวเรือนในภาคใต้ (2,581 บาท) ภาคกลาง (2,533 บาท) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (1,863 บาท) ตามลำดับ

หากพิจารณาค่าใช้จ่ายจำแนกตามประเภทของพลังงาน พบว่า ในภาพรวมของประเทศค่าใช้จ่ายสำหรับแก๊สโซฮอล์สูงสุด รองลงมาคือไฟฟ้าและน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับที่พบในกรุงเทพมหานครและ 3 จังหวัด ภาคกลาง และภาคเหนือ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือค่าใช้จ่ายสำหรับแก๊สโซฮอล์สูงเป็นอันดับหนึ่งเช่นกัน แต่ค่าใช้จ่ายสำหรับน้ำมันดีเซลสูงกว่าไฟฟ้า สำหรับภาคใต้มีความแตกต่างจากภาคอื่น ๆ คือ ค่าใช้จ่ายสำหรับน้ำมันดีเซลสูงเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือแก๊สโซฮอล์และไฟฟ้า ทั้งนี้อาจเนื่องจากส่วนใหญ่ทำการประมง และเป็นที่น่าสังเกตว่ากรุงเทพมหานคร และ 3 จังหวัดมีการใช้ไฟฟ้าและแก๊สโซฮอล์สูงกว่าภาคอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยพบว่าค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าสูงเป็น 2.8 เท่าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภาคที่มีค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าต่ำสุด และค่าแก๊สโซฮอล์สูงเป็น 2.1 เท่าของภาคเหนือซึ่งเป็นภาคที่มีค่าใช้จ่ายด้านแก๊สโซฮอล์ต่ำสุด สำหรับการใช้ถ่านไม้และฟืน พบว่า ครัวเรือนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าใช้จ่ายมากกว่าภาคอื่น คือ เฉลี่ยเดือนละ 88 บาทต่อครัวเรือน ในขณะที่น้ำมันไบโอดีเซลและพลังงานทดแทนประเภทอื่น ๆ มีการใช้น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

เมื่อจัดแบ่งครัวเรือนทั่วประเทศออกเป็น 5 กลุ่มเท่า ๆ กัน โดยเรียงลำดับตามค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนจากน้อยไปมาก (กลุ่มที่ 1 มีค่าใช้จ่ายต่ำสุด และกลุ่มที่ 5 มีค่าใช้จ่ายสูงสุด) พบว่า กลุ่มที่ 1 มีสัดส่วนค่าน้ำมันเบนซิน รวมทั้งถ่านไม้และฟืนสูงกว่าครัวเรือนในกลุ่มอื่น ๆ แต่มีสัดส่วนค่าน้ำมันดีเซลและแก๊สสำหรับยานพาหนะต่ำกว่ากลุ่มอื่น ๆ ส่วนกลุ่มที่ 5 มีสัดส่วนค่าแก๊สโซฮอล์ และแก๊สสำหรับยานพาหนะสูงสุด แต่มีสัดส่วนค่าไฟฟ้าและแก๊สใช้ในครัวเรือนต่ำสุด

เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือน

เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือนทั่วประเทศ ปี 2556 และ 2557 พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มขึ้นชัดเจน จาก 2,084 บาท เป็น 2,377 บาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14.1 เมื่อพิจารณาตามประเภทของพลังงาน พบว่า แก๊สโซฮอล์มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึงร้อยละ 28.5 (จาก 610 เป็น 784 บาท) รองลงมา คือ ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 (จาก 565 เป็น 676 บาท) และแก๊สสำหรับยานพาหนะเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 (จาก 44 เป็น 52 บาท) สำหรับน้ำมันเบนซิน พบว่า มีค่าใช้จ่ายลดลงร้อยละ 27.1 (จาก 255 เป็น 186 บาท) ทั้งนี้อาจเป็นเพราะราคาที่สูง ทำให้ประชาชนเลือกใช้แก๊สโซฮอล์แทน

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ