‘กรมเจรจาฯ’ มั่นใจ FTA ช่วยส่งออกไทยสู้วิกฤติเศรษฐกิจได้จริง หลังสถิติปี 62 ชี้ มูลค่าการค้ากับ 18 คู่เจรจาโต แตะ 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 20, 2020 15:20 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ชี้ มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับ 18 ประเทศคู่เอฟทีเอ ขยายตัวต่อเนื่องท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลก เผยมูลค่าการค้ารวมปี 2562 สูงถึง 303,362 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 2 ใน 3 ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก เอฟทีเอที่ขยายตัวสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน อินเดีย และนิวซีแลนด์ พร้อมแนะผู้ประกอบการใช้เอฟทีเอเป็นปัจจัยพิจารณาก่อนเลือกตลาด เพื่อเพิ่มโอกาสส่งออกของไทย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า แม้เศรษฐกิจโลกในปี 2562 จะเผชิญความท้าทายและชะลอตัว รวมถึงหลายประเทศเริ่มนำมาตรการกีดกันทางการค้ามาใช้มากขึ้น แต่จากการติดตามสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่า การจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ช่วยลดอุปสรรคทางการค้า ทำให้การส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพของไทยสามารถขยายตัวได้ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยในปี 2562 เอฟทีเอที่ไทยมีทั้ง 13 ฉบับ ทำให้การค้าของไทยกับ 18 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง เติบโตและมีมูลค่ารวมกันถึง 303,362 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2 ใน 3 (ร้อยละ 63) ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก

นางอรมน เพิ่มเติมว่า สินค้าที่ไทยไม่ถูกเก็บภาษีศุลกากรในประเทศผู้นำเข้าแล้ว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ ไม่ถูกเก็บภาษีใน 18 ประเทศคู่เอฟทีเอ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ไม่ถูกเก็บภาษีใน 17 ประเทศ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ไม่ถูกเก็บภาษีใน 15 ประเทศ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิว และผลิตภัณฑ์ยาง ไม่ถูกเก็บภาษีใน 14 ประเทศ สินค้าไก่ ไม่ถูกเก็บภาษีใน 12 ประเทศ สินค้าผลไม้ไม่ถูกเก็บภาษีใน 6 ประเทศ ขณะเดียวกันแม้บางประเทศจะยังเก็บภาษีศุลกากรกับไทยแต่ก็ได้ลดอัตราภาษีลง

ทั้งนี้ จากสถิติปี 2562 พบว่า การส่งออกสินค้าของไทยขยายตัวได้ดีในเกือบทุกตลาดที่ไทยมีเอฟทีเอด้วยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยสินค้าเกษตรที่ขยายตัว เช่น ผลไม้ ส่งออกมูลค่า 3,648 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 33 (ตลาดส่งออกหลัก คือ จีนและอาเซียน) ไก่สด ส่งออกมูลค่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 15 (ตลาดส่งออกหลัก คือ ญี่ปุ่นและอาเซียน) ไก่แปรรูป ส่งออกมูลค่า 2,594 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7 (ตลาดส่งออกหลัก คือ ญี่ปุ่นสหภาพยุโรป และเกาหลีใต้) สินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ ส่งออกมูลค่า 15,691 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 31 (ตลาดส่งออกหลัก คือ สวิตเซอร์แลนด์ อาเซียน และฮ่องกง) เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ส่งออก 3,406 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11 (ตลาดส่งออกหลัก คือ อาเซียน ญี่ปุ่น จีน และออสเตรเลีย) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ส่งออกมูลค่า 5,515 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3 (ตลาดส่งออกหลัก คือ อาเซียน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย) เป็นต้น

นางอรมน เสริมว่า การค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอเพิ่มขึ้นอย่างมาก นับตั้งแต่ความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกของไทย (เอฟทีเอกับอาเซียน) มีผลใช้บังคับในปี 2535 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าไทยกับประเทศที่มีเอฟทีเอด้วย ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่ไทยเคยส่งออกได้ 13,348 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มเป็น 153,023 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2562 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 1,046 โดยเอฟทีเอที่ขยายตัวสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน (ขยายตัวร้อยละ 1,301 เมื่อเทียบกับปี 2535) อินเดีย (ขยายตัวร้อยละ 1,048 เมื่อเทียบกับปี 2535) และนิวซีแลนด์ (ขยายตัวร้อยละ 368 เมื่อเทียบกับปี 2535) ตามลำดับ ทั้งนี้ เอฟทีเอถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการควรพิจารณาก่อนเลือกตลาดส่งออก ซึ่งผู้สนใจสามารถตรวจสอบอัตราภาษีศุลกากรที่ประเทศคู่เอฟทีเอเก็บกับสินค้าส่งออกของไทยได้ที่เว็บไซต์ www.dtn.go.th หรือ http://ftacenter.dtn.go.th และ http://tax.dtn.go.th/ หรือสอบถามที่ Call center 0 2507 7555

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

19 กุมภาพันธ์ 2563

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ