ซักซ้อมความเข้าใจแนวทางการพิจารณา จ่ายผลตอบแทนของตราสาร Hybrid Tier 1

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday July 31, 2006 14:35 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                            31 กรกฎาคม 2549
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศทุกธนาคาร
ที่ ธปท.ฝนส.(21)ว.1036/2549 เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจแนวทางการพิจารณาจ่ายผลตอบแทนของตราสาร Hybrid Tier 1
1.เหตุผลในการออกหนังสือเวียน
เพื่อซักซ้อมความเข้าใจแนวทางในการพิจารณาจ่ายผลตอบแทนของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนไม่สะสมดอกเบี้ยจ่ายและไม่ชำระดอกเบี้ยได้ในปีที่ไม่มีผลกำไรที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1) ตามหนังสือเวียนเลขที่ ธปท.สนส.(21)ว.733/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์การนับตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่ไม่สะสมดอกเบี้ยจ่ายและไม่ชำระดอกเบี้ยได้ในปีที่ไม่มีผลกำไร เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1) ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2549
2.ขอบเขตการบังคับใช้
หนังสือเวียนฉบับนี้ให้ใช้บังคับกับธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
3.เนื้อหา
ธนาคารแห่งประเทศไทยขอซักซ้อมความเข้าใจแนวทางการพิจารณาจ่ายผลตอบแทนของตราสาร Hybrid tier1 ตามข้อ 4.3(3) ของหนังสือเวียนที่ ธปท.สนส.(21)ว.733/2549 ดังนี้
3.1ธนาคารพาณิชย์สามารถพิจารณาจ่ายผลตอบแทนของตราสาร Hybrid tier1 ได้โดยปฏิบัติดังนี้
-กรณีวันจ่ายผลตอบแทนตรงกับวันสิ้นงวดการบัญชี ให้ธนาคารพาณิชย์ สามารถพิจารณาใช้ประมาณการกำไรสุทธิในงวดการบัญชีที่มีการจ่ายผลตอบแทน มาประกอบการพิจารณาจ่ายผลตอบแทน มาประกอบการพิจารณาใช้ประมาณการกำไรสุทธิในงวดบัญชีที่มีการจ่ายผลตอบแทน มาประกอบการพิจาณาจ่ายผลตอบแทนของตราสาร Hybrid Tier 1 ได้
-กรณีวันจ่ายผลตอบแทนเป็นวันหลังวันสิ้นงวดการบัญชีให้ธนาคารพาณิชย์สามารถพิจารณาใช้กำไรสุทธิจากงบการเงินของงวดการบัญชี ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถพิจารณาผลตอบแทนของตราสาร Hybrid Tier 1 ได้
3.2 ธนาคารพาณิชย์สามารถกำหนดเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนของตราสาร Hybrid Tier 1 เพียงบางส่วนในหนังสือชี้ชวนได้(Partial payment)
ทั้งนี้ เมื่อธนาคารพาณิชย์บันทึกบัญชีรายจ่ายผลตอบแทนที่จ่ายแก่ตราสาร Hybrid Tier 1 ตามข้อ 3.1 และ 3.2 ในงวดบัญชีที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการบัญชีที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปแล้ว งบกำไรขาดทุนของงวดการบัญชีนั้นต้องไม่มีผลขาดทุนสุทธิ
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นายเกริกพล วณิกกุล)
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการแทน
ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง
โทร.0-2283-6821 และ 0-2283-5804
หมายเหตุ [
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่....เวลา....ณ.....
[x
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การนับตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะ
คล้ายทุนที่ไม่สะสมดอกเบี้ยจ่าย และไม่ชำระดอกเบี้ยในปีที่มีผลกำไร
เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1)
(ปรับปรุงเดือน ก.ค.49)
ประกาศ/หนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง
1.ธปท.ฝนส.(21)ว.733/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์การนับตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่ไม่สะสมดอกเบี้ยจ่าย และไม่ชำระดอกเบี้ยในปีที่ไม่มีผลกำไร เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1) ลงวันที่ 1 มิ.ย.49
2.ธปท.ฝนส.(21)ว.1036/2549 เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจแนวทางการพิจารณาจ่ายผลตอบแทนของตราสาร Hybrid Tier 1 ลงวันที่ 31 ก.ค.49
คำถามที่ 1 ธนาคารพาณิชย์(ธพ.) จะกำหนดเงื่อนไขเวลาที่แน่นอนว่าจะออกหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิแบบไม่สะสมเงินปันผลมาทดแทนเพื่อนำเงินมาไถ่ถอน Hybrid Tier 1 ได้หรือไม่ อย่างไร
คำตอบ ในการออก Hybrid Tier 1 จะต้องไม่กำหนดระยะเวลาในการชำระคืน ส่วนการไถ่ถอนจะทำได้หลังจาก 5 ปี นับจากวันที่ออกเอกสาร ดังนั้น การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวควรกำหนดเป็น Option ในการไถ่ถอนคืน โดยตรสารดังกล่าวยังคงถือว่าไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระคืน
คำถามที่ 2 ธพ.จะมีแนวปฏิบัติอย่างไรในการพิจารณาจ่ายดอกเบี้ยของตราสารดังกล่าว
คำตอบ เนื่องจากตราสาร Hybrid Tier 1 ไม่สามารถสะสมดอกเบี้ยจ่ายได้ การจ่ายดอกเบี้ยจึงต้องเป็นไปตามงวดการบัญชีที่มีกำไร โดยดอกเบี้ยจ่ายของตราสารถือเป็นค่าใช้จ่ายตามบัญชีที่นำไปหักรายได้เพื่อคำนวณกำไรสุทธิ หากหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจ่ายของตราสารดังกล่าวแล้วมีกำไรสุทธิ ธพ.จึงจะสามารถจ่ายดอกเบี้ยได้
คำถามที่ 3 ธพ.จะระบุเงื่อนไขว่าสามารถไถ่ถอน Hybrid Tier 1 ได้ก่อน 5 ปี กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับภาษีอากรจนทำให้ ธพ.มีภาระภาษีเพิ่มขึ้น หรือกรณีที่ไม่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อไป ได้หรือไม่
คำตอบ ได้ ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้
(1) กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับภาษีอากรจนทำให้ ธพ.มีภาระภาษีเพิ่มขึ้น ธพ.สามารถไถ่ถอน Hybrid Tier 1 ได้ก่อน 5 ปี โดย ธพ.ต้องหาวิธีเพิ่มทุนอื่นที่เหมาะสมมาทดแทน
(2)กรณีที่ ธปท.มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์จนเป็นผลให้ ธ.พ.ไม่สามารถนับ Hybrid Tier 1 เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือ ธปท.พิจารณาแล้วเห็นว่ามีเงินกองทุนเพียงพอ จึงจะสามารถไถ่ถอน Hybrid Tier 1 ได้
ทั้งนี้ การไถ่ถอนก่อน 5 ปีใน 2 กรณีข้างต้น ธพ.ต้องได้รับอนุญาตจาก ธปท.ก่อนดำเนินการ
คำถามที่ 4 กรณีที่ ธพ.มีหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิแบบไม่สะสมเงินปันผลมาทดแทนหรือมีเงินกองทุนมากเพียงพอ จะสามารถไถ่ถอนก่อนครบ 5 ปี ได้หรือไม่
คำตอบ ไม่อนุญาตให้ ธพ.ไถ่ถอนก่อนครบ 5 ปี ในกรณีดังกล่าว แต่ ธพ.สามารถออกหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิแบบไม่สะสมเงินปันผลเพื่อทดแทนการไถ่ถอน Hybrid Tier 1 ก่อน 5 ปี เพื่อเตรียมไว้รองรับการไถ่ถอนเมื่อครบ 5 ปีได้
คำถามที่ 5 ภายหลังการออก Hybrid Tier 1 แล้ว ธพ.มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 สูงขึ้น ธปท.อนุญาตให้ ธพ.สามารถนับส่วนเกินจากร้อยละ 15 ที่เคยนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 มาเพิ่มเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ตามอัตราส่วนร้อยละ 15 ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ได้หรือไม่ อย่างไร
คำตอบ ธพ.สามารถทำได้ทุก 6 เดือน แต่ในกรณีที่เงินกองทุนชั้นที่ 1 ลดลง ก็ให้ปรับการนับ Hybrid Tier 1เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ลดลงตามอัตราส่วนด้วย โดย ธพ.จะต้องมีมูลให้ผู้ลงทุนที่เป็นสถาบันการเงินทราบด้วย เนื่องจากในกรณีที่ผู้ลงทุนเป็น ธพ.ต้องนำเงินลงทุนดังกล่าวไปหักจากเงินกองทุนของ ธพ.นั้นด้วย
คำถามที่ 6 ธพ.ผู้ซื้อตราสาร Hybrid Tier 1 จะต้องหักเงินออกจากเงินกองทุนของ ธพ.ผู้ซื้หรือไม่ อย่างไร
คำตอบ ให้ ธพ.ผู้ซื้อตราสารหักเงินลงทุนดังกล่าวออกจากเงินกองทุนทั้งสิ้นของ ธพ.ผู้ซื้อตราสารตามสัดส่วนที่ ธพ.ผู้ออกตราสารได้รับอนุญาตให้นับเป็นเงินลงทุนทั้งชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์เดียวกับกรณีที่ ธพ.ถือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของ ธพ.อื่น
คำถามที่ 7 ตัวอย่างแนวทางการพิจารณาจ่ายผลตอบแทนของตราสาร Hybrid Tier 1
คำตอบ 1.การพิจารณาจ่ายผลตอบแทนของตราสาร Hybrid Tier 1
1.1 กรณีวันจ่ายผลตอบแทนตรงกับวันสิ้นงวดบัญชี
ธนาคารพาณิชย์(ธพ.) สามารถพิจารณาจากประมาณการกำไรสุทธิของงวดที่มีการจ่ายผลตอบแทน โดยใช้ผลกำไรสุทธิจริงที่มีอยู่รวมกับประมาณการกำไรสุทธิของเดือนที่เหลือในงวดการบัญชีนั้น มาพิจารณารวมกันเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาจ่ายผลตอบแทนแก่ตราสาร Hybrid Tier 1 ได้
ตัวอย่าง ตราสาร Hybrid Tier 1 กำหนดจ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง คือ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. และ ธ.ค.
การจ่ายงวดสิ้นเดือน มิ.ย.ให้ ธพ.ใช้ประมาณการกำไรสุทธิของงวดการบัญชี 6 เดือน(ม.ค. ถึง มิ.ย.) มาประกอบการพิจาณาจ่ายผลตอบแทน เช่น ใช้กำไรสุทธิจริง 5 เดือน รวมกับประมาณการกำไรสุทธิของเดือนที่ 6 และกันสำรองให้เสร็จสิ้นก่อนจ่ายดอกเบี้ย
การจ่ายงวดสิ้นเดือน ธ.ค.ให้ ธพ.ใช้ประมาณการกำไรสุทธิของงวดการบัญชี 12 เดือน(ม.ค. ถึง ธ.ค.) มาประกอบการพิจารณาจ่ายผลตอบแทน เช่น ใช้กำไรสุทธิ 11 เดือน รวมกับประมาณการกำไรสุทธิของเดือนที่ 12 และกันสำรองให้เสร็จสิ้นก่อนจ่ายดอกเบี้ย
สำหรับ กรณีที่มีการจ่ายผลตอบแทนเป็นรายไตรมาส ธพ.สามารถใช้ประมาณการ กำไรสุทธิรายไตรมาสตามหลักการข้างต้นมาพิจารณาจ่ายผลตอบแทนได้ด้วย
1.2 กรณีจ่ายผลตอบแทนหลังวันสิ้นงวดการบัญชี
ธพ.สามารถพิจารณาใช้กำไรสุทธิจากงบกำไรขาดทุนของงวดการบัญชีก่อน(งบครึ่งปี หรือ งบปีแล้วแต่กรณี) มาเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาจ่ายผลตอบแทนแก่ตราสาร Hybrid Tier 1 ได้
ตัวอย่าง ตราสาร Hybrid Tier 1 กำหนดจ่ายผลตอบแทนปีละ 2 ครั้ง คือ ณ สิ้นเดือน ก.พ.และ ส.ค.
การจ่าย ณ วันสิ้นเดือน ส.ค.ให้ ธพ.ใช้ผลกำไรสุทธิจากงบกำไรขาดทุนของงวดปีการบัญชีก่อนหน้านี้(งบปี) มาประกอบการพิจารณาจ่ายผลตอบแทนได้ เช่น หากงบกำไรขาดทุนงวดปีการบัญชีก่อนหน้านี้มีผลกำไร ธพ.ก็สามารถจ่ายผลตอบแทน ณ วันสิ้นเดือน ก.พ.ได้
สำหรับ กรณีที่มีการจ่ายผลตอบแทนเป็นรายไตรมาส ธพ.สามารถใช้ผลกำไรสุทธิจากงบกำไรขาดทุน(งบครึ่งปี หรืองบปี แล้วแต่กรณี) ของงวดการบัญชีก่อนหน้ามาพิจารณาได้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ เมื่อธนาคารพาณิชย์บันทึกบัชชีรายการผลตอบแทนที่จ่ายแก่ตราสาร Hybrid Tier 1 ในงวดบัญชีที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรฐานการบัญชีที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปแล้ว งบกำไรขาดทุนของงวดบัญชีนั้นไม่ต้องมีผลขาดทุนสุทธิในทั้งสองกรณี
2.การจ่ายผลตอบแทนบางส่วน
ธพ.สามารถกำหนดเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนของตราสาร Hybrid Tier 1 เพียงบางส่วนในหนังสือชี้ชวนได้(Partial payment) ทั้งนี้ การจ่ายผลตอบแทนของตราสาร Hybrid Tier 1 ต้องไม่ทำให้งบกำไรขาดทุนตามมาตรฐานการบัญชีที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปของงวดบัญชีนั้น มีผลขาดทุนสุทธิ ตามแนวทางเดียวกับข้อ 1
ตัวอย่าง ตราสาร Hybrid Tier 1 จ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง
กรณีจ่ายตรงกับวันสิ้นงวดการบัญชี ให้ ธพ.ใช้ประมาณการกำไรสุทธิของงวดการบัญชีนั้นมาประกอบการพิจารณาจ่ายผลตอบแทนได้ โดยเมื่อรวมดอกเบี้ยจ่ายแล้ว(อัตราน้อยกว่าที่กำหนด) ต้องไม่ทำให้เกิดผลขาดทุนในงบกำไรขาดทุนของงวดบัญชีนั้น
กรณีจ่ายหลังวันสิ้นงวดการบัญชี ให้ ธพ.ใช้ผลกำไรสุทธิของงบกำไรสุทธิขาดทุนของงวดการบัญชีก่อนหน้ามาประกอบการพิจารณาจ่ายผลตอบแทนได้ โดยเมื่อรวมดอกเบี้ยจ่ายแล้ว(อัตราที่น้อยกว่าที่กำหนด) ต้องไม่ทำให้เกิดผลขาดทุนในงบกำไรขาดทุนของงวดบัญชีนั้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ