เศรษฐกิจเอเชียในปี 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 17, 2015 14:26 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

จากการคาดการณ์ของ The Economist Intelligence Unit (EIU) เอเชียจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจสำคัญของโลกในปี 2558 เช่นเดียวกับในช่วงปีที่ผ่านมา โดยในภาพรวม EIU คาดว่า เอเชียจะมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.5 ในปี 2558 ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับในช่วงปี 2557 อย่างไรก็ดี จีนซึ่งเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคเริ่มมีอัตราการเติบโตช้าลง ขณะที่ประเทศอื่นๆ กำลังแข่งขันกันเป็นประเทศที่มีผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจดีในภูมิภาค

ในปี 2558 เศรษฐกิจจีนจะมีการขยายตัวในอัตราที่น่าพอใจ คือ ร้อยละ 7.0 แต่ก็ต้องยอมรับว่าขนาดจำนวนแรงงานของจีนกำลังหดตัวลง แม้ว่ายังมีปัจจัยสนับสนุน คือ การลงทุนในระดับสูงและการพัฒนาอย่างรวดเร็วของตลาดผู้บริโภคภายในประเทศ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวในระดับสองหลัก การเจริญเติบโตในอัตราดังกล่าวของจีนจึงจัดอยู่ในระดับปานกลางท่ามกลางประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ประเทศที่คาดว่าจะมีอัตราขยายตัวสูงเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาค คือ ปาปัวนิวกินี ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่เคยอยู่ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติมาก่อน โดยในปี 2558 EIU ประเมินว่าจะมีอัตราขยายตัวร้อยละ 14.8 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของการส่งออกพลังงาน เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง ExxonMobil ได้เข้าไปลงทุนโครงการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquid Natural Gas: LNG) ตามมาด้วยเขตปกครองพิเศษมาเก๊า ในอัตราร้อยละ 10.6 เนื่องจากการขยายตัวของบริการจากการพนัน โดยเฉพาะการพัฒนาคาสิโนแห่งใหม่ภายใต้โครงการ Cotai Strip โดยคาดว่านโยบายของจีนแผ่นดินใหญ่ในการปราบปรามคอรัปชั่นซึ่งได้ส่งผลกระทบทำให้รายได้จากการพนันลดลงในช่วงปีที่ผ่านมา จะเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว

ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีการขยายตัวสูงรองลงมาเป็นประเทศขนาดเล็ก เช่น ติมอร์-เลสเต ลาว ภูฏานกัมพูชา และมองโกเลีย โดยอาจมีอัตราขยายตัวสูงถึงร้อยละ 8 จากการเพิ่มขึ้นของการลงทุน เช่นในอุตสาหกรรมเหมืองแร่และการขยายตัวของการส่งออก ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคโดยมีประเทศขนาดเล็กที่มีศักยภาพในการขยายตัวและพัฒนาไล่ตามประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงกว่า สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ จะมีอัตราขยายตัวสูงขึ้น ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาลที่นำโดยประธานาธิบดี Benigo Aquino ส่วนอินโดนีเซีย คาดว่าจะมีอัตราขยายตัวสูงขึ้นเช่นกันเป็นร้อยละ 6 ในปี 2558 อันเนื่องมาจากผลของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในการต่อต้านการทุจริต ขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ เช่น เวียดนาม และเมียนมาร์จะมีอัตราขยายตัวอยู่ระหว่างร้อยละ 6-8 เนื่องจากได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากจีนในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกที่ต้องการต้นทุนต่ำ สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม เช่น สิงคโปร์ ไทย บรูไน และมาเลเซียจะอยู่ในกลุ่มที่มีอัตราขยายตัวน้อยกว่า แม้ว่า สิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซียจะยังคงเป็นประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงกว่าประเทศสมาชิกอาเซียนที่เหลือ

ภาวะการณ์ในเอเชียใต้จะมีความซับซ้อนมากกว่า แม้ว่าเรายังจะได้เห็นปรากฏการณ์การพัฒนาไล่ตาม(“catch-up”) ของประเทศขนาดเล็กเช่นเดียวกับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่าอินเดียจะมีอัตราขยายตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 6.4 ในปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนที่ร้อยละ 6 ส่วนศรีลังกา จะยังขยายตัวสูงต่อเนื่องจากปีก่อนในอัตราร้อยละ 7.1 ในปี 2558 อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของการก่อสร้างและการส่งออก ถึงแม้ว่ายังมีความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งของชุมชนและเชื้อชาติกลุ่มต่างๆ ภายในประเทศ ขณะที่บังคลาเทศจะยังต้องจัดการกับความไม่สงบทางการเมือง จึงคาดว่าจะมีอัตราขยายตัวร้อยละ 5.8 ส่วนปากีสถาน จะมีอัตราขยายตัวต่ำสุดในเอเชียใต้ คือ ร้อยละ 4.1 เนื่องจากความอ่อนแอของปัจจัยพื้นฐานด้านความมั่นคงที่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ กอปรกับการขาดแคลนพลังงานและปัญหาการคอรัปชั่นภายในประเทศ

อีกด้านหนึ่งที่ไม่ดีของปรากฎการณ์ catch-up คือ การที่ประเทศพัฒนาสูงกว่าจะมีอัตราขยายตัวไม่น่าประทับใจนัก เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งแม้ว่าจะได้รับผลกระทบด้านบวกจากการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เรียกว่า “Abenomics1” แต่คาดว่าเศรษฐกิจจะยังขยายตัวไม่ดีเท่าที่ควรในปี 2558 ด้วยอัตราร้อยละ 1.6 ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ได้แก่ ออสเตรเลีย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ จะมีอัตราขยายตัวร้อยละ 2.7, 3.1 และ 3.8 ตามลำดับ โดยประเทศที่มุ่งเน้นการส่งออกเหล่านี้จะยังต้องประสบกับการชะลอตัวของความต้องการในตลาดส่งออกแถบตะวันตก โดยเฉพาะสหภาพยุโรป

อัตราการเติบโตของประเทศส่วนใหญ่ที่น่าพอใจข้างต้นจะช่วยให้เอเชียเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจในสายตานักลงทุนต่างชาติต่อไปในการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ท่ามกลางความท้าทายจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุน และการชะลอตัวในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน รวมถึงความตึงเครียดมากขึ้นระหว่างนักลงทุนต่างชาติกับรัฐบาลจีนซึ่งมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และทำให้ประเทศต่างๆจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจใหม่ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ถึงแม้ว่าจีนจะยังคงเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ที่ครองสัดส่วนใหญ่ของตลาด

ในแง่มูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2558 จีนจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือเป็นมูลค่าที่มากกว่าการเพิ่มขึ้นของ GDP ของประเทศที่เหลือในเอเชียรวมกัน โดย EIU ประเมินว่า การเพิ่มขึ้นของ GDP ของจีนคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 ของการเพิ่มขึ้นของ GDP โลก เมื่อเทียบกับสัดส่วนของสหรัฐฯ ที่ประมาณร้อยละ 22 ทั้งนี้ ถึงแม้มีการคาดการณ์ว่า อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนจะช้าลง แต่ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ จีนจึงจะยังเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกในอนาคตข้างหน้า ดังนั้น สำหรับบริษัทต่างชาติส่วนใหญ่ การมองลู่ทางการลงทุนในเขตพื้นที่ตอนในของจีนที่นอกเหนือจากเมืองใหญ่ จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการออกไปลงทุนในประเทศอื่นในภูมิภาค

อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนหากมองว่า อินเดียกำลังขยายตัวขึ้นมาแซงหน้าจีน เนื่องจากมูลค่า GDP ของจีนที่เพิ่มขึ้นถึง 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนเทียบเท่ากับประมาณหนึ่งเท่าครึ่งของ GDP ของอินเดีย ในปี 2558 ดังนั้น ถึงแม้มีการคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของอินเดียจะสูงกว่าจีน แต่ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่เล็กกว่า การเพิ่มขึ้นของ GDP ของอินเดียจึงมีมูลค่าเพียง 395 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2558 ซึ่งเป็นมูลค่าที่ใกล้เคียงกับการเพิ่มขึ้นของ GDP ของประเทศสมาชิกอาเซียนรวมกันที่ประมาณ 335 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (โดยส่วนใหญ่มาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย) และมากกว่าอย่างมากเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของ GDP ของประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียตะวันออก 3 ประเทศรวมกัน คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน

อย่างไรก็ดี ประเทศพัฒนาแล้วในเอเชีย คือ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะยังคงเป็นประเทศที่น่าดึงดูดในสายตานักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่อยู่แล้ว การเพิ่มขึ้นของ GDP ของญี่ปุ่นในปี 2558 จะมีมูลค่าสูงถึง 4เท่าเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของ GDP ของ 8 ประเทศในเอเชียที่คาดว่าจะขยายตัวสูงรวมกัน (ได้แก่ ปาปัวนิวกินีมาเก๊า ติมอร์-เลสเต ลาว ภูฏาน กัมพูชา มองโกเลีย และศรีลังกา) นอกจากนี้ การมีกฎระเบียบและสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจที่สะดวกและง่ายกว่ายังทำให้ประเทศพัฒนาแล้วดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักลงทุน อย่างไรก็ดี นักลงทุนที่ต้องการมองหาลู่ทางการทำธุรกิจในตลาดใหม่จำเป็นต้องพิจารณาประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะอินเดียและประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งกำลังเป็นที่น่าสนใจ แต่เมื่อคำนึงถึงการคาดการณ์ในปี 2558 ข้างต้นแล้ว ถือว่าจีนเป็นประเทศที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรกอยู่ ทั้งในระดับภูมิภาคและโลก

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


แท็ก the economist   เอเชีย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ