ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้อำนวยการโครงการ ABAC Consumer Index บัณฑิตวิทยาลัยบริหารธุรกิจ และนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญร่วมกับ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ (Social Innovation Management and Business Analysis, ABAC — SIMBA) โดยการสนับสนุนของธนาคารกรุงศรีฯ เปิดเผย ผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง พฤติกรรมการรับประทานอาหารแช่แข็งของคนเมืองกรุง จำนวน 602 ตัวอย่าง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ดำเนินโครงการระหว่างเดือนพฤษภาคม — สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยผลสำรวจทั้งหมดนี้สามารถดึงข้อมูลได้ฟรีทั้งหมดที่ www.abacpolldata.au.edu
ผลการสำรวจพบว่า อาหารปรุงสำเร็จที่ตัวอย่างเลือกรับประทานมากที่สุด คือ อาหารตามสั่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 42.7 ในขณะที่อาหารที่เลือกรับประทานเป็นอันดับสุดท้าย คือ อาหารแช่แข็งพร้อมรับประทาน หรือคิดเป็นร้อยละ 6.2 เมื่อถามถึงการทานอาหารแช่แข็งนั้น พบว่า ตัวอย่างเกินครึ่ง หรือร้อยละ 57.5 ทานอาหารแช่แข็ง ในขณะที่ร้อยละ 42.5 ไม่ทาน โดยให้เหตุผล 3 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 64.5 ระบุอาหารแช่แข็งนั้นไม่อร่อย รองลงมาคือ ร้อยละ 44.5 ระบุราคาแพง และร้อยละ 31.0 ระบุ ผงชูรสเยอะ ตามลำดับ
ส่วนประเภทของอาหารแช่แข็งที่เป็นที่นิยมและชอบทานมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อาหารที่เสริฟพร้อมกับ (ร้อยละ 28.6) รองลงมาคือ อาหารว่างแช่แข็งปรุงสำเร็จ (ร้อยละ 21.7) อาหารประเภทเส้น/ก๋วยเตี๋ยว (ร้อยละ 15.1) ตามลำดับ
ผลการสำรวจยังพบว่า ในการเลือกซื้ออาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานนั้น พบว่า ตัวอย่างเกิน 4 ใน 5 หรือร้อยละ 80.9 จะเลือกดูที่ราคาเหมาะสมทุกครั้ง ร้อยละ 75.1 จะดูที่บรรจุภัณฑ์/แพคเกจทุกครั้ง ร้อยละ 70.4 จะดูวันผลิต/วันหมดอายุทุกครั้ง ในขณะที่ ร้อยละ 37.4 จะดูตารางคุณค่าทางอาหาร/โภชนาการทุกครั้ง
ในขณะเดียวกัน เมื่อถามถึงความคาดหวังต่ออาหารแช่แข็ง 3 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 62.5 ระบุความสะอาด ถูกสุขอนามัย ร้อยละ 49.1 ระบุรสชาติที่อร่อย และร้อยละ 37.5 ระบุเมนูที่หลากหลาย ตามลำดับ
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 53.8 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 46.2 เป็นเพศชาย ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามช่วงอายุพบว่า ร้อยละ 19.1 ระบุอายุ 18-24 ปี ร้อยละ 25.9 อายุ 25-33 ปี ร้อยละ 19.3 อายุ 34-39 ปี ร้อยละ 35.7 ระบุอายุ 40-50 ปี เมื่อพิจารณาจำแนกตามการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 58.8 ระบุสำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 34.7 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 6.0 ระบุสำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี ร้อยละ 0.5 ไม่ระบุ และเมื่อพิจาณาตามสถานภาพสมรส พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 44.0 ระบุโสด ร้อยละ 50.7 ระบุสมรส และ ร้อยละ 2.2 ระบุหย่าร้าง และร้อยละ 3.1 ไม่ระบุ
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาอาชีพประจำที่ทำอยู่ในปัจจุบันพบว่า ร้อยละ 24.9 เป็นผู้ใช้แรงงาน/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 23.1 เป็นพนักงานบริษัท ร้อยละ 14.6 ค้าขายอิสระ/ส่วนตัว ร้อยละ 12.5 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 9.8 ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.1 เป็นลูกจ้างโรงงาน/สถานประกอบการ ร้อยละ 3.0 เป็นผ้ประกอบการ/เจ้าของกิจการ ร้อยละ 5.0 ระบุว่างงาน/พ่อบ้าน/แม่บ้าน ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ส่วนตัวต่อเดือนพบว่าร้อยละ 67.8 ระบุรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ร้อยละ 31.9 ระบุรายได้มากกว่า 15,000 บาทต่อเดือน และร้อยละ 0.3 ไม่ระบุ
สนใจติดต่อร่วมสนับสนุนเครือข่ายทางสังคมปฏิรูปดัชนีผู้บริโภคได้ที่ 02-719-1550 หรือ อีเมล์ [email protected]
--เอแบคโพลล์--