สวนดุสิตโพล: “ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างอนุบัญญัติตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551”

ข่าวผลสำรวจ Thursday November 27, 2014 16:43 —สวนดุสิตโพล

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างอนุบัญญัติตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยทำการเก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 11 – 60 ปี ทั่วประเทศ รวม 14 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ชลบุรี เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต จำนวน 3,163 คน ระหว่างเดือนสิงหาคม ถึง กันยายน 2557 พบว่า

สถานที่ที่เป็นที่นิยมซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ ร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ สถานบันเทิงและร้านอาหาร โดยสถานที่ที่ดื่มคือ บ้านตนเอง บ้านเพื่อน หอพัก สถานบันเทิง และร้านอาหาร เครื่องดื่มที่นิยมดื่มมากที่สุดคือ เบียร์ รองลงมาคือ สุราสี/สุราแดง ทั้งนี้เพราะหาซื้อได้สะดวก ดื่มง่าย ในรอบ 12 เดือน มีผู้ดื่ม ร้อยละ 41.51 ไม่ดื่ม ร้อยละ 58.49 ความถี่ในการดื่มส่วนใหญ่นานๆครั้ง (1-11 วัน/ปี) โดยกลุ่มเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 15-19 ปี ดื่ม ร้อยละ 33.61 แม้ว่าจะไม่ใช่พฤติกรรมการดื่มเป็นประจำทุกวัน แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากลุ่มเยาวชนมีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีโอกาสเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายเช่นกัน

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ภาพโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แม้มีเพียงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ สี ตัวอักษร ของผลิตภัณฑ์บางยี่ห้อเท่านั้น แต่กลุ่มตัวอย่างก็ยังสามารถรับรู้ได้ชัดเจนว่าเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อหรือชื่อของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นๆ ทั้งนี้ สิ่งที่ดึงดูดความสนใจในภาพโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุด คือ เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ รองลงมา คือ สีสัน และตัวอักษร

กลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 85 เห็นด้วยกับการกำหนดสถานที่ห้ามขายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณสถานีรถไฟและในขบวนรถไฟ สถานีขนส่งสาธารณะ สนามกีฬา และท่าเรือสาธารณะ เพราะทำให้ผู้คนเข้าถึงหรือหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายและเป็นการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อื่นได้ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการถูกคุกคามทางเพศ/อนาจาร ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น และก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีอีกด้วย

กลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 88 เห็นด้วยกับการกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บน “ทาง” เพราะเป็นสถานที่สาธารณะ สามารถช่วยลดปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้ การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางทำให้ผู้บริโภคหาซื้อได้ง่าย อีกทั้งเป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ สร้างความรำคาญและความไม่ปลอดภัยกับบุคคลอื่น ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทได้

กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 76 เห็นว่ารูปแบบข้อความคำเตือน ประกอบภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางโทรทัศน์มีขนาดเล็กเกินไปและอ่านคำเตือนเร็วเกินไป และร้อยละ 80 เห็นว่าควรเพิ่มขนาดของข้อความคำเตือนในป้ายโฆษณาจาก 1/4 เป็น 1/3 ของพื้นที่ และควรเพิ่มลักษณะของข้อความที่สั้น กระชับ และทำให้เห็นโทษหรือผลกระทบที่รุนแรง

กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 78 เห็นว่าภาพดารา นักกีฬา นักร้อง ผู้มีชื่อเสียง ที่ปรากฎบนฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลทำให้เกิดการจดจำยี่ห้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายขึ้น โดยทำให้เห็นว่าเครื่องดื่มนั้นๆ เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยม และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ไม่เคยดื่มสนใจดื่ม อีกทั้งร้อยละ 74 เห็นว่าการสนับสนุนกิจกรรม มีผลต่อการจดจำและการเลือกซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย

ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 75 เห็นด้วยกับการห้ามนำภาพดารา นักกีฬา นักร้อง ผู้มีชื่อเสียง แสดงบนบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ ร้อยละ 76.2 เห็นว่าการมีภาพคำเตือนส่งผลให้เกิดการตระหนักถึงโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และร้อยละ 75.4 เห็นว่าการมีภาพคำเตือนส่งผลให้ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ดีกว่าข้อความตัวอักษร

การกำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากวันสำคัญทางศาสนาเดิมที่มีการห้ามอยู่แล้ว ร้อยละ 87 เห็นว่าควรห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกวันพระมากที่สุด รองลงมาคือ วันสำคัญของศาสนาอื่น (เช่น วันตรุษอิสลาม) วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันสำคัญตามประเพณี เพราะช่วยส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดี ช่วยลดอุบัติเหตุและการทะเลาะวิวาท ช่วยลดปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และหากอนุญาตให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศอีกด้วย

ปัจจุบันยังพบเห็นพฤติกรรมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในบริเวณปั๊มน้ำมัน/ปั๊มแก๊ส ร้อยละ 24 และหอพัก ร้อยละ 20 ส่วนสถานที่ที่พบการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น บนยานพาหนะขณะอยู่บนทางทั้งรถส่วนตัวและรถโดยสาร ร้อยละ 18 และปั๊มน้ำมัน/ปั๊มแก๊ส ร้อยละ 16 เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบเห็นการขายในวันสำคัญทางศาสนา ร้อยละ 41

กลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยกับมาตรการที่กำหนดเพิ่มเติมให้มี สถานที่ต้องห้ามขาย/ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วันที่ห้ามขาย และการห้ามโฆษณาสื่อสารการตลาดรวมทั้งให้มีภาพคำเตือนบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนั้นยังให้ข้อเสนอแนะให้ภาครัฐเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงต่อผู้กระทำผิดกฎหมาย และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง โดยเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่และออกตรวจตราอย่างสม่ำเสมอ

--สวนดุสิตโพล--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ