ประกาศกระทรวงการคลัง
เรื่อง เงื่อนไขในการอนุญาตให้บริษัทเงินทุนประกอบกิจการ
ให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง
————————————————
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 (6) วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตให้บริษัทเงินทุนประกอบกิจการให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ในประกาศนี้
"การให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง" หมายความว่า การให้เช่าทรัพย์สินที่ผู้ให้เช่าจัดหามาจากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย หรือทรัพย์สินซึ่งยึดได้จากผู้เช่ารายอื่น เพื่อให้ผู้เช่าได้ใช้ประโยชน์ในกิจการอุตสาหกรรม เกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการบริการอย่างอื่นเป็นทางค้าปกติ โดยผู้เช่ามีหน้าที่ต้องบำรุงรักษาและซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่า ทั้งนี้ ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ผู้เช่ามีสิทธิที่จะซื้อหรือเช่าทรัพย์สินนั้นต่อไปในราคาหรือค่าเช่าที่ได้ตกลงกัน
"ให้เช่า" หรือ "เช่า" หมายความว่า ให้เช่าหรือเช่าในธุรกิจลีสซิ่ง
"ทรัพย์สิน" หมายความว่า ทรัพย์สินที่ให้เช่าแบบลีสซิ่ง
"ราคาเงินสด" หมายความว่า ราคาที่จะพึงซื้อขายทรัพย์สินที่ให้เช่ากันได้ในท้องตลาดด้วยเงินสด ณ วันทำสัญญาเช่า
"เงินลงทุน" หมายความว่า ผลรวมของราคาเงินสดและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่บริษัทเงินทุนต้องชำระเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สิน เช่น ค่าขนส่ง ค่าภาษีอากร และค่าเบี้ยประกัน เป็นต้น ทั้งนี้ ให้ถือว่ามียอดลดลงตามจำนวนเงินที่ผู้เช่านั้นผ่อนชำระค่าเช่ารายงวดตามสัญญาเช่า
"เงินล่วงหน้า"หมายความว่า เงินที่ผู้เช่าต้องชำระล่วงหน้าครั้งแรกเมื่อทำสัญญาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของราคาค่าเช่าตามสัญญาต่างหากจากค่าเช่ารายงวด
ข้อ 2. บริษัทเงินทุนใดประสงค์จะประกอบกิจการให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง ให้ขออนุญาตต่อรัฐมนตรี โดยยื่นคำขอต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ รัฐมนตรีจะพิจารณาอนุญาตเฉพาะบริษัทเงินทุนที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(1)เป็นบริษัทที่มีฐานะการเงินอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยมีเงินกองทุนสุทธิไม่ต่ำกว่าห้าร้อยล้านบาท และมีสินทรัพย์รวมสุทธิไม่ต่ำกว่าห้าพันล้านบาท
(2) เป็นบริษัทที่มีฐานะการดำเนินงานดี โดยพิจารณาจากฐานะสภาพคล่อง ความสามารถในการชำระหนี้ คุณภาพของสินทรัพย์ และความสามารถในการทำกำไรติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีหลังสุดก่อนยื่นคำขอ
(3) เป็นบริษัทที่มีการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยพิจารณาจากผลการดำเนินงานในอดีตของบริษัท ประกอบกับประวัติและความสามารถของผู้บริหาร
(4)เป็นบริษัทที่มีการจัดการที่รอบคอบและเชื่อถือได้มีระบบบัญชีตามมาตรฐานทั่วไป มีระบบการควบคุมภายในที่ดี และมีการติดตามหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ
(5)เป็นบริษัทที่ให้ความร่วมมือหรือให้ความช่วยเหลือตามนโยบายของทางการเป็นอย่างดี และปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายและคำสั่งของทางการอย่างเคร่งครัดตลอดเวลาที่ผ่านมา
ข้อ 3.* จำนวนเงินลงทุนที่บริษัทเงินทุนลงทุนในทรัพย์สิน เพื่อการให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เมื่อรวมกับจำนวนเงินที่บริษัทเงินทุนให้กู้ยืม ลงทุน รับรอง รับอาวัล สอดเข้าแก้หน้า สลักหลังแบบผู้รับสลักหลังมีสิทธิไล่เบี้ย ค้ำประกัน หรือก่อภาระผูกพันอื่นใด หรือจ่ายไปตามภาระผูกพันเพื่อบุคคลนั้นเมื่อสิ้นวันหนึ่งๆ ต้องไม่เกินร้อยละห้าสิบของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของบริษัทเงินทุนนั้น ทั้งนี้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยในการอนุญาตจะกำหนดเงื่อนไขใดๆ ไว้ด้วยก็ได้
บุคคลตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนตามความในมาตรา35 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526 ด้วย
ข้อ 4.*จำนวนเงินลงทุนสูงสุดที่บริษัทเงินทุนลงทุนในทรัพย์สินเพื่อให้การเช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง รวมกันทั้งสิ้นในขณะใดขณะหนึ่งต้องไม่เกินสี่เท่าของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของบริษัทเงินทุนนั้น"
ข้อ 5. ให้บริษัทเงินทุนถือปฏิบัติในการให้เช่าดังต่อไปนี้
(1)สัญญาเช่าต้องทำเป็นหนังสือและมีข้อกำหนดว่าผู้เช่าเพียงฝ่ายเดียวจะบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดไม่ได้
(2)ราคาค่าเช่าตามสัญญาต้องไม่เกินเงินลงทุนในทรัพย์สินและผลประโยชน์ที่บริษัทเงินทุนเรียกเก็บ
(3) กำหนดระยะเวลาในการให้เช่าและหลักเกณฑ์วิธีการต่ออายุสัญญาเช่า (ถ้ามี)
กำหนดระยะเวลาในการให้เช่าตามวรรคหนึ่ง ต้องมีกำหนดระยะเวลาการให้เช่าทรัพย์สินตั้งแต่สามปีขึ้นไป แต่ต้องไม่เกินอายุการใช้งานของทรัพย์สินที่ผู้ผลิตทรัพย์สินนั้นรับรอง หรือกำหนดหรือไม่เกินสามปีแล้วแต่ระยะเวลาใดจะน้อยกว่า เว้นแต่ทรัพย์สินที่ให้เช่าเป็นทรัพย์สินที่ยึดมาจากผู้เช่ารายอื่น กำหนดระยะเวลาในการให้เช่าอาจจะไม่ถึงสมาปีก็ได้
(4)ต้องจัดให้ผู้เช่าชำระเงินล่วงหน้าทันที ที่ทำสัญญาเช่าเป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่าร้อยละยี่สิบของเงินลงทุนในทรัพย์สิน ต่างหากจากการชำระเงินค่าเช่าในงวดต่อ ๆ ไป
การชำระเงินล่วงหน้าดังกล่าว บริษัทเงินทุนจะให้ผู้เช่าชำระแก่ผู้จำหน่ายทรัพย์สินนั้นโดยตรงก็ได้ แต่บริษัทเงินทุนต้องมีหลักฐานแสดงการชำระเงินหรือสำเนาหลักฐานดังกล่าวไว้
(5)ทรัพย์สินที่ให้เช่าต้องมีราคาเงินสดไม่ต่ำกว่าห้าแสนบาท ต้องเป็นทรัพย์สินประเภททุนเฉพาะเครื่องจักรหรือเครื่องมือใหม่ที่มีราคาซื้อขายแน่นอนสามารถสอบทานได้ซึ่งใช้ในการอุตสาหกรรม เกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการบริการอย่างอื่นเท่านั้นและต้องไม่ใช่ทรัพย์สินที่โดยสภาพของสินทรัพย์นั้นไม่สามารถนำไปให้ผู้อื่นเช่าได้อีก
(6)ต้องจัดให้มีการประกันภัยทรัพย์สินที่ให้เช่าเต็มมูลค่าของทรัพย์สินนั้น โดยบริษัทเงินทุนเป็นผู้รับประโยชน์ตลอดอายุสัญญาเช่า
(7) การเรียกค่าปรับจากผู้เช่าในกรณีที่ผู้เช่าผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าในงวดใดงวดหนึ่งต้องระบุไว้ชัดแจ้งในสัญญาเช่าแต่ค่าปรับดังกล่าวเมื่อคิดเป็นอัตราส่วนกับยอดเงินและระยะเวลาที่ผิดนัดแล้ว ต้องไม่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมที่บริษัทเงินทุนสามารถเรียกได้ตามกฎหมายในขณะทำสัญญาเช่า
(8) การบอกเลิกสัญญา เมื่อผู้เช่าผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าสองงวดติด ๆ กัน หรือเมื่อผู้เช่ากระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ บริษัทเงินทุนต้องแจ้งการบอกเลิกสัญญาพร้อมด้วยเหตุผล เป็นหนังสือให้ผู้เช่าทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน นับแต่วันที่ผู้เช่าได้รับหนังสือดังกล่าว ในหนังสือบอกเลิกสัญญานั้นให้ระบุด้วยว่าหากผู้เช่าชำระค่าเช่างวดที่ค้างชำระ หรือแก้ไขการผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญดังกล่าว แล้วแต่กรณี ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา การบอกเลิกสัญญานั้นเป็นอันระงับไป
ในกรณีที่ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าสองวดติดต่อกัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา ให้การบอกเลิกสัญญานั้นเป็นอันระงับไป
(9) ต้องยินยอมให้ผู้เช่าโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าให้แก่บุคคลอื่นซึ่งมีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้เช่าได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ ทั้งนี้ กำหนดระยะเวลาการเช่า ต้องไม่เกินระยะเวลาที่คงเหลืออยู่ตามสัญญาเช่าเดิม และห้ามมิให้ผู้เช่านำทรัพย์สินที่เช่าไปให้เช่าช่วง
(10) ให้แนนหลักฐาน วิธีการและเงื่อนไขในการคำนวณค่าเช่าที่บริษัทเงินทุนเรียกเก็บและส่วนลดที่ผู้ให้เช่า จะลดให้แก่ผู้เช่าในกรณีที่ผู้เช่าจะชำระราคาค่าเช่าตามสัญญาคงเหลือสุทธิก่อนถึงกำหนดไว้กับคู่ฉบับสัญญาเช่าที่มอบให้ผู้เช่า
(11) ระบุค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ผู้เช่าจะต้องจ่ายนอกเหนือจากค่าเช่าตามสัญญาเช่า (ถ้ามี)
(12)เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า หากผู้เช่าใช้สิทธิในการซื้อทรัพย์สินที่เช่าและได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินครบถ้วนตามสัญญาเช่าแล้วบริษัทเงินทุนต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้เช่าโดยพลัน
(13) ทรัพย์สินที่บริษัทเงินทุนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าหรือยืดมาจากผู้เช่ารายอื่น บริษัทเงินทุนต้องจำหน่ายหรือให้บุคคลอื่นเช่าต่อภายในสามเดือน นับแต่วันสิ้นสุดสัญญาเช่าหรือนับแต่วันที่ยึดมา หรือตามที่ได้รับผ่อนผันจากธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อ 6. ให้บริษัทเงินทุนกำหนดโดยชัดแจ้งในสัญญาเช่าเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้
(1) ประเภท ชนิด ลักษณะ และอายุของทรัพย์สิน
(2)ราคาเงินสด ค่าเช่าตามสัญญา จำนวนเงินค่าเช่ารายงวด การชำระค่ารายงวดและการชำระเงินล่วงหน้า
(3) กำหนดระยะเวลาในการเช่า และการต่ออายุสัญญาเช่า (ถ้ามี)
(4)การส่งมอบ การตรวจตรา การติดตรึงหรือติดตั้ง การเคลื่อนย้าย การสูญหาย ความเสียหาย ความชำรุดบกพร่อง การบำรุงรักษา ค่าใช้จ่ายอื่น และการใช้ประโยชน์ของทรัพย์สิน
(5) การประกันภัย การรับค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย
(6) การค้ำประกัน (ถ้ามี)
(7) สิทธิของผู้เช่าที่จะชำระราคาค่าเช่าตามสัญญาคงเหลือสุทธิก่อนถึงกำหนด และส่วนลดที่ผู้ให้เช่าจะลดให้แก่ผู้เช่าในกรณีเช่นว่านี้
(8) การผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า การคิดเบี้ยปรับ และการโอนสิทธิของผู้เช่า
(9) เขตอำนาจศาลที่ผู้เช่า และผู้ให้เช่าตกลงกันว่าเมื่อมีขอ้พิพาทเกิดขึ้นจะเสนอคำฟ้องต่อศาลใด
(10) วิธีการคำนวณผลประโยชน์ที่บริษัทเงินทุนเรียกเก็บอย่างชัดเจน
(11) การบอกเลิกสัญญาเช่าของผู้ให้เช่าและผู้เช่า
(12)เงื่อนไขในการให้ผู้เช่าเช่าต่อ หรือซื้อทรัพย์สินทั้งหมดหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของทรัพย์สินด้วยค่าเช่าหรือราคาที่ตกลงกัน โดยคำนึงถึงเงินที่จ่ายไปแล้วในรูปเงินล่วงหน้าและค่าเช่า
ข้อ 7. ห้ามมิให้บริษัทเงินทุนกระทำการดังต่อไปนี้
(1) ให้เช่าทรัพย์สินแก่ผู้เช่าที่เป็นผู้จำหน่ายทรัพย์สิน โดยมิได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในการอนุญาตนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้
(2) จัดหาทรัพย์สินโดยที่ยังไม่ได้ตกลงทำสัญญาเช่าทรัพย์สินนั้นกับผู้ใดหรือจัดหาทรัพย์สินในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดหรือสูงกว่าราคาต่ำสุดที่พึงจัดหาได้
(3) ให้เช่าทรัพย์สินแก่ผู้เช่าที่มิใช่นิติบุคคล
(4)ให้เช่าทรัพย์สินแก่ผู้เช่าที่มีหนี้สินสูงเกินกว่าห้าเท่าของทุนจดทะเบียน ซึ่งชำระแล้วหรือเงินกองทุนของผู้เช่า เว้นแต่จะมีหลักทรัพย์และหรือบุคคลที่พึงเชื่อถือเป็นผู้ค้ำประกันการเช่านั้น
(5) ให้เช่าทรัพย์สินที่ผ่านการใช้งานมาแล้วไม่ว่าทรัพย์สินดังกล่าว จะได้รับการปรับปรุงให้มีลักษณะคล้ายของใหม่หรือไม่ก็ตามทั้งนี้เว้นแต่จะเป็นทรัพย์สินซึ่งยึดมาจากผู้เช่ารายอื่นของบริษัทเงินทุนนั้น หรือเป็นทรัพย์สินที่ให้เช่าอันเนื่องมาจากการต่ออายุสัญญา
(6) ยินยอมให้ผู้เช่าเพียงฝ่ายเดียวบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนด
ข้อ8.ประกาศนี้ให้มีผลบังคับใช้ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2534
สุธี สิงห์เสน่ห์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108 ตอนที่ 218 วันที่ 12 ธันวาคม 2534)
* แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง เงื่อนไขในการอนุญาตให้บริษัทเงินทุนประกอบกิจการให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง(ฉบับที่2)พ.ศ. 2537 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2537(ราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 111 ตอนพิเศษ 26 ง วันที่ 7 กรกฎาคม 2537)