เอแบคโพลล์: สำรวจมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมโดยรัฐบาล

ข่าวผลสำรวจ Monday October 10, 2011 08:00 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง สำรวจมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมโดยรัฐบาล กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน สมาชิก อบต. พนักงานอบต. ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ น่าน นครสวรรค์ พิษณุโลก ชัยนาท อ่างทอง ลพบุรี สิงห์บุรี อยุธยา และปทุมธานี จำนวนทั้งสิ้น 10,12 คน ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 1 ตุลาคม — 8 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยการเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น สุ่มจังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน พบว่า

แกนนำชุมชนร้อยละ 59.8 รับรู้มาตรการต่างๆ ของรัฐบาลในการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามจำนวนมากหรือร้อยละ 40.2 ยังไม่ทราบชัดเจน โดยในกลุ่มที่ทราบชัดเจน พบว่า ร้อยละ 28.0 รับทราบว่ารัฐบาลให้กองทัพทุกเหล่าทัพช่วยเหลือชาวบ้าน รองลงมาคือร้อยละ 24.1 ให้ข้อมูลสถานการณ์น้ำท่วม ร้อยละ 21.7 บอกวิธีเร่งระบายน้ำออกทะเล ร้อยละ 21.5 ขุดลอกคูคลองระบายน้ำ และอื่นๆ ได้แก่ ใช้เรือใหญ่ดันน้ำ หรือเครื่องดันน้ำ ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการน้ำ รักษาเขตเศรษฐกิจ เขตเมือง และโครงการอาสาสมัครให้ภาคเอกชนเข้าช่วย เป็นต้น

เมื่อถามถึงความเพียงพอในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย แกนนำชุมชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.3 ระบุยังไม่เพียงพอ และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.3 ระบุว่าการช่วยเหลือของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ยังไม่ทั่วถึง อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.6 ระบุว่าสิ่งของที่นำไปบริจาคตรงกับความต้องการของประชาชน แต่เกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 31.4 ระบุยังไม่ตรงกับความต้องการ

ที่น่าพิจารณา คือ แกนนำชุมชนเกินครึ่งหรือร้อยละ 54.5 ยังไม่ทราบแนวทางช่วยเหลือประชาชนของรัฐบาลภายหลังน้ำลด นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.0 ยังไม่ทราบแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวภายหลังน้ำลด อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.7 เห็นว่าการส่งคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่แก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนเกิดประโยชน์ ในขณะที่ร้อยละ 17.3 ระบุไม่เกิดประโยชน์

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมภายหลังน้ำลด ตัวอย่างร้อยละ 32.0 ระบุควรใช้เวลา 1-2 เดือน ร้อยละ 27.4 ระบุใช้เวลา 3-4 เดือน ร้อยละ 1.3 ระบุใช้เวลา 5-6 เดือน และ แกนนำชุมชนส่วนใหญ่ร้อยละ 39.3 ระบุใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย 1 ปีขึ้นไป

อย่างไรก็ตามความต้องการเร่งด่วนของผู้ประสบภัยน้ำท่วนในขณะนี้คือ ร้อยละ 48.7 ระบุต้องการอาหารและน้ำสะอาด ร้อยละ 37.2 ระบุต้องการที่อยู่อาศัย ร้อยละ 5.2 ต้องการเรือ/เสื้อชูชีพ ร้อยละ 5.6 ระบุต้องการยารักษาโรค ร้อยละ 8.2 ระบุต้องการการฟื้นฟูจิตใจ/ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ ร้อยละ 6.6 ระบุต้องการให้ซ่อมเขื่อนให้เสร็จโดยเร็ว และ ร้อยละ 3.4 ระบุต้องการสาธารณูปโภค เช่นห้องน้ำ และ ไฟฟ้า เป็นต้น

ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า ในช่วงเวลานี้เสนอให้ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจับมือกันเปิดศูนย์แก้ภัยพิบัติแห่งชาติแบบบริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จหรือ One Stop Service กระจายตัวไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั้งกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีจับมือกันช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมแทนการลงพื้นที่แย่งชิงคะแนนนิยมแบบต่างคนต่างทำเพราะในช่วงเวลานี้คะแนนนิยมทางการเมืองไม่น่าจะสำคัญเท่าความปรองดองร่วมกันทำงานช่วยเหลือประชาชนให้พ้นภัยพิบัติ เนื่องจากการออกทีวีรวมการเฉพาะกิจคืนวันที่ 7 ของนายกรัฐมนตรีทำให้ชาวบ้านทราบเพียงว่าผู้ใหญ่คนไหนรับผิดชอบอะไร และทราบว่าสถานการณ์อาจเลวร้ายลงไปอีก จึงน่าจะมีสาระเพิ่มเติมบางประการที่ชาวบ้านจับต้องได้และเกิดการตอบสนองในภาคปฏิบัติ ได้แก่

ประการแรก จัดตั้งหน่วยบัญชาการกระจายตามพื้นที่ต่างๆ ที่เล็งเห็นว่าจะไม่ถูกน้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดทำแบบ “ช่วยเหลือแบบบริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จหรือ One Stop Service” โดยมีการบริการที่พักอาศัย สุขอนามัย เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม อาหาร น้ำสะอาดและยารักษาโรค บริการทางการแพทย์สุขภาพทั้งทางกายและสุขภาพจิต มีการจัดระบบขนส่งมวลชนรองรับ มีการบริการด้านการเงินฟื้นฟูรายได้ลดรายจ่าย มีหน่วยงานรับเรื่องฟื้นฟูซ่อมแซมบ้านพักอาศัย สาธารณูปโภคต่างๆ และศูนย์ให้คำแนะนำปรึกษา เป็นต้น โดยแจ้งกันให้ชัดๆ ว่าประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติจะเดินทางไปยังหน่วยบัญชาการแบบ One Stop Service นี้ได้ที่ไหนอย่างไร

ประการที่สอง นายกรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลและหน่วยงานภาคีร่วมแก้ปัญหาภัยพิบัติน่าจะให้ข้อมูลชัดเจนว่าจะติดต่อใคร ที่ไหนเพื่อให้ประชาชนผู้เป็นเหยื่อภัยพิบัติเข้าถึงได้ โดยควรสร้างโซเชียลเนตเวิร์คแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ผ่าน SMS ทางมือถือของสมาชิก เฟซบุค อีเมล เว็บไซค์และทวิสเตอร์ เป็นต้น

ประการที่สาม น่าจะมีการเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ องค์กร NGO ภาคเอกชน และกลุ่มอาสาสมัครออกสำรวจเยี่ยมเยียนกลุ่มประชาชนที่มีความผูกพันทางใจกับถิ่นที่อยู่ของตนเอง “ห่วงบ้านและทรัพย์สิน” ไม่ยอมอพยพออกมาจากพื้นที่อันตรายเหล่านั้น และวางแผนเตรียมการฟื้นฟูสุขภาวะในชุมชนให้กลับมาน่าอยู่ยิ่งขึ้นมากกว่าเดิม

ประการที่สี่ ให้ข้อมูลความเป็นจริงต่อสถานการณ์ภัยพิบัติเป็นรายพื้นที่เฉพาะจุดที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อให้ประชาชนเตรียมตัวรับมือได้เคลื่อนย้ายทรัพย์สิน รถยนต์ และอื่นๆ ให้พ้นความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และบางประเทศจะมีการประกาศสภาวะฉุกเฉินในบางพื้นที่จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่สภาวะปกติ และเตรียมแผนฟื้นฟูทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในพื้นที่ภัยพิบัติ

ประการที่ห้า มีกระบวนการตรวจสอบความโปร่งใสเงินบริจาคต่างๆ ว่าถูกนำไปใช้ที่ไหนอย่างไรบ้างเพื่อให้สาธารณชนเกิดความวางใจว่าถึงมือประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม มีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ จึงน่าจะมีคณะกรรมการอิสระติดตามความช่วยเหลือของรัฐบาลรายงานนายกรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงทราบนอกเหนือจากการรายงานจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเองเพื่อหนุนเสริมให้ความช่วยเหลือเกิดประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์มากยิ่งขึ้น

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 61.6 เป็นหญิง ร้อยละ 38.4 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 25.4 อายุต่ำกว่า 30 ปี ร้อยละ 45.3 อายุ 30 — 39 ปี ร้อยละ 23.1 อายุ 40 — 49 ปี ร้อยละ 6.2 อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยที่ร้อยละ 1.6 สำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่า ร้อยละ 4.2 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. ร้อยละ 11.9 สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ปวส.ในขณะที่ร้อยละ 62.6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 19.7 สำเร็จการศึกษาในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี นอกจากนี้ ร้อยละ 8.9 ระบุปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายก อบต. ร้อยละ 9.7 เป็นสมาชิก อบต. ร้อยละ 74.4 เป็นข้าราชการ/พนักงาน อบต. ร้อยละ 7.0 ระบุอื่น ๆ อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร้อยละ 1.0 ระบุรายได้ส่วนตัวต่อเดือนไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ38.6 ระบุมีรายได้ 5,001-10,000 บาท ร้อยละ34.0 ระบุมีรายได้10,001-15,000 บาท ร้อยละ11.7 ระบุมีรายได้15 ,001-20,000 บาท และร้อยละ14.7 ระบุมีรายได้มากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การรับรู้มาตรการต่างๆ ของรัฐบาลแก้ปัญหาน้ำท่วม
ลำดับที่          การรับรู้ของแกนนำชุมชน    ค่าร้อยละ
1          รับรู้ชัดเจน                    59.8
2          ไม่ทราบชัดเจน                 40.2
          รวมทั้งสิ้น                     100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ มาตรการต่างๆ แก้ปัญหาน้ำท่วมที่แกนนำชุมชนรับรู้ในระยะเร่งด่วน (เฉพาะผู้ที่รับรู้)
ลำดับที่          มาตรการต่างๆ                      ค่าร้อยละ
1          ให้กองทัพทุกเหล่าทัพช่วยเหลือชาวบ้าน          28.0
2          ให้ข้อมูลสถานการณ์น้ำท่วม                   24.1
3          วิธีเร่งระบายน้ำออกทะเล                   21.7
4          ขุดลอกคูคลองระบายน้ำ                     21.5
5          ใช้เครื่องดันน้ำ                           16.5
6          ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการน้ำ       14.3
7          รักษาเขตเศรษฐกิจ เขตเมือง                11.5
8          โครงการอาสาสมัคร ให้ภาคเอกชนเข้าช่วย      11.3

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อความเพียงพอในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากรัฐบาล
ลำดับที่          ความเพียงพอในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย   ค่าร้อยละ
1          เพียงพอ                                20.7
2          ไม่เพียงพอ                              79.3
          รวมทั้งสิ้น                               100.0

ตารางที่  4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความทั่วถึงในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ
ลำดับที่          ความทั่วถึงในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย     ค่าร้อยละ
1          ทั่วถึง                                  23.7
2          ไม่ทั่วถึง                                76.3
          รวมทั้งสิ้น                               100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ว่าสิ่งของที่นำไปบริจาคตรงกับความต้องการของประชาชน
ลำดับที่          สิ่งของที่นำไปบริจาคตรงกับความต้องการของประชาชน          ค่าร้อยละ
1          ตรงกับความต้องการ                                        68.6
2          ไม่ตรงกับความต้องการ                                      31.4
          รวมทั้งสิ้น                                                100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การรับรู้รับทราบถึงแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนของรัฐบาลภายหลังน้ำลด
ลำดับที่          แนวทางในการช่วยเหลือประชาชนของรัฐบาลภายหลังน้ำลด       ค่าร้อยละ
1          ทราบ                                                   45.5
2          ไม่ทราบ                                                 54.5
          รวมทั้งสิ้น                                                100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การรับรู้รับทราบถึงแนวทางในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลในระยะยาวภายหลังน้ำลด
ลำดับที่          การรับรู้รับทราบถึงแนวทางในการแก้ปัญหาน้ำท่วม             ค่าร้อยละ
1          ทราบ                                                   32.0
2          ไม่ทราบ                                                 68.0
          รวมทั้งสิ้น                                                100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการลงพื้นที่ของคณะรัฐมนตรีในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในสถานการณ์น้ำท่วม
ลำดับที่          ความคิดเห็นต่อการลงพื้นที่ของคณะรัฐมนตรี                  ค่าร้อยละ
1          เกิดประโยชน์                                            82.7
2          ไม่เกิดประโยชน์                                          17.3
          รวมทั้งสิ้น                                               100.0

ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ระยะเวลาในการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมภายหลังน้ำลด
ลำดับที่          ระยะเวลาในการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมภายหลังน้ำลด        ค่าร้อยละ
1          1-2 เดือน                                              32.0
2          3-4 เดือน                                              27.4
3          5-6 เดือน                                               1.3
4          1 ปีขึ้นไป                                               39.3
          รวมทั้งสิ้น                                               100.0

ตารางที่ 10 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความต้องการเร่งด่วนในขณะนี้ที่รัฐบาลจะต้องเร่งเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม                     (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ความต้องการเร่งด่วน                 ค่าร้อยละ
1          อาหาร น้ำสะอาด                         48.7
2          ที่อยู่อาศัย                               37.2
3          ฟื้นฟูสภาพจิตใจ / ดูแลชีวิตความเป็นอยู่          8.2
4          ซ่อมเขื่อน                                6.6
5          ยารักษาโรค                              5.6
6          เรือ / เสื้อชูชีพ                           5.2
7          สาธารณูปโภค ห้องน้ำ / ไฟฟ้า                3.4

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ