การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต สำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต

ข่าวกฏหมายและประกาศ Saturday March 20, 2004 13:51 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                26  มีนาคม 2547 
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน
ที่ สนส.(21)ว. 48/2547 เรื่อง นำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต สำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอนำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ บัตรเครดิตลงวันที่ 23 มีนาคม 2547 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 121 ตอนพิเศษ 35 ง. ลงวันที่ 25 มีนาคม 2547 แล้ว
สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้คือ
1. คำจำกัดความของบัตรเครดิต และคุณสมบัติของผู้ถือบัตรเครดิต
กำหนดคำจำกัดความของบัตรหลักและบัตรเสริม และกำหนดคุณสมบัติของ ผู้ถือบัตรแต่ละประเภทให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
2. การชำระหนี้และการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้
2.1 เพิ่มอัตราการผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำ จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของ ยอดคงค้างทั้งสิ้นเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของยอดคงค้างทั้งสิ้น โดยให้ถือปฏิบัติสำหรับผู้ถือบัตร รายใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 และผู้ถือบัตรรายเก่าตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2550 เป็นต้นไป
2.2 ให้ยกเลิกการใช้บัตรเครดิตกรณีผู้ถือบัตรมีการผิดนัดชำระหนี้เกินกว่า 3 เดือน นับแต่วันครบกำหนดชำระ
3. การเปลี่ยนประเภทหนี้
กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต้องดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนด กรณีมีการโอนหนี้บัตรเครดิต หรือเปลี่ยนประเภทหนี้บัตรเครดิตไปเป็นหนี้ประเภทอื่น
4. การปฏิบัติและการจัดการเกี่ยวกับข้อมูลผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภค
กำหนดวงเงินที่จะให้แก่ผู้ถือบัตรแต่ละรายต้องไม่เกิน 5 เท่าของรายได้เฉลี่ย ต่อเดือน หรือกระแสเงินสดหมุนเวียนในบัญชีเงินฝาก โดยในกรณีผู้ถือบัตรรายเก่าให้ถือปฏิบัติตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นไป
5. เรื่องอื่นๆ
หนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต้องจัดให้มีระเบียบ หรือพิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ หรือระบุในสัญญาการแต่งตั้งตัวแทนเพื่อกระทำการแทนผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ในเรื่องการติดต่อหาผู้ถือบัตรรายใหม่ หรือติดต่อกับผู้ถือบัตรรายเก่าเพื่อเสนอสินเชื่อประเภทใหม่
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นายสามารถ บูรณวัฒนาโชค)
ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายถาบันการเงิน
ผู้ว่าการแทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ลงวันที่ 23 มีนาคม 2547
ฝ่ายนโยบายความเสี่ยงและวิเคราะห์
โทร. 0-2283-5304, 0-2283-5837
หมายเหตุ [
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่ ........ ณ...............
[X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจ
บัตรเครดิต สำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต
___________________________
1. เหตุผลในการออกประกาศ
เพื่อเป็นการพิทักษ์รักษาประโยชน์ของประชาชน และเป็นการระมัดระวังและป้องกันปัญหาจากบัตรเครดิตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนเพื่อให้หลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจบัตรเครดิตมีความเหมาะสม ชัดเจนและสามารถถือปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน
2. อำนาจตามกฎหมาย
ธนาคารแห่งประเทศไทยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 8 แห่งประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2545 ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตามที่กำหนดในประกาศฉบับนี้
3. ขอบเขตการบังคับใช้
ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
4. เนื้อหา
4.1 ให้ยกเลิกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2545 ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 29 กันยายน 2546 และหนังสือที่ ธปท.สนส.(21)ว.536/2546 เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจเรื่องคุณสมบัติของผู้ถือบัตร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2546
4.2 ในประกาศนี้
" บัตรหลัก" หมายความว่า บัตรเครดิตที่ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตออกให้แก่ผู้ถือ บัตรหรือผู้บริโภคที่เป็นผู้มีรายได้หรือฐานะทางการเงินเพียงพอสำหรับการชำระหนี้ตามบัตรเครดิตได้ "บัตรเสริม" หมายความว่า บัตรเครดิตที่ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตออกให้แก่ผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคที่ผู้ถือบัตรหลักยินยอมให้ใช้จ่ายเงินภายในวงเงินของผู้ถือบัตรหลัก และผู้ถือบัตรหลักจะเป็น ผู้รับผิดชอบชำระหนี้อันเกิดจากบัตรเสริมทั้งหมด
4.3 คุณสมบัติของผู้ถือบัตรเครดิต
กรณีผู้ถือบัตรหลัก
ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตจะออกบัตรหลักให้แก่ผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคได้ เมื่อผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคมีคุณสมบัติเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
(1) มีรายได้จากแหล่งที่มาต่างๆรวมกันไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท ต่อเดือน หรือไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท ต่อปี โดยต้องแสดงหลักฐานที่แน่ชัดเกี่ยวกับแหล่งที่มาของรายได้
(2) เป็นผู้มีรายได้หรือเคยมีรายได้จากการทำมาหาได้ของตนเอง โดยพิจารณาจากกระแสเงินสดหมุนเวียนในบัญชีเงินฝากของสถาบันการเงินเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน และผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นผู้มีฐานะทางการเงินเพียงพอสำหรับการชำระเงินตามบัตรเครดิตได้
กรณีผู้ถือบัตรเสริม
ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตอาจออกบัตรเสริมให้กับผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติตาม (1)-(2) ข้างต้น หรือผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำได้ ภายใต้สัญญาที่ทำกับผู้ถือบัตรหลัก โดยวงเงินการใช้จ่ายของผู้ถือ บัตรเสริมต้องอยู่ภายในวงเงินของผู้ถือบัตรหลักเท่านั้น และผู้ถือบัตรหลักจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้อันเกิดจากบัตรเสริมทั้งหมด
กรณีผู้ถือบัตรรายเก่า
ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตจะต่ออายุบัตรเครดิตให้แก่ผู้ถือบัตรรายเก่าที่มีรายได้จากแหล่งที่มาต่างๆ รวมกันต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน หรือต่ำกว่า 180,000 บาท ต่อปี ได้ หากผู้ถือบัตรรายเก่ามีประวัติการชำระหนี้ที่ดีต่อเนื่องกัน โดยในรอบ 1 ปี ย้อนหลังไม่เคยผิดนัดชำระหนี้เกิน 2 ครั้ง แต่ละครั้ง ไม่เกิน 30 วัน
4.4
ดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ เกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิต ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต้องถือปฏิบัติในเรื่อง ดอกเบี้ย ค่าปรับ และค่าธรรมเนียมใด ๆ เกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(1) ประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ค่าบริการ ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการใช้บัตรเครดิตซึ่งมีผลใช้บังคับในขณะนั้นตามแบบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามประกาศนี้ ในที่เปิดเผย ณ สถานที่ทำการทุกแห่ง ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดังกล่าวหรือเงื่อนไขใด ๆ ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต้องแจ้งให้ผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคทราบล่วงหน้าก่อนวันที่จะเริ่มเปลี่ยนแปลง ไม่น้อยกว่า 30 วัน
(2) แจ้งรายละเอียดตามแบบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตาม (1) ให้ผู้ถือบัตรหรือ ผู้บริโภคที่ประสงค์จะขอมีบัตรเครดิตทราบ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาขอมีบัตรเครดิต
(3) ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตจะเรียกเก็บค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ จากผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคนอกเหนือจากรายการตามแบบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตาม (1) ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน (5) ภายใต้บังคับตาม (4) ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตอาจเรียกเก็บดอกเบี้ยในหนี้ค้างชำระ หรือดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดชำระหนี้ หรือค่าปรับในการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด หรือค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการอื่นใดจากผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคได้ แต่ดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม และค่าบริการนั้น เมื่อคำนวณรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 18 ต่อปี ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตอาจคำนวณจำนวนวันตั้งแต่วันที่ทดรองจ่ายเงินเพื่อประโยชน์ของผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภค หรือวันที่สรุปยอดรายการ หรือวันที่ ผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคต้องชำระเงินหรือถูกหักบัญชีตามใบแจ้งหนี้ก็ได้
(6) ค่าธรรมเนียม และค่าบริการอื่นใดตาม (5) ไม่รวมถึงค่าธรรมเนียมในการดำเนินงาน ที่ระบุในแบบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตาม (1) และค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ตาม (3) และ (4) และค่าใช้จ่ายตาม (7)
(7)
ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตอาจเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคได้ตามจำนวนเงินดังต่อไปนี้
(ก) ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการติดตามทวงถามการชำระหนี้ตามจำนวนเงินที่ใช้จ่ายไปจริง และพอสมควรแก่กรณี
(ข) ค่าปรับกรณีเช็คคืน ไม่เกิน 200 บาทต่อครั้ง
(8)
ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตนำค่าปรับตาม (5) และ ค่าใช้จ่ายตาม (7) มารวมกับจำนวนหนี้ที่ค้างชำระเพื่อคิดค่าปรับอีก
4.5 การเรียกให้ชำระหนี้และการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้
ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต้องถือปฏิบัติในการเรียกให้ชำระหนี้และการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ ดังต่อไปนี้
(1) หากผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตประสงค์จะให้ผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคผ่อนชำระหนี้เป็นงวด จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการผ่อนชำระหนี้โดยให้ผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคชำระใน แต่ละงวด ดังนี้ (4)
ในการให้บริการเบิกถอนเงินสดผ่านบัตรเครดิต ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตจะ เรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใด ๆ รวมกันได้ไม่เกินร้อยละ 3 ของจำนวนเงินสดที่เบิกถอนนั้น
(ก) ผู้ถือบัตรรายใหม่นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547จะต้องชำระหนี้ขั้นต่ำในแต่ละงวด ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของยอดคงค้างทั้งสิ้น
(ข) ผู้ถือบัตรรายเก่าก่อนวันที่ 1 เมษายน 2547 ต้องชำระหนี้ในแต่ละงวดไม่น้อยกว่า ร้อยละ 5 ของยอดคงค้างทั้งสิ้น และตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2550 จะต้องชำระหนี้ขั้นต่ำในแต่ละงวด ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของยอดคงค้างทั้งสิ้น
(2)
ต้องมีหนังสือเตือนผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 วัน ก่อนดำเนินการบังคับชำระหนี้ตามกฎหมาย
(3) จัดส่งใบแจ้งหนี้ให้แก่ผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 10 วันก่อน วันถึงกำหนดชำระหรือหักบัญชี ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการคิดดอกเบี้ยหรือค่าใช้จ่ายในหนี้ค้างชำระให้แสดง รายละเอียดการคำนวณดอกเบี้ยหรือค่าใช้จ่ายดังกล่าวในใบแจ้งหนี้ด้วย
(4) กรณีที่ผู้ถือบัตรมีการผิดนัดชำระหนี้เกินกว่า 3 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระ ให้ ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตยกเลิกการใช้บัตรเครดิตของผู้ถือบัตรรายนั้นทันที
4.6 การเปลี่ยนประเภทหนี้
ห้ามผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตโอนหนี้ หรือเปลี่ยนประเภทหนี้ที่เกิดจากการใช้ บัตรเครดิต ไปเป็นหนี้ตามสัญญาสินเชื่อประเภทอื่น เว้นแต่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคก่อน
(2) ต้องกำหนดให้มีการชำระหนี้ขั้นต่ำในแต่ละงวดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของยอดหนี้คงค้าง เว้นแต่เป็นการดำเนินการเพื่อการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้ถือบัตร โดยเฉพาะในเรื่อง ดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ต่ำลงและผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตจะต้องจัดทำเอกสารหลักฐานสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ครบถ้วนและมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
(3) การเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ ต้องเป็นไปตามข้อ 4.4 (4)-(8) ของประกาศฉบับนี้
(4) ต้องยกเลิกการใช้บัตร และบัญชีบัตรเครดิตของผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภครายนั้นทันที
4.7 การปฏิบัติและการจัดการเกี่ยวกับข้อมูลผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภค
(1) ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต้องให้ความสำคัญและจัดให้มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ขอบัตรที่ ถูกต้องและครบถ้วนเพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติและกำหนดวงเงินบัตรเครดิตที่เหมาะสม และ สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยใช้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลกลางที่เชื่อถือได้ เช่น บริษัทที่ประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต เป็นต้น หรือร่วมกันจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อใช้ข้อมูลร่วมกัน เพื่อสอบยันประวัติส่วนตัวของผู้ขอมีบัตร จำนวนบัตรและวงเงินบัตรเครดิตที่ได้รับทั้งสิ้น ตลอดจนข้อมูลอื่น ๆ
วงเงินที่จะให้แก่ผู้ถือบัตรเครดิต แต่ละรายต้องไม่เกิน 5 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน หรือกระแสเงินสดหมุนเวียนในบัญชีเงินฝากตามข้อ 4.3 สำหรับผู้ถือบัตรรายเก่าก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ อนุโลมให้ถือปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นไป
(3) ให้ผู้ยื่นขอบัตรรายใหม่และผู้ถือบัตรรายเก่าที่ประสงค์จะขอวงเงินเพิ่ม ต้องแจ้ง รายละเอียดเกี่ยวกับบัตรเครดิตและวงเงินที่ได้รับขณะยื่นขอบัตรเครดิตหรือขอเพิ่มวงเงิน ที่ครบถ้วนและ ถูกต้อง โดยผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต้องแจ้งให้ลูกค้ารับทราบเกี่ยวกับความสำคัญของการแจ้งข้อมูล ดังกล่าว ซึ่งมีผลให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตอาจบอกเลิกการถือบัตรได้หากต่อมาตรวจพบว่ามีการแจ้ง ข้อมูลดังกล่าวไม่ถูกต้อง
(4) ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต้องรักษาข้อมูลของผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคไว้เป็นความลับ เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้
(ก) การเปิดเผยโดยได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภค
(ข) การเปิดเผยตามหน้าที่ หรือเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนหรือการพิจารณาคดี
(ค) การเปิดเผยแก่ผู้สอบบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตนั้น
(ง) การส่งข้อมูลเครดิตให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต
(จ) การเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมาย
4.8 การปฏิบัติเมื่อมีข้อร้องเรียน
ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตจะต้องดำเนินการตรวจสอบเมื่อผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภค ร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิต และแจ้งความคืบหน้ารวมทั้งชี้แจงขั้นตอนต่อไปให้ผู้ถือบัตรหรือ ผู้บริโภคทราบภายใน 7 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งการร้องเรียน รวมทั้งให้ดำเนินการแก้ไขข้อร้องเรียนนั้นให้แล้วเสร็จ และแจ้งให้ผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคนั้นทราบโดยเร็ว
4.9 การจัดทำบัญชีและการรายงาน
ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตจะต้องจัดทำข้อมูลในรูปแบบชุดข้อมูล (Data Set) ตามรายชื่อชุดข้อมูลและคำอธิบายการจัดทำข้อมูลตามแบบที่กำหนดไว้ท้ายประกาศตั้งแต่งวดข้อมูลเดือนธันวาคม 2546 เป็นต้นไป โดยส่งข้อมูลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตามวิธีการและหลักเกณฑ์ที่กำหนดในระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยบริการด้านการรับส่งข้อมูลด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับระบบบริหาร ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2546
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะถือว่าได้รับข้อมูลตามชุดข้อมูล (Data Set) ผ่านระบบ สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตส่งข้อมูลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย และผ่านเกณฑ์การตรวจสอบเบื้องต้น (Basic Validation) ของระบบบริหารข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว
4.10 เรื่องอื่นๆ
(1) ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต้องกำหนดนโยบายและแผนงานในการดำเนินธุรกิจ บัตรเครดิต และเสนอคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตเพื่อให้ความเห็นชอบทุกปี ทั้งนี้ นโยบายและแผนงานดังกล่าว ควรประกอบด้วยทิศทางและแนวทางในการให้บริการบัตรเครดิต พร้อมทั้งเป้าหมายในการให้บริการแก่ลูกค้าตามระดับรายได้ของผู้ถือบัตร
(2) ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต้องจัดให้มีระเบียบ หรือพิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของ ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต หรือระบุในสัญญาการแต่งตั้งตัวแทนเพื่อกระทำการแทนผู้ประกอบธุรกิจ บัตรเครดิตในเรื่องการการติดต่อหาผู้ถือบัตรรายใหม่ หรือติดต่อกับผู้ถือบัตรรายเก่าเพื่อเสนอสินเชื่อประเภทใหม่ พร้อมทั้งให้ถือปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
(ก) การติดต่อหาผู้ถือบัตรรายใหม่หรือติดต่อกับผู้ถือบัตรรายเก่าจะดำเนินการได้ คือตั้งแต่เวลา 8.00-20.00 น. ในวันจันทร์-วันศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการ ให้ดำเนินการตั้งแต่เวลา 8.00-18.00 น.
(ข) ห้ามมิให้มีการแจกเงิน สิ่งของ หรือบัตรกำนัลใดๆ ในการรับสมัครลูกค้ารายใหม่ หรือการอนุมัติบัตรให้ลูกค้ารายใหม่ เว้นแต่จะมียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรแล้วอย่างน้อย 1 งวด
4.11 ข้อกำหนดในประกาศนี้ ไม่ใช้บังคับแก่กรณีการออกบัตรเดบิตเพื่อใช้เบิกถอนเงินสดหรือหักทอนค่าสินค้าหรือค่าบริการ จากบัญชีเงินฝากในขณะที่ใช้บัตรนั้น
4.12 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตได้ออกบัตรเครดิตให้แก่ผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคแล้วในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ หากคุณสมบัติของผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคดังกล่าวไม่ตรงตามประกาศนี้ ให้ บัตรเครดิตนั้นยังมีผลใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดอายุของบัตรเครดิตหรือผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต บอกยกเลิกการใช้บัตรเครดิตตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตนั้น
5. วันเริ่มต้นบังคับใช้
ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 23 มีนาคม 2547
(ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ