เอแบคโพลล์: ประชาชนรู้สึกอย่างไรต่อ สภาอันทรงเกียรติ “ภาพโป๊” กับ ผลการประเมินคุณธรรมเบื้องต้นในสังคมไทย

ข่าวผลสำรวจ Monday April 23, 2012 07:34 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า ในขณะที่คณะวิจัยกำลังประเมินคุณธรรมเบื้องต้นในสังคมไทยระหว่างวันที่ 1 — 19 เมษายน จำนวน 2,664 ตัวอย่างใน 17 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศอยู่นั้น ได้มีข่าวอื้อฉาวที่กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนในสังคมไทยและเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางต่อ ภาพโป๊ในสภาอันทรงเกียรติของประเทศ คณะวิจัยจึงได้ทำการสำรวจด้วยระบบเรียลไทม์ผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในระบบฐานข้อมูลครัวเรือนที่มีอยู่และลงพื้นที่ศึกษา เพื่อสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศเพิ่มเติม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สระแก้ว พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ชลบุรี สุโขทัย นครสวรรค์ เชียงใหม่ นครพนม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น ปัตตานี นครศรีธรรมราช และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 1,148 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 19 — 21 เมษายนที่ผ่านมา พบว่า

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.3 รู้สึกเสื่อมศรัทธาต่อรัฐสภาอันทรงเกียรติของประเทศ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.6 ต้องการให้ประธานในที่ประชุมออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ภาพโป๊ที่เกิดขึ้นในรัฐสภาด้วยการขอโทษ ในขณะที่ร้อยละ 67.3 ต้องการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค และร้อยละ 58.5 ต้องการให้ ส.ส.ที่เปิดดูภาพโป๊ในขณะประชุมออกมาขอโทษต่อสาธารณชน นอกจากนี้ที่น่าสังเกตคือ มีประชาชนเกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 35.5 ต้องการให้ ส.ส.ที่เปิดดูภาพโป๊ในขณะประชุม “ลาออก”

ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.3 ระบุ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ต้องเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ สืบสวน หาตัวผู้นำภาพโป๊ขึ้นในขณะประชุมสภาฯ ร้อยละ 83.0 ระบุ สื่อมวลชน ร้อยละ 80.5 ระบุผู้ใหญ่ในสังคม หรือ หน่วยงานดูแลด้านคุณธรรม จริยธรรม และร้อยละ 74.7 ระบุ เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา ต้องเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ สืบสวน หาตัวผู้นำภาพโป๊ขึ้นใน สภาฯ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.8 คิดว่าเรื่องอื้อฉาวภาพโป๊ในขณะประชุมรัฐสภา จะเงียบหายไป แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.6 เห็นว่า รัฐสภาควรถือโอกาสนี้ปฏิรูปคุณภาพสมาชิกด้านคุณธรรมและจริยธรรม

ที่น่าพิจารณาคือ จากโครงการประเมินผลคุณธรรมในสังคมไทย พบว่า คนไทยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.4 จะทำบ้างไม่ทำบ้าง ถึงไม่ทำเลย ในเรื่องข้อบังคับ ข้อห้ามต่างๆ ถ้ามันเป็นอุปสรรคต่อชีวิตของตน รองลงมาคือ ร้อยละ 77.2 จะทำบ้างไม่ทำบ้าง ถึงไม่ทำเลย ในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ถ้าตนเองจะเสียผลประโยชน์หรือไปไม่รอด ร้อยละ 54.4 จะทำบ้างไม่ทำบ้าง ถึงไม่ทำเลยในเรื่องการเอาผิดดำเนินคดีกับคนในครอบครัวทุกคนที่ทำผิดกฎหมาย ร้อยละ 51.4 จะทำบ้างไม่ทำบ้าง ถึงไม่ทำเลยในเรื่องการประพฤติปฏิบัติตนตามหลักคำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม เมื่อถามตรงๆ ว่า ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ แจ่มใสอยู่ตลอดเวลาหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 58.8 ตอบว่าเป็นเรื่องที่ตนเองทำจริงอยู่ตลอดเวลามากมี่สุด

จากการวิเคราะห์ทางสถิติประเมินคุณธรรมเบื้องต้นของคนในสังคมไทย พบว่าประชาชนเกินครึ่งหรือร้อยละ 53.8 มีคุณธรรม ในขณะที่ร้อยละ 46.2 มีน้อยถึงไม่มีคุณธรรม โดยพบว่า ผู้หญิงมีสัดส่วนของคนที่มีคุณธรรมสูงกว่ากลุ่มผู้ชายคือร้อยละ 55.9 ต่อร้อยละ 50.0 และพบว่า คนมีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีขึ้นไปกลับมีสัดส่วนของคนที่มีคุณธรรมน้อยกว่าคนที่มีการศึกษาปริญญาตรีและต่ำกว่าปริญญาตรีคือร้อยละ 44.2 ต่อร้อยละ 55.2 และร้อยละ 54.2 ตามลำดับ

ที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มเด็กและคนรุ่นใหม่กลับมีสัดส่วนของคนที่มีคุณธรรมน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ คือร้อยละ 47.6 เท่านั้น แต่พบว่ากลุ่มที่มีสัดส่วนคนมีคุณธรรมสูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่นๆ คือ ร้อยละ 56.8 ได้แก่กลุ่มเกษตรกร

และที่น่าสนใจคือ กลุ่มคนไม่สังกัดฝ่ายการเมืองหรือพลังเงียบมีสัดส่วนของคนที่มีคุณธรรมสูงกว่า กลุ่มที่สังกัดฝ่ายการเมือง คือร้อยละ 55.9 ต่อร้อยละ 49.8 และคนที่อยู่นอกเขตเทศบาลมีสัดส่วนของคนที่มีคุณธรรมสูงกว่าคนที่อยู่ในเมืองคือร้อยละ 57.1 ต่อร้อยละ 52.8 ตามลำดับ

ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า ถ้าประชาชนทุกคนถือเอาหลักคุณธรรมและจริยธรรมมาเป็นแก่นสำคัญของชีวิต ก็น่าจะเป็นไปได้ว่า รัฐบาลและเรื่องการเมืองแทบจะไม่มีความจำเป็นต่อชีวิตความเป็นอยู่สักเท่าไหร่เพราะประชาชนจะสามารถดูแลตนเองและคนอื่นในชุมชนได้ แต่ในความเป็นจริงและผลสำรวจที่ศึกษาครั้งนี้กลับพบว่า ผู้คนในสังคมไทยจำนวนมากอาจนำเอาเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมมาเป็นเพียง “กันชน” เพื่อเสริมภาพลักษณ์ให้ตนเองดูดี ดูเป็นผู้มีคุณธรรมในสังคม ถ้าหากวันหนึ่งเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรมกลายเป็น “กันชนที่หายไป” แล้ว สังคมไทยจะเสื่อมและเสียหายยากจะเยียวยาฟื้นฟูได้ ดังนั้น ทางออกที่น่าพิจารณาคือ

รัฐบาลและฝ่ายการเมืองน่าจะถือเอาเรื่อง คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทำอย่างจริงจังต่อเนื่อง สนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแก่นสำคัญของชีวิตด้านนี้ โดยเริ่มจาก สรรหาคนดีแท้จริงมาอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมและจริยธรรม จัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอต่อการทำให้เรื่องคุณธรรมและจริยธรรมเป็นเรื่องสำคัญตั้งแต่ในครอบครัว ชุมชนและสังคมระดับกว้าง

นอกจากนี้ เสนอให้ผู้ที่จะมีอำนาจในระดับชุมชนท้องถิ่นถึงระดับชาติทั้งฝ่ายข้าราชการประจำและฝ่ายการเมืองเข้าศูนย์ฝึกอบรมและได้รับการฟังเทศนา สั่งสอนจาก วิทยากรทั้งทางโลกและทางธรรมโดยเป็นคณะบุคคลที่ผู้เข้ารับการอบรมให้ความเชื่อถือ ศรัทธา และมีระบบติดตามประเมินผลพฤติกรรมคณะบุคคลที่ผ่านการอบรมเหล่านั้นตลอดช่วงเวลาที่พวกเขามีอำนาจ

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 48.1 เป็นชาย ร้อยละ 51.9 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 6.8 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.4 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 22.8 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 20.9 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 28.1 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 76.7 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ ร้อยละ 23.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 34.2 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 28.6 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 12.4 ระบุเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 11.2 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.8 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 4.7 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 1.1 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความนิยมศรัทธาต่อรัฐสภากรณีเกี่ยวกับภาพโป๊ที่เกิดขึ้นในหน้าจอทีวีใน ขณะประชุมสภาฯ
ลำดับที่          ความนิยมศรัทธา            ค่าร้อยละ
1          รู้สึกเสื่อมศรัทธาต่อรัฐสภา          83.3
2          ไม่รู้สึกเสื่อมอะไร                16.7
          รวมทั้งสิ้น                      100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างระบุบุคคลที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ภาพโป๊ที่เกิดขึ้นในรัฐสภา
ลำดับที่          บุคคล                  ขอโทษค่าร้อยละ  ลาออกค่าร้อยละ   ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆค่าร้อยละ        รวมทั้งสิ้น
1          ประธานในที่ประชุม                68.6          12.1               19.3                    100.0
2          เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค               67.3          19.5               13.2                    100.0
3          ส.ส.ที่เปิดดูภาพโป๊ในขณะประชุม      58.5          35.5                6.0                    100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุบุคคลที่ต้องเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ สืบสวน สอบสวน หาตัวผู้นำภาพโป๊ขึ้นในขณะประชุมสภาฯ
ลำดับที่          บุคคลที่ควรเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ        เห็นด้วยค่าร้อยละ  ไม่เห็นด้วยค่าร้อยละ รวมทั้งสิ้น
1          นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์                         84.3          15.7          100.0
2          สื่อมวลชน                                     83.0          17.0          100.0
3          ผู้ใหญ่ในสังคม / หน่วยงานดูแลด้าน คุณธรรม จริยธรรม   80.5          19.5          100.0
4          เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา                           74.7          25.3          100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องอื้อฉาวภาพโป๊ที่เกิดขึ้นในขณะประชุมรัฐสภา
ลำดับที่          ความคิดเห็น            ค่าร้อยละ
1          คิดว่าจะเงียบหายไป           68.8
2          ไม่คิดว่าจะเงียบหายไป         31.2
          รวมทั้งสิ้น                   100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐสภาว่าควรถือโอกาสนี้ปฏิรูปคุณภาพ สมาชิกด้านคุณธรรม และจริยธรรม
ลำดับที่          ความคิดเห็น                              ค่าร้อยละ
1          เห็นด้วย - เห็นด้วยอย่างยิ่ง                        89.6
2          ไม่เห็นด้วย — ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง                    10.4
          รวมทั้งสิ้น                                      100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ ต่อไปนี้
ลำดับที่          ประเด็น                                          ทำบ้างไม่ทำบ้าง  ทำจริงมากที่สุด     รวมทั้งสิ้น

ถึงไม่ทำเลย

1          ท่านจะทำตามข้อบังคับ ข้อห้าม ถึงแม้มันเป็นอุปสรรคต่อชีวิตของท่าน       79.4          20.6          100.0
2          ท่านจะซื่อสัตย์สุจริต ถึงแม้ตนเองจะเสียผลประโยชน์หรือไปไม่รอด        77.2          22.8          100.0
3          ท่านจะดำเนินคดีเอาผิดกับคนในครอบครัวทุกคนที่ทำผิดกฎหมาย           54.4          45.6          100.0
4          ท่านประพฤติปฏิบัติตนตามหลักคำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัด           51.4          48.6          100.0
5          ท่านทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์แจ่มใสอยู่ตลอดเวลา     41.2          58.8          100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความมีคุณธรรม
ลำดับที่          ความมีคุณธรรม          ค่าร้อยละ
1          มีคุณธรรม                    53.8
2          มีน้อย ถึงไม่มีคุณธรรม           46.2
          รวมทั้งสิ้น                    100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความมีคุณธรรม จำแนกตามเพศ
ลำดับที่          ความมีคุณธรรม            ชาย            หญิง
1          มีคุณธรรม                    50.0          55.9
2          มีน้อยถึงไม่มีคุณธรรม            50.0          44.1
          รวมทั้งสิ้น                    100.0         100.0

ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความมีคุณธรรม จำแนกตามช่วงอายุ
ลำดับที่          ความมีคุณธรรม    ต่ำกว่า 20 ปี      20-29 ปี     30-39 ปี     40-49 ปี    50 ปีขึ้นไป
1          มีคุณธรรม                50.0          53.1       53.5         57.2        53.7
2          มีน้อยถึงไม่มีคุณธรรม        50.0          46.9       46.5         42.8        46.3
          รวมทั้งสิ้น                100.0         100.0      100.0        100.0       100.0

ตารางที่ 10 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความมีคุณธรรม จำแนกตามระดับการศึกษา
ลำดับที่          ความมีคุณธรรม      ต่ำกว่า ป.ตรี        ป.ตรี       สูงกว่า ป.ตรี
1          มีคุณธรรม                  54.2          55.2          44.2
2          มีน้อยถึงไม่มีคุณธรรม          45.8          44.8          55.8
          รวมทั้งสิ้น                  100.0         100.0         100.0

ตารางที่ 11 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความมีคุณธรรม จำแนกตามอาชีพ
ลำดับที่          ความมีคุณธรรม    ข้าราชการ/    พนักงาน      ค้าขาย/     นักเรียน/    เกษตรกร/   แม่บ้าน/พ่อบ้าน/
                              รัฐวิสาหกิจ    บริษัทเอกชน   ธุรกิจส่วนตัว   นักศึกษา       รับจ้าง       เกษียณ
1          มีคุณธรรม              55.3        54.1        52.1       47.6         56.8        55.0
2          มีน้อยถึงไม่มีคุณธรรม      44.7        45.9        47.9       52.4         43.2        45.0
          รวมทั้งสิ้น              100.0       100.0       100.0      100.0         100.0      100.0

ตารางที่ 12 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความมีคุณธรรม จำแนกตามจุดยืนทางการเมือง
ลำดับที่          ความมีคุณธรรม       กลุ่มผู้สังกัดฝ่ายการเมือง    พลังเงียบ
1          มีคุณธรรม                      49.8             55.9
2          มีน้อยถึงไม่มีคุณธรรม              50.2             44.1
          รวมทั้งสิ้น                      100.0            100.0

ตารางที่ 13 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความมีคุณธรรม จำแนกตามพื้นที่พักอาศัย
ลำดับที่          ความมีคุณธรรม          ในเขตเทศบาล   นอกเขตเทศบาล
1          มีคุณธรรม                      52.8          57.1
2          มีน้อยถึงไม่มีคุณธรรม              47.2          42.9
          รวมทั้งสิ้น                      100.0         100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ