เอแบคโพลล์: พฤติกรรมการติดตามข่าวภัยพิบัติน้ำท่วมจากสื่อสารมวลชน

ข่าวผลสำรวจ Wednesday November 16, 2011 11:17 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง พฤติกรรมการติดตามข่าวภัยพิบัติน้ำท่วมจากสื่อมวลชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและ 16 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ แพร่ ลำปาง นครสวรรค์ เพชรบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี หนองคาย สกลนคร สุรินทร์ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา ตรัง สงขลา และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 3,096 ครัวเรือน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 9 - 15 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา พบว่า

ประชาชนที่ถูกศึกษาติดตามข่าวสารทางโทรทัศน์มาเป็นอันดับแรกไม่เปลี่ยนแปลงไม่ว่าจำแนกตามพื้นที่หรือช่วงเวลาก่อนและหลังเกิดภัยพิบัติโดยผลสำรวจ พบอยู่ประมาณร้อยละ 97.0 — 98.0 อย่างไรก็ตามที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนติดตามข่าวทางหนังสือพิมพ์ที่เป็นกระดาษลดน้อยลงในพื้นที่ประสบภัยพิบัติจากร้อยละ39.7 เหลือร้อยละ 29.9 ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และลดลงจากร้อยละ 29.7 เหลือร้อยละ 20.4 ในพื้นที่ 7 จังหวัดประสบภัย แต่ไม่แตกต่างกันนักในพื้นที่โดยภาพรวมทั้ง 17 จังหวัดของประเทศ คือ จากร้อยละ 39.1 เหลือร้อยละ 35.1 ตามลำดับ

สำหรับพฤติกรรมติดตามข่าวสารจากคลื่นวิทยุ พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากร้อยละ 29.1 ในช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติมาอยู่ที่ร้อยละ 43.8 ในช่วงหลังเกิดภัยพิบัติ เช่นเดียวกับพื้นที่ 7 จังหวัดประสบภัย คือ ติดตามข่าวสารทางวิทยุเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 38.5

ที่น่าสนใจคือ หนังสือพิมพ์ (ออนไลน์) เว็บสำนักข่าวมีสัดส่วนผู้ติดตามเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 16.3 มาอยู่ที่ร้อยละ 24.8 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และจากร้อยละ 15.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 21.5 ในพื้นที่ 7 จังหวัดประสบภัย เช่นเดียวกับการใช้ระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ค เช่น มือถือ SMS เฟซบุค และทวิตเตอร์ พบว่าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19.5 มาอยู่ที่ ร้อยละ 25.1 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 24.3 ในพื้นที่ 7 จังหวัดประสบภัย

ดร.นพดล กล่าวว่า พฤติกรรมการติดตามข่าวสารผ่านทางโทรทัศน์ของประชาชนช่วงเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมผ่านทางโทรทัศน์ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ที่เปลี่ยนแปลงไปจนอาจกล่าวได้ว่า คนหันมาติดตามข่าวสารทางวิทยุ โซเชียลเน็ตเวิร์ค และสื่อออนไลน์มากขึ้น ในขณะที่หนังสือพิมพ์ที่เป็นกระดาษคนติดตามน้อยลงซึ่งอาจเป็นเพราะความยากลำบากในการเข้าถึงในพื้นที่เกิดภัยพิบัติน้ำท่วม

นอกจากนี้ ที่น่าพิจารณาคือ ความคาดหวังของประชาชนต่อสื่อมวลชน กรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.6 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ร้อยละ 61.0 ในพื้นที่ 7 จังหวัดประสบภัย และร้อยละ 62.4 ในพื้นที่ภาพรวม 17 จังหวัดที่ถูกศึกษาต้องการให้สื่อมวลชนรายงานข่าวตามความเป็นจริง เสนอข่าวสารที่ถูกต้อง แต่ที่น่าสังเกตคือ คนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีสัดส่วนของคนที่ต้องการให้มีการเน้นช่วยเหลือประชาชน เช่น การแจกถุงยังชีพ การช่วยอพยพประชาชน การอำนวยความสะดวกต่างๆ มากกว่าคนในต่างจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมคือร้อยละ 32.5 ต่อร้อยละ 27.0

ดร.นพดล กล่าวด้วยว่า หากพิจารณาตัวเลขที่ค้นพบอาจกล่าวได้ว่า คนต่างจังหวัดอาจมีความอดทนและความสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพน้ำท่วมได้มากกว่าคนในเขตเมืองหลวงและปริมณฑล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องปรับการบริหารจัดการกอบกู้สถานการณ์ทั้งในด้านอารมณ์ความรู้สึกและด้านกายภาพที่จับต้องได้ให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นอาจเกิดความวุ่นวายที่ยากจะควบคุมได้สำหรับคนในเมือง

ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ประชาชนสนใจจะมีส่วนร่วมกับการเสนอข่าวของสื่อโทรทัศน์มากที่สุดเกินกว่าร้อยละ 80 รองลงมาคือประมาณร้อยละ 10 ที่อยากมีส่วนร่วมในระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทิ้งห่างสื่ออื่นๆ อย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับความสะดวกของประชาชนในการเข้าถึงสื่อประเภทต่างๆ โดยค้นพบว่าประชาชนสะดวกเข้าถึงสื่อโทรทัศน์มากเป็นอันดับที่หนึ่งและรองลงมาคือระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ค ตามลำดับ

          จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่างประชาชนทั่วไปพบว่า     ตัวอย่าง    ร้อยละ 52.8 ระบุเป็นหญิง

ในขณะที่ ร้อยละ 47.2 ระบุเป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 8.5 ระบุอายุต่ำกว่า 20 ปี

ร้อยละ 21.7 ระบุอายุระหว่าง 20—29 ปี

ร้อยละ 20.6 ระบุอายุระหว่าง 30—39 ปี

ร้อยละ 22.4 ระบุอายุระหว่าง 40—49 ปี

และร้อยละ 26.8 ระบุอายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 69.5 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี

ร้อยละ 28.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

ร้อยละ 2.2 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี

ทั้งนี้ตัวอย่าง ร้อยละ 16.6 ระบุมีรายได้ส่วนตัวไม่เกิน 5,000 บาทต่อเดือน

ร้อยละ 44.7 ระบุมีรายได้ 5,001 — 10,000 บาท

ร้อยละ 14.4 ระบุมีรายได้ 10,001 — 15,000 บาท

ร้อยละ 9.7 ระบุมีรายได้ 15,001 — 20,000 บาท

ร้อยละ 14.6 ระบุมีรายได้ส่วนตัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุสื่อที่มักจะติดตามรับทราบข่าว จำแนกตามพื้นที่และช่วงเวลาก่อนและหลังเกิดเหตุภัยพิบัติน้ำท่วม
ลำดับที่          ประเภทของสื่อ                         กรุงเทพฯ ปริมณฑล             7 จังหวัดประสบภัย              ภาพรวม 17 จังหวัด
                                                  ก่อน           หลัง           ก่อน          หลัง            ก่อน          หลัง
1          โทรทัศน์                                97.0          98.9          97.4          98.4          97.9          98.2
2          หนังสือพิมพ์ (กระดาษ)                     39.7          29.9          29.7          20.4          39.1          35.1
3          วิทยุ                                   29.1          43.8          28.9          38.5          27.6          37.1
4          โซเชียลเน็ตเวิร์ค (มือถือ SMS เฟซบุค)        19.5          25.1          18.8          24.3          17.4          23.3
5          หนังสือพิมพ์ (ออนไลน์) เว็บสำนักข่าว          16.3          24.8          15.8          21.5          16.5          21.8

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างบทบาทที่คาดหวังจากสื่อมวลชน กรณีที่เกิดภัยพิบัติ หรือเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ
ลำดับที่          บทบาทที่คาดหวังจากสื่อมวลชน กรณีที่เกิดภัยพิบัติ หรือเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ           กทม./ปริมณฑลค่าร้อยละ     7 จังหวัดประสบภัยค่าร้อยละ    ภาพรวม 17 จว.ค่าร้อยละ
1          การรายงานข่าวตามความเป็นจริง เสนอข่าวสารอย่างถูกต้อง                                57.6                    61.0                    62.4
2          การช่วยเหลือประชาชน เช่น การแจกถุงยังชีพ การช่วยอพยพประชาชน การอำนวยความสะดวก       32.5                    27.0                    25.8
3          เป็นสื่อกลางรับข้อมูลจากประชาชน                                                    11.7                    10.7                    15.3
4          กระจายข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง                                                      6.6                     6.7                    10.9
5          ให้สื่อมวลชนเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยให้มากขึ้น                                               8.7                     7.6                     7.9
6          ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและรายงานอย่างรวดเร็ว                                     8.9                     8.6                     7.4

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุสื่อที่สนใจเข้าไปมีส่วนร่วมมากที่สุด
ลำดับที่          สื่อที่สนใจเข้าไปมีส่วนร่วมมากที่สุด        7 จังหวัดประสบภัยค่าร้อยละ    กทม./ปริมณฑลค่าร้อยละ         ภาพรวมค่าร้อยละ
1          โทรทัศน์                                        83.2                    82.8                    82.6
2          วิทยุ                                            2.8                     2.9                     2.1
3          หนังสือพิมพ์                                       1.3                     1.1                     1.8
4          เว็บไซต์ข่าว/เว็บบอร์ด/เว็บบล็อก                      4.2                     3.8                     4.6
5          โซเชียลเน็ตเวิร์ค อาทิ เฟซบุค  ทวิตเตอร์               8.5                     9.4                     8.9
          รวมทั้งสิ้น                                       100.0                   100.0                   100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุสื่อที่สามารถเข้าถึงได้สะดวกมากที่สุด
ลำดับที่          สื่อที่สามารถเข้าถึงได้สะดวกมากที่สุด       7 จังหวัดประสบภัยค่าร้อยละ    กทม./ปริมณฑลค่าร้อยละ          ภาพรวมค่าร้อยละ
1          โทรทัศน์                                         83.4                    83.7                    83.7
2          โซเชียลเน็ตเวิร์ค อาทิ เฟซบุค  ทวิตเตอร์                6.9                     7.0                     7.1
3          เว็บไซต์ข่าว/เว็บบอร์ด/เว็บบล็อก                       4.7                     4.5                     4.7
4          วิทยุ                                             3.1                     3.6                     2.5
5          หนังสือพิมพ์ (กระดาษ)                               1.9                     1.2                     2.0
          รวมทั้งสิ้น                                        100.0                   100.0                   100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ