Issue 81- RCEP: การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นขึ้นในภูมิภาค?

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 28, 2013 15:56 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 81

RCEP: การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ

ที่แน่นแฟ้นขึ้นในภูมิภาค?

หฤษฎ์ รอดประเสริฐ และ ธนิดา ลอเสรีวานิช

บทคัดย่อ

RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) เป็นความตกลงซึ่งจะเจรจาจัดทำระหว่างอาเซียนกับกลุ่มประเทศผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของเอเชีย (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคและเศรษฐกิจโลกในอนาคต ทั้งนี้ RCEP ไม่ใช่ FTA ฉบับแรกที่ประเทศเหล่านี้จัดทำระหว่างกัน เนื่องจากอาเซียนได้จัดทำ FTA แยกฉบับกับประเทศคู่เจรจาทั้ง 6 ประเทศแล้ว จึงมีคำถามว่า การจัดทำความตกลง RCEP จะซ้ำซ้อนกับความตกลงแยกฉบับเหล่านี้หรือไม่

บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ถึงความไม่สมบูรณ์ของ FTA แยกฉบับระหว่างอาเซียนและประเทศคู่เจรจาในข้างต้น ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ RCEP สามารถปรับปรุงหรือต่อยอดได้ทั้งในด้านสินค้า ด้านบริการ และด้านการลงทุนที่มีความไม่สมบูรณ์ ซึ่งถ้าหากทำสำเร็จย่อมจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกรวมทั้งไทยด้วย

บทนำ

ขณะนี้ การจัดทำ ความตกลง Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) กำลังได้รับความสนใจจากหลายฝ่ายเนื่องจากจะเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของเอเชีย ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก (กรอบที่ 1) และถือว่าเป็นการคานอำนาจความตกลง Trans-Pacific Partnership Agreement (TPP) ที่นำโดยสหรัฐอเมริกาได้อีกด้วย

RCEP มีประเทศสมาชิกรวม 16 ประเทศ คือ ประเทศอาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีอินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์*(1) อย่างไรก็ตาม RCEP ไม่ใช่ FTA*(2) ฉบับแรกที่ประเทศเหล่านี้จัดทำระหว่างกัน แต่ RCEP เกิดขึ้นในขณะที่อาเซียนได้จัดทำ FTA แยกฉบับ (ASEAN+1 FTA) กับประเทศจีน เกาหลี ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์และอยู่ระหว่างการจัดทำกับญี่ปุ่นและอินเดีย จึงมีคำถามว่า การจัดทำความตกลง RCEP จะซ้ำซ้อนกับความตกลงแยกฉบับ ASEAN+1 FTA เหล่านี้หรือไม่

เนื่องด้วยถ้าหากมีการจัดทำความตกลงฉบับใหม่ที่ซ้ำซ้อนกับความตกลงฉบับเดิมหรือฉบับอื่นที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้วระหว่างกลุ่มประเทศภาคีเดียวกันอาจจะไม่เกิดประโยชน์เท่าใดนัก แต่ถ้าหาก RCEP สามารถปรับปรุงหรือต่อยอดจากความตกลง ASEAN+1 FTA ได้จริง ก็จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกรวมทั้งไทย

บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อชี้ถึงความไม่สมบูรณ์ของ ASEAN+1 FTA ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ RCEP สามารถปรับปรุงหรือต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไทยและอาเซียนยิ่งขึ้น ตลอดจนชี้ถึงประเด็นท้าทายและสิ่งที่ควรคำนึงเกี่ยวกับการจัดทำความตกลง RCEP

1. สิ่งที่ RCEP อาจจะปรับปรุงจาก ASEAN+1 FTA เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไทยยิ่งขึ้นสำหรับการจัดทำความตกลง FTA โดยทั่วไปมักประกอบไปด้วย 3 ด้านหลัก คือ การค้าสินค้าการค้าบริการ และการลงทุน ทั้งนี้ ภายใต้ ASEAN+1 FTA ในส่วนการค้าสินค้า ได้มีการบังคับใช้แล้วทุกฉบับ แต่ด้านการค้าบริการและการลงทุนหลายฉบับยังอยู่ในระหว่างการเจรจา เช่น ASEAN-Japan FTA ที่ยังอยู่ในระหว่างการเจรจาด้านการค้าบริการและการลงทุน

เนื่องด้วยอาเซียนทำ ASEAN+1 FTA แยกฉบับกับประเทศจีน เกาหลี ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และอินเดียแล้ว ดังนั้น การที่ RCEP จะเกิดประโยชน์ได้ จำเป็นต้องปรับปรุงหรือต่อยอดจาก ASEAN+1 FTA เดิม ทั้งนี้ เมื่อพิจารณา ASEAN+1 FTA แล้ว พบว่า ยังมีความไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ RCEP สามารถต่อเติม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไทยยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนได้ ดังนี้

1.1 การค้าสินค้า

หาก RCEP สามารถผลักดันให้มีการลดภาษีสินค้าให้เร็วขึ้นและครอบคลุมจำนวนรายการมากขึ้น โดยเจรจาให้มีการเปิดตลาดสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพของไทย ซึ่งยังถูกกีดกันจากประเทศคู่เจรจาอยู่ ก็จะเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น

การเปิดตลาดการค้าสินค้ามักจะครอบคลุมถึงการปรับลดมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าสินค้าระหว่างประเทศภาคี โดยเฉพาะภาษีศุลกากรและมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การจำกัดปริมาณการนำเข้าสินค้าในรูปของโควตา ทั้งนี้ข้อกำหนดเรื่องการปรับลดภาษีศุลกากรจะรวมถึงการกำหนดสัดส่วนของรายการสินค้าที่จะมีการลดภาษี และระยะเวลาก่อนที่จะมีการลดภาษีตามเป้าหมายจริง

สำหรับสถานะและข้อจำกัดของความตกลงด้านการค้าสินค้าภายใต้ ASEAN+1 FTA สรุปได้ดังนี้

  • ความครอบคลุมของสินค้าและระยะเวลาในการลดภาษี: แม้ว่าการเปิดเสรีด้านสินค้าภายใต้ASEAN+1 FTA นั้นได้บังคับใช้แล้วทุกฉบับ แต่การลดภาษียังไม่ครอบคลุมทุกรายการสินค้า และใช้ระยะเวลานานในการลดภาษี เช่น ภายใต้ ASEANAustralia-New Zealand FTA นั้นแม้ว่าจะลดภาษีแล้วประมาณร้อยละ 90 ของรายการสินค้า แต่ระยะเวลาที่ใช้ในการลดภาษีนั้นยาวนานถึงปี 2020 และภายใต้ ASEAN-Japan FTA ขณะนี้การลดภาษีสินค้าออกของไทยให้เหลือร้อยละศูนย์นั้นครอบคลุมเพียงร้อยละ 31 ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยจะใช้เวลาถึง 6 ปี ถึงจะครอบคลุมร้อยละ 80 ของรายการสินค้าทั้งหมด
  • สินค้าศักยภาพ*(3): ข้าวเป็นสินค้าสำคัญที่ไทยมีศักยภาพ แต่มักถูกจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ไม่ลดภาษี หรือลดภาษีล่าช้า เช่น ใน ASEAN-China FTA แม้ว่าจะมีการเปิดเสรีตั้งแต่ปี 2004 แต่ข้าวถูกกำหนดให้ลดภาษีเหลือร้อยละ 0-5 ในปี 2018 สำหรับ ASEAN-Korea FTA ข้าวถูกจัดเป็นสินค้าอ่อนไหว ซึ่งจะไม่ลดภาษี ส่วน ASEAN-Japan FTA นั้นยังไม่มีการเปิดตลาดสินค้าข้าว และใน ASEANIndia FTA นั้น ข้าวเป็นสินค้าที่จะไม่ลดภาษีของทั้งฝ่ายไทยและอินเดีย โดยอินเดียกำหนดภาษีสูงถึงร้อยละ 30-150 ขณะที่ไทยกำหนดเพียงร้อยละ 40-60 เท่านั้น
  • สินค้าเกษตรอื่นๆ ที่ไทยมีศักยภาพ*(4): น้ำตาล มันสำปะหลัง ไก่ อาหารทะเลกระป๋องและผลไม้เมืองร้อน เป็นสินค้าเกษตรที่ไทยมีศักยภาพ แต่ยังคงไม่ได้รับประโยชน์จาก ASEAN+1 FTA อย่างเต็มที่ เช่น ใน ASEANJapan FTA ยังไม่มีการเปิดตลาดให้มันสำปะหลังและไก่ ส่วนอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปนั้น จะลดภาษีในปี 2016 ใน ASEAN-Korea FTA สินค้าไก่ทูน่ากระป๋อง และผลไม้เมืองร้อนถูกจัดอยู่ในรายการสินค้าอ่อนไหว ซึ่งจะถูกลดภาษีในปี 2016 นอกจากนี้ ภายใต้ ASEAN-China FTA จะลดภาษีน้ำตาลเหลือร้อยละ 0-5 ภายในปี 2018 แม้ว่าจะมีการเปิดเสรีสินค้ามาตั้งแต่ปี 2004
  • สินค้าอุตสาหกรรม*(5): ภายใต้ ASEAN+1 FTA นั้น แม้ว่าสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการได้ลดภาษีแล้ว แต่มีบางรายการที่ไทยน่าจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น หากสามารถลดภาษีได้มากขึ้นเช่น แม้ว่ามีบางรายการในหมวดสินค้าสิ่งทอซึ่งออสเตรเลียได้ลดภาษีเป็นศูนย์แล้วภายใต้ ASEAN-Australia-New Zealand FTA แต่บางรายการก็อาจจะยังไม่ลดภาษีเป็นศูนย์จนกระทั่งปี 2020 นอกจากนี้ สินค้าเครื่องปรับอากาศ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก จะยังไม่ลดภาษีเหลือร้อยละ 5 และ 0 ตามลำดับจนกระทั่งปี 2016 ภายใต้ ASEAN-India FTA

1.2 การค้าบริการ

ในความเป็นจริง ASEAN+1 FTA ยังไม่ค่อยได้เปิดตลาดบริการเพิ่มจาก WTO เท่าใดนัก

การเปิดตลาดการค้าบริการ มักจะครอบคลุมถึงการปรับลดมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการระหว่างประเทศภาคี เช่น ข้อกำหนดเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในธุรกิจบริการข้อกำหนดเรื่องการเข้ามาให้บริการโดยบุคคลธรรมดาที่เป็นชาวต่างชาติ ทั้งนี้ เนื่องจากบริการเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ และบริการแต่ละประเภทก็มีลักษณะเฉพาะของตน ทำให้การเปรียบเทียบหรือประมวลภาพรวมของบริการประเภทต่างๆ ทำได้ยากกว่าในกรณีของสินค้า

นอกจากนี้ ประเทศสมาชิก RCEP ต่างก็เป็นสมาชิก WTO จึงได้เข้าร่วมจัดทำความตกลงด้านการค้าบริการภายใต้ WTO แล้ว ด้วยเหตุนี้ การเปิดตลาดบริการภายใต้ ASEAN+1 FTA ควรจะเปิดตลาดไม่น้อยกว่าใน WTO (ยกเว้นในกรณีของสาขาบริการที่ไม่ผูกพันการเปิดตลาดภายใต้ ASEAN+1 FTA)

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการเปิดตลาดบริการภายใต้ ASEAN+1 FTA ในหลายสาขาแล้ว แต่ยังมีบริการบางสาขาแทบจะไม่ผูกพันการเปิดตลาดเลย เช่น ภายใต้ ASEAN-China FTA นั้น แม้ว่าจะเปิดเสรีด้านการค้าบริการแล้ว แต่ยังมีหลายสาขาที่ไม่ผูกพันการเปิดเสรี หรือเปิดเสรีให้เท่ากับที่ผูกพันไว้ใน WTO เท่านั้น

ทั้งนี้ สามารถสรุปสถานะการเปิดตลาด บริการภายใต้ ASEAN+1 ได้ ดังนี้

  • ในกรณีของไทย ธุรกิจบริการของไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในสถานะเตรียมตั้งรับการแข่งขันจากต่างชาติ มากกว่าที่จะแสดงความจำนงให้ต่างชาติเปิดตลาดให้ตนเข้าไปแข่งขันในต่างประเทศ ทำให้ยังไม่ค่อยมีสัญญาณของความพร้อมที่จะแข่งขันเชิงรุกในตลาดต่างประเทศ
  • สาขาบริการบางประเภท เช่น บริการทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการธนาคารยังเป็นสาขาบริการที่อ่อนไหวสำหรับประเทศสมาชิก RCEP หลายประเทศ รวมทั้งไทย โดยที่ภายใต้ ASEAN+1 FTA ไทยยังไม่ได้เปิดตลาดบริการด้านการธนาคาร เกินกว่าที่ผูกพันไว้ภายใต้WTO*(6) ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีการเปิดตลาดบริการทางการเงินภายใต้ RCEP เพียงใด จำเป็นต้องมีช่องทางในการดูแลระบบสถาบันการเงินให้มีเสถียรภาพและมั่นคง เพื่อให้ระบบสถาบันการเงินสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
  • ธุรกิจบริการบางประเภทที่ไทยมีศักยภาพยังไม่มีการเปิดตลาดใน ASEAN+1 FTA เท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจบริการ สปาและร้านอาหารไทย โดยในธุรกิจดังกล่าว ยังไม่เปิดให้นักธุรกิจและพ่อครัวไทยเข้าไปให้บริการในจีนภายใต้ ASEAN-China FTA หรือในเกาหลีภายใต้ ASEAN-Korea FTA หรือในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ภายใต้ ASEAN-AUS/NZ FTA แต่อย่างใด ดังนั้น ถ้าหาก RCEP สามารถผลักดันให้ประเทศคู่เจรจาของอาเซียนเปิดตลาดบริการในธุรกิจเหล่านี้ซึ่งไทยมีศักยภาพสูงก็จะเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น

1.3 การลงทุน

โดยสรุป ความตกลงด้านการลงทุนของASEAN+1 FTA ส่วนใหญ่จะเน้นด้านการคุ้มครองการลงทุน ส่วนการเปิดเสรีด้านการลงทุนนั้น ยังไม่มีการจัดทำข้อผูกพันการเปิดเสรีด้านการลงทุนแต่อย่างใด ดังนั้น RCEP จะเกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อสามารถผลักดันให้มีการเปิดเสรีการลงทุนต่อยอดจาก ASEAN+1 FTA

การจัดทำความตกลงด้านการลงทุน มักจะ ครอบคลุมถึง (1) การคุ้มครองการลงทุน และ (2) การเปิดเสรีการลงทุน โดยการคุ้มครองการลงทุน คือ การที่ประเทศเจ้าบ้านคุ้มครองสิทธิของนักลงทุนต่างชาติในมิติสำคัญ เช่น การโอนเงิน การได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม การได้รับค่าชดเชยจากการถูกเวนคืนทรัพย์สินหรือจากความเสียหายอื่นๆ ในขณะที่การเปิดเสรีการลงทุน คือ การที่ประเทศเจ้าบ้านมีข้อผูกพันที่จะปรับลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งกิจการลงทุนของต่างชาติ

ส่วนใหญ่ ASEAN+1 FTA จะมีบทบัญญัติคุ้มครองการลงทุนเรียบร้อยแล้ว ยกเว้นASEAN-Japan FTA และ ASEAN-India FTA ซึ่งยังอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงด้านการลงทุน โดยสามารถสรุปประเด็นสำคัญด้านการลงทุนภายใต้ ASEAN+1 ได้ ดังนี้

  • ในเรื่องการเปิดเสรีการลงทุน ยังไม่มี ASEAN+1 FTA ฉบับใดที่ได้มีการจัดทำตารางข้อผูกพันการเปิดเสรีการลงทุน มีเพียงกำหนดว่าจะจัดทำตารางข้อผูกพันฯ หลังจากที่ความตกลงมีผลบังคับใช้แล้วตามจำนวนปีที่กำหนด นอกจากนี้ความตกลง ASEAN-China FTA ก็จะไม่ครอบคลุมถึงการเปิดเสรีการลงทุนแต่อย่างใด ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ASEAN+1 FTA มีความไม่สมบูรณ์ในแง่ที่ยังไม่มีการเปิดเสรีการลงทุนเลย จึงเป็นโอกาสสำหรับ RCEP ที่จะพิจารณาจัดทำข้อผูกพันการเปิดเสรีการลงทุน เพื่อช่วยลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งกิจการลงทุนในภูมิภาค
  • แม้ว่าได้มีการคุ้มครองสิทธิของนักลงทุนในการเคลื่อนย้ายเงินทุน และมีแนวโน้มที่จะเปิดเสรีการลงทุนภายใต้ความตกลงในภูมิภาคมากขึ้น แต่ภาครัฐก็ยังจำเป็นต้องมีช่องทางด้านการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งความตกลงด้านการลงทุนภายใต้ASEAN+1 FTA ฉบับที่มีผลบังคับใช้แล้ว ก็ได้มีช่องทางการกำกับดูแลดังกล่าวในระดับที่ยอมรับกันในภูมิภาค
2. ความท้าทาย

การจัดทำ RCEP อาจจะเผชิญความท้าทาย หลายประการ ดังนี้

ประการแรก แม้ประเทศสมาชิก RCEP ได้แสดงเจตนารมณ์จะให้ RCEP ต่อยอดจาก ASEAN+1 FTA แต่ยังต้องจับตาดูว่าระดับการเปิดตลาดที่จะให้ระหว่างกันในกลุ่มใหญ่ภายใต้ RCEP จะลึกขึ้นกว่าที่ให้กันใน ASEAN+1 FTA ได้จริงหรือไม่ เนื่องด้วยโดยปกติ ความตกลงกลุ่มใหญ่มักเปิดตลาดระหว่างกันในระดับที่ไม่ลึกเท่ากับในความตกลงกลุ่มเล็ก

ประการที่สอง ปัญหากรณีพิพาทเรื่องพรมแดนระหว่างประเทศสมาชิกบางประเทศ ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีผลต่อความมุ่งมั่นในการจัดทำความตกลง RCEP หรือไม่ แต่ทั้งนี้ ถ้าหากประเทศสมาชิก RCEP คำนึงถึงประโยชน์ระยะยาวจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ก็น่าจะสามารถก้าวข้ามกรณีพิพาทเหล่านี้ไปได้ในท้ายที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องด้วยคู่กรณีพิพาทหลัก คือ จีนและญี่ปุ่น ต่างยังไม่เข้าร่วม TPP ด้วยเหตุนี้ ทั้ง 2 ประเทศนี้จึงน่าจะยังต้องเก็บเกี่ยวโอกาสจากเวที RCEP ต่อไป

ประการที่สาม RCEP มักจะได้รับการเปรียบเทียบกับ TPP เพราะต่างก็เป็นเวทีซึ่งมีแนวโน้มที่จะขับเคี่ยวและช่วงชิงความเป็นเวทีชั้นนำของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยที่ประเทศมหาอำนาจที่หนุนหลังแต่ละเวทีนี้ คือ จีน และสหรัฐฯ ต่างก็พยายามคานอำนาจซึ่งกันและกันทั้งนี้ แม้ว่า TPP จะมีจุดเด่นในเรื่องของมาตรฐานที่สูง แต่ RCEP ก็มีจุดดึงดูดในแง่ของการให้ความยืดหยุ่นแก่ประเทศกำลังพัฒนาโดยคำนึงถึงระดับของพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันระหว่างประเทศคู่เจรจา ดังนั้น RCEP จึงอาจจะไม่ทะเยอทะยานเปิดเสรีในระดับสูงมากเท่ากับ TPP แต่คำนึงถึงความพร้อมของแต่ละประเทศมากกว่า

ทั้งนี้ สำหรับกรณีของไทย ซึ่งขณะนี้ได้เข้าร่วม RCEP แล้ว ในขณะเดียวกันรัฐบาลไทยก็ได้แสดงท่าทีสนใจจะเข้าร่วม TPP จึงมีความเป็นไปได้ที่ไทยอาจได้เข้าร่วมทั้ง RCEP และ TPP ในท้ายที่สุด ทำให้ในระยะต่อไป ไทยอาจจะต้องชั่งน้ำหนักระดับการเปิดเสรีระหว่าง RCEP และ TPP อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ถ้าหากจะเปิดเสรีภายใต้ TPP มากกว่าที่เปิดเสรีภายใต้ RCEP หรือภายใต้ AEC ของอาเซียนเอง นั้น จะเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากหากดำเนินการเช่นนั้น อาจทำให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายใต้ AEC มีความสำคัญน้อยลง

3. สรุป

ความตกลง RCEP ไม่ใช่ FTA ฉบับแรกที่อาเซียนและประเทศสมาชิก RCEP อื่นจัดทำระหว่างกัน เนื่องจากอาเซียนได้จัดทำหรืออยู่ระหว่างจัดทำ FTA แยกฉบับ (ASEAN+1 FTA) กับประเทศสมาชิก RCEP อื่นแต่ละประเทศแล้ว

บทความนี้ได้ชี้ว่าหาก RCEP สามารถปรับปรุงหรือต่อยอดจากความตกลง ASEAN+1 FTA ทั้งในด้านสินค้า ด้านบริการ และด้านการลงทุนที่มีความไม่สมบูรณ์ได้สำเร็จ ก็จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกรวมทั้งไทยเมื่อพิจารณา 3 ด้านหลักของการจัดทำความตกลง ASEAN+1 FTA คือด้านการค้าสินค้าด้านการค้าบริการและการลงทุนนั้น อาจสรุปได้ดังนี้

  • การค้าสินค้า: RCEP น่าจะสามารถผลักดันให้มีการลดภาษีสินค้าให้เร็วขึ้นและครอบคลุมจำนวนรายการมากขึ้นกว่า ASEAN+1 FTA โดยเจรจาให้มีการเปิดตลาดสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพของไทย เช่น ข้าว น้ำตาล มันสำปะหลัง ไก่ อาหารทะเลกระป๋อง และผลไม้เมืองร้อน ที่ยังคงไม่ได้ประโยชน์จาก ASEAN+1 FTA อย่างเต็มที่ และสินค้าอุตสาหกรรม เช่น สิ่งทอ เครื่องปรับอากาศพลาสติก เป็นต้น
  • การค้าบริการ: มีบางสาขาที่ไทยมีศักยภาพแต่ยังไม่มีการเปิดตลาดใน ASEAN+1 FTA เท่าใดนัก เช่น ธุรกิจบริการสปา และร้านอาหารไทยโดยรวมแล้ว ไทยอาจจะต้องพัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านบริการในหลายสาขา เพื่อเตรียมพร้อมในการเปิดตลาดในอนาคต พร้อมทั้งมองหาโอกาสในการออกไปแข่งขันเชิงรุกในตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น แทนที่จะเน้นตั้งรับการแข่งขันจากต่างชาติในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่
  • การลงทุน: ASEAN+1 FTA โดยส่วนใหญ่ได้มีบทบัญญัติคุ้มครองการลงทุนเรียบร้อยแล้วส่วนในเรื่องการเปิดเสรีการลงทุน ยังไม่มี ASEAN+1FTA ฉบับใดที่ได้จัดทำข้อผูกพันการเปิดเสรีการลงทุน มีเพียงกำ หนดว่าจะจัดทำ ข้อผูกพันฯ หลังจากที่ความตกลงมีผลบังคับใช้แล้วตามจำนวนปีที่กำหนด จึงเป็นโอกาสสำ หรับ RCEP ที่จะพิจารณาจัดทำข้อผูกพันการเปิดเสรีการลงทุน
เพื่อช่วยลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งกิจการลงทุนในภูมิภาค

ในภาพรวมปัจจุบัน การจัดทำความตกลง RCEP กำลังถูกจับตามองจากหลายฝ่าย เนื่องจากเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับกลุ่มประเทศผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีนซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคและเศรษฐกิจโลกในอนาคต อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ คือ การที่ประเทศสมาชิก RCEP (รวมทั้งไทย) จะเก็บเกี่ยวโอกาสจากการจัดทำ RCEP ได้อย่างแท้จริงนั้น ความตกลง RCEP จะต้องปรับปรุงหรือต่อยอดจาก ASEAN+1 FTA ได้จริง ซึ่งจะต้องอาศัยความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิก RCEP ในระยะต่อไป

*(1) สถานะล่าสุดของ RCEP — ในการประชุม ASEANSummit ครั้งที่ 21 ในเดือนพฤศจิกายน 2012 ผู้นำของประเทศสมาชิก RCEP ได้ประกาศเปิดการเจรจาจัดทำความตกลง RCEP โดยคาดว่าจะเริ่มเจรจาในครึ่งหลังของปี 2013 และมีเป้าหมายเจรจาให้เสร็จภายในปี 2015

*(2) Free Trade Agreement (FTA) คือ สัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศคู่เจรจาตกลงกันว่าจะปรับลดกฎระเบียบและพิธีปฏิบัติที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าสินค้าการบริการ และการลงทุนระหว่างประเทศ

*(3) ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานเศรษฐกิจ การเกษตร

*(4) ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

*(5) ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

*(6) ภายใต้ ASEAN-Australia/New Zealand FTA และ ASEANKorea FTA นั้น ไทยผูกพันการเปิดตลาดบริการด้านการธนาคาร เท่ากับที่ผูกพันภายใต้ WTO กล่าวคือ ใน Mode 1 และ Mode 2 ไทยเปิดตลาดเฉพาะบริการให้คำปรึกษาทางการเงินและบริการประมวลผลข้อมูลทางการเงิน ในขณะที่ ในMode 3 และ Mode 4 ไทยระบุข้อกำหนดและเงื่อนไขให้ต่างชาติเข้ามาทำ ธุรกิจผ่านสถานประกอบการ และให้ชาวต่างชาติที่เป็นบุคคลธรรมดาเดินทางเข้ามาให้บริการในไทยโดยแยกตามลักษณะของกิจการ เช่น Representative Office และ Foreign Bank Branch เป็นต้น ส่วน ASEAN+1 FTA ฉบับอื่นๆ ยังไม่มีการผูกพันเปิดตลาดบริการด้านนี้

References

ASEAN and Australia, China, India, Japan, Korea, and New Zealand, “Guiding Principles and Objectives for Negotiating the Regional Comprehensive Economic Partnership”, finalized at the First ASEAN Economic Ministers Plus ASEAN FTA Partners Consultations, Siem Reap, Cambodia, 30 August 2012, endorsed and released at the 21st ASEAN Summit and Related Summits, Phnom Penh, Cambodia, 20 November 2012.

ASEAN and Australia, China, India, Japan, Korea, and New Zealand, “Joint Declaration on the Launch of Negotiations for the Regional Comprehensive Economic Partnership”, endorsed and released at the 21st ASEAN Summit and Related Summits, Phnom Penh, Cambodia, 20 November 2012.

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, 2551.สรุปสาระสำคัญความตกลงการค้าเสรี อาเซียน- อินเดีย, ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น, ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย- นิวซีแลนด์ (AANZFTA) สรุปภาพรวมความตกลง การค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (AKFTA) อาเซียน-จีน (ACFTA) และอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) สำนักเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ สำนักงาน เศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, http://www2.oae.go.th/biae/

บทความนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เพราะความช่วยเหลือ และคำแนะนำจากคุณปฤษันต์ จันทน์หอม คุณสุพัฒน์พงษ์ นาวารัตน์ คุณสุชาดา เดชตระกูล คุณปริวรรต กนิษฐะเสน คุณเก่งใจ วัจนะพุกกะคุณ สุรัช แทนบุญ คุณ ศุภโชคถาวร ไกรวงศ์ คุณไพลิน ผลิตวานนท์ คุณฐิติพร บรรจงกาลกุล คุณวิสาข์ โตโพธิ์ไทย และคุณสุริยา สิริวุฒิจรุงจิตต์ ผู้เขียนขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้

Contact authors :

หฤษฎ์ รอดประเสริฐ

เศรษฐกรอาวุโส

HaritR@bot.or.th

ธนิดา ลอเสรีวานิช

เศรษฐกร

ThanidaL@bot.or.th

ฝ่ายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สายนโยบายการเงิน

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ