การปรับปรุงหลักเกณฑ์การสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพัน และแบบรายงานที่เกี่ยวข้อง

ข่าวกฏหมายและประกาศ Saturday March 25, 2006 10:23 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                     24 มีนาคม 2549
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
ที่ ธปท. ฝนส.(21) ว.419/2549 เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันและแบบรายงานที่เกี่ยวข้อง
1.เหตุผลในการออกหนังสือเวียน
เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์พัฒนาระบบการควบคุมภายใน และระบบการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตให้มีประสิทธิภาพและเป็นมาตราฐานสากลยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อเป็นการลดภาระให้กับธนาคารพาณิชย์ที่มีระบบควบคุมภายในที่ดี
2.ขอบเขตการบังคับใช้
ใช้บังคับกับธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ทกธนาคาร
3.สาระสำคัญของหนังสือเวียน
1.ยกเลิกหนังสือที่ ธปท. สนส.(21) ว.2177/2545 เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพัน และแบบรายงานที่เกี่ยวข้อง ลงวันที่ 20 กันยายน 2545 และหนังสือที่ ธปท. สนส. (21)ว.843/2546 การปรับปรุงหลักเกณฑ์การสอบทานการให้สินเชื่อและภาระผูกพัน ลงวันที่ 31 มีนาคม 2546
2.ธนาคารพาณิชย์ต้องสอบทานเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น ได้แก่ เงินให้กู้ยืม เงินเบิกเกินบัญชี ลูกหนี้ และการให้เครดิตรูปแบบอื่น รวมทั้งภาระผูกพันทั้งในและนอกงบการเงิน โดยให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบควบคุมการบริหารความเสี่ยง
3.ธนาคารพาณิชย์ต้องจัดทำแผนงานการสอบทานเงินให้สินเชื่อประจำปี และเสนอให้คณะกรรมการของธนาคารพาณิชย์ให้ความเห็นชอบก่อนส่งให้สายกำกับสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใน 60 วัน นับจากวันสิ้นปีปฏิทิน และให้รายงานความคืบหน้าตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในการสอบทานเงินให้สินเชื่อให้คณะกรรมการของธนาคารพาณิชย์ทราบทุกไตรมาส พร้อมทั้งจัดเก็บเอกสารของลูกหนี้ทุกรายที่มีการสอบทานเงินให้สินเชื่อ ให้ครบถ้วนและง่ายต่อการตรวจสอบของ ธปท.ทั้งนี้ กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำแผนงานดังกล่าวสำหรับการปฏิบัติงานสอบทานเงินให้สินเชื่อในปี 2549 เป็นต้นไป
4.ธนาคารพาณิชย์ต้องสอบทานลูกหนี้ที่มียอดค้างตามสถานะของการจัดชั้น ณ วันสิ้นปีปฏิทินที่สอบทานเป็นประจำทุกปี ตามแนวทาง ดังต่อไปนี้
4.1 ลูกหนี้รายใหญ่(ลูกหนี้ที่มีวงเงินหรือยอดหนี้คงค้างตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป) ที่จัดเป็นสินทรัพย์จัดชั้นปกติและชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ ให้ธนาคารพาณิชย์ใช้ผลการจัดระดับความเสี่ยงรวมด้านเครดิตจากรายงานการตรวจสอบที่ได้รับล่าสุดจาก ธปท.ในการกำหนดปริมาณการสอบทานเงินให้สินเชื่อประจำปี ตามแนวทางดังนี้
4.1.1 ธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับผลจากการจัดระดับความเสี่ยงรวมด้านเครดิตในระดับต่ำ ให้สุ่มสอบทานลูกหนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของเงินให้สินเชื่อ ในแต่ละชั้นของลูกหนี้
4.1.2 ธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับผลการจัดระดับความเสี่ยงรวมด้านเครดิตในระดับค่อนข้างต่ำ ให้สุ่มสอบทานลูกหนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเงินให้สินเชื่อในแต่ละชั้นของลูกหนี้
4.1.3 ธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับผลกระทบการจัดระดับความเสี่ยงรวมด้านเครดิต ในระดับปานกลางให้สุ่มสอบทานลูกหนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของเงินให้สินเชื่อในแต่ละชั้นของลูกหนี้
4.1.4 ธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับผลกระทบการจัดระดับความเสี่ยงรวมด้านเครดิตในระดับค่อนข้างสูง และสูง ต้องทำการสอบทานลูกหนี้ทุกราย
ทั้งนี้การสอบสุ่มทานลูกหนี้ดังกล่าว ธนาคารพาณิชย์ต้องใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างตามวิธีการทางสถิติที่เชื่อถือได้ นอกจากนี้ ธปท.อาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์แห่งใด แห่งหนึ่ง สอบทานลูกหนี้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ เช่น กลุ่มที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือ กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ก็ได้
4.2 ลูกหนี้รายใหญ่ที่จัดเป็นสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตฐาน สงสัย สงสัยจะสูญ และสูญ ธนาคารพาณิชย์ต้องสอบทานลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวทุกราย อย่างน้อย 1 ครั้งในรอบ 1 ปีปฏิทิน หรือมากกว่าก็ได้ ตามสถานะและสภาพปัญหาของลูกหนี้แต่ละราย
4.3 ลูกหนี้รายใหญ่ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องสอบทานเงินให้สินเชื่อหมายถึงลูกหนี้ต่อไปนี้
4.3.1 ลูกหนี้รายใหญ่ที่ได้ดำเนินการจนถึงที่สุดแล้ว ซึ่งรวมถึงลูกหนี้ที่คาดว่าจะไม่สามารถเรียกเก็บหนี้ได้เพิ่มเติมอีก และเป็นที่แน่ชัดว่าสถานะของลูกหนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงการจัดชั้นและการกันเงินค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ
4.3.2 ลูกหนี้รายใหม่ ที่เพิ่งได้รับอนุมัติเงินให้สินเชื่อในปีปฏิทินนั้น เว้นแต่รายที่มีปัญหาในการชำระเงินคืนเงินต้นและหรือดอกเบี้ย หรือระดับคุณภาพของลูกหนี้ได้ลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ
4.4 ลูกหนี้รายย่อย (ลูกหนี้ที่มีวงเงินหรือยอดหนี้คงค้างต่ำกว่า 20 ล้านบาท)ธนาคารพาณิชย์สามารถเลือกสอบทานเงินให้สินเชื่อโดยวิธีการสุ่มตัวอย่างตามวิธีการทางสถิติที่เชื่อถือได้ โดยในการสุ่มตัวอย่างดังกล่าว ธนาคารพาณิชย์ต้องจัดให้มีระดับความเชื่อมั่นและความถูก
ต้องของวิธีการสุ่มตัวอย่างตามหลักวิชาการที่สามารถอธิบายได้ ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์อาจแบ่งกลุ่มลูกหนี้ตามประเภท หรือวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงิน เช่น ลูกหนี้บัตรเครดิต ลูกหนี้สินเชื่อเพื่อการเคหะและลูกหนี้สัญญาเช่าซื้อ เป็นต้น เพื่อทำการสุ่มตัวอย่างก็ได้
อนึ่ง ธปท. อาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการสอบทานลูกหนี้รายย่อยตามจำนวนรายที่กำหนด ซึ่งคำนวณเป็นอัตราร้อยละของจำนวนรายลูกหนี้รายย่อยหรือยอดหนี้คงค้างของลูกหนี้รายย่อยหรือกลุ่มลูกหนี้รายย่อยก็ได้
5. เมื่อมีการสอบทานเงินให้สินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์ต้องสอบทานภาระผูกพันที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อสำหรับลูกหนี้รายนั้นด้วย โดยให้แสดงภาระผูกพันตามการจัดชั้นของสินเชื่อ นอกจากนี้ ให้ทำการสอบทานภาระผูกพันที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อของลูกค้าที่ไม่มียอดคงค้างของ
เงินให้สินเชื่อ 20 รายแรกที่มียอดสูงสุดด้วย
6. เพื่อให้การสอบทานเงินให้สินเชื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการประเมินคุณภาพของกระบวนการอำนวยสินเชื่อ และเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถทราบปัญหาของลูกหนี้และเข้าไปร่วมแก้ปัญหากับลูกหนี้ก่อนที่ลูกหนี้นั้นจะกลายเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ จึงให้ธนาคารพาณิชย์ทำการสอบทานเงิน
ให้สินเชื่อในเชิงคุณภาพตามขอบเขตและแนวทางขั้นต่ำ ดังนี้
6.1 การสอบทานกระบวนการให้สินเชื่อตามนโยบายของธนาคารพาณิชย์ ขั้นตอนและความถูกต้องของระบบการพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อที่สอดคล้องกับระเบียบ/คำสั่งในการปฏิบัติงาน และระดับการอนุมัติเงินให้สินเชื่อตามที่ได้มอบอำนาจไว้
6.2 การสอบทานความครบถ้วนสมบูรณ์ของเอกสารประกอบการให้สินเชื่อตามลักษณะการให้สินเชื่อแต่และประเภท/กลุ่ม/รายลูกหนี้ โดยเฉพาะความครบถ้วนและการมีผลบังคับในทางกฎหมายของสัญญาเงินกู้และหลักประกัน
6.3 การสอบทานการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในลักษณะต่อเนื่อง เช่น การวิเคราะห์กระแสเงินสดของลูกหนี้ หรือการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ(Ratio) ต่างๆ จากข้อมูลที่ได้จากงบการเงินล่าสุดที่ลูกหนี้มีอยู่ และการวิเคราะห์ผลการประกอบการของลูกหนี้ เป็นต้น
6.4 การสอบทานความถูกต้องในการจัดชั้นสินทรัพย์ การบันทึกข้อมูลหลักประกันที่ถูกต้องสอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงและข้อกำหนดของทางการ และการกันเงินเผื่อค่าหนี้สงสัยจะสูญ
6.5 การสอบทานการดำเนินการกับลูกหนี้ที่มีปัญหาในการชำระหนี้ โดยให้ระบุสถานะหรือขั้นตอนที่ธนาคารพาณิชย์กำลังดำเนินการกับลูกหนี้ดังกล่าว เช่น อยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรืออยู่ระหว่างฟ้องร้องดำเนินคดี(ระบุขั้นตอน) หรืออยู่ระหว่างบังคับหลักประกัน เป็นต้น พร้อมทั้งรายละเอียดการดำเนินการพอสังเขป
6.6 การสอบทานการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ข้อบังคับของทางการ
นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ควรทำการสอบทานลูกหนี้เพิ่มเติมในประเด็นต่อไปนี้ เพื่อให้มีการติดตามดูแลลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้มีการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่อาจมีผล กระทบต่อฐานะและการดำเนินงานของลูกหนี้ที่มีนัยสำคัญ ดังนี้
ก.การประเมินระบบการติดตามลูกหนี้หลังจากที่ได้ให้สินเชื่อไปแล้วระยะหนึ่ง เช่น บันทึกการพบปะหารือกับลูกหนี้ หรือรายงานการเยี่ยมชมกิจการของลูกหนี้ การใช้เงินตามวัตถุประสงค์ของการกู้ยืม การบันทึกข้อมูลการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญที่อาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ เป็นต้น
ข.การประเมินข้อมูลในเชิงคุณภาพด้านอื่น เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างคณะกรรมการ/ผู้บริหารที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารงานของลูกหนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นและผลกระทบต่อลูกหนี้ การวิเคราะห์อุตสาหกรรมของลูกหนี้และแนวโน้มในการประกอบธุรกิจของลูกหนี้ เป็นต้น
ค.การประเมินระบบการควบคุมภายในและระบบการบริหารความเสี่ยง
7.ธนาคารพาณิชย์ต้องดำเนินการสอบทานเงินให้สินเชื่อโดยกระบวนการอิสระ แยกออกจากกระบวนการให้สินเชื่อ และกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้สอบทานเงินให้สินเชื่อไว้ให้ชัดเจน ซึ่งจะต้องไม่เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ รวมทั้งการประเมินราคาหลักประกัน
สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีข้อจำกัดด้านบุคลากร ธปท.ผ่อนผันเป็นการชั่วคราวให้ธนาคารพาณิชย์นั้นสามารถมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้รายนั้นโดยตรง ทำการสอบทานลูกหนี้รายนั้นได้ จนกว่าธนาคารพาณิชย์นั้นจะสามารถแก้ไขปัญหาด้านบุคลากรดังกล่าว หรือ ธปท.จะได้แจ้งให้ถือปฏิบัติในเรื่องความเป็นอิสระของผู้ทำหน้าที่สอบทานเงินให้สินเชื่อต่อไป
8.ให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำและส่งแบบรายงานการสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพัน(ธ.พ.9.1) และตารางสรุปการสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันรายย่อยโดยวิธีการสุ่มตัวอย่าง(ตาราง 9.1/1) ไปยัง ส่วนสถิติสถาบันการเงิน ฝ่ายบริหารข้อมูล ธปท.ตามแบบรายงานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด โดยให้เริ่มรายงานข้อมูลตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2549 เป็นต้นไป และธนาคารพาณิชย์ต้องจัดเก็บเอกสารและหลักฐานการสอบทานเงินให้สินเชื่อทุกประเภท และแบบรายงานที่เกี่ยวข้องไว้เพื่อให้ผู้ตรวจสอบของ ธปท.สามารถตรวจสอบได้
4.วันเริ่มต้นการบังคับใช้
ให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ในหนังสือฉบับนี้เป็นต้นไป สำหรับการสอบทานในปี 2549 ซึ่งธนาคารพาณิชย์ได้ส่งแผนการสอบทานมายัง ธปท.แล้ว ก็สามารถดำเนินการตามข้อ 4.1 ข้างต้นได้
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1.หนังสือกระทรวงการคลัง
2.รายงานการสอบทานให้เงินสินเชื่อและภาระผูกพัน(ธ.พ.9.1)
3.ตารางสรุปการสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันรายย่อยโดยวิธีการสุ่มตัวอย่าง(ตาราง 9.1/1)
ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง
โทร. 02-283-5304, 02-283-5837
หมายเหตุ [
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่ ..... ณ .....
[x
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
ที่ กค.1004/3960 กระทรวงการคลัง
ถนนพระราม 6 กท.104000
1 มีนาคม 2549
เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันของธนาคารพาณิชย์ และแบบรายงานที่เกี่ยวข้อง
เรียน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
อ้างถึง หนังสือธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ ธปท.ฝนส.(21)2461/2548 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2548
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพัน และให้ธนาคารพาณิชย์ส่งรายงานการสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพัน(ธ.พ.9.1) และตารางสรุปการสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันรายย่อยโดยวิธีการสุ่มตัวอย่าง(ตาราง 9.1/1) ที่ได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว ให้ความเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพัน และให้ธนาคารพาณิชย์ส่งรายงานการสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพัน(ธ.พ.9.1) และตารางสรุปการสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันรายย่อยโดยวิธีการสุ่มตัวอย่าง(ตาราง9.1/1) ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ตามที่เสนอมา
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
(นายปิยะพันธุ์ นิมมานเหมินท์)
รองปลัดกระทรวงฯ ปฏิบัติราชการแทน
ปลัดกระทรวงการคลัง
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
สำนักนโยบายระบบการเงิน
โทร.02-2739020 ต่อ 3209
โทรสาร 02-6183367
คำอธิบายประกอบการจัดทำรายงาน
การสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพัน (ธ.พ.9.1)
ก.ข้อความทั่วไป
1.รายงานการสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพัน (ธ.พ.9.1) เป็นรายงานสรุปการสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันซึ่งกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ทำการสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันของลูกหนี้ทุกรายที่มียอดคงค้าง ณ วันสิ้นปีปฏิทินที่สอบทาน โดยแยกประเภทการรายงาน
เป็น เงินให้สินเชื่อรายใหญ่ที่มียอดคงค้างสูงสุด 100 รายแรก เงินให้สินเชื่อรายใหญ่อื่น เงินให้สินเชื่อรายใหญ่ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำการสอบทาน และเงินให้สินเชื่อรายย่อย โดยในส่วนของเงินให้สินเชื่อรายใหญ่ที่มียอดคงค้างสูงสุด 100 รายแรกและเงินให้สินเชื่อรายใหญ่อื่น ให้แบ่งประเภทของเงินให้สินเชื่อออกเป็น 1) เงินให้สินเชื่อที่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว 2) เงินให้สินเชื่อที่ให้แก่ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการ ผู้บริหาร และสถาบันการเงิน 3) เงินให้สินเชื่อจัดชั้นอื่น และ4)เงินให้สินเชื่ออื่น
สำหรับเงินให้สินเชื่อรายย่อยที่มีวงเงินหรือยอดคงค้างอย่างใดอย่างหนึ่งรวมกันทุกสำนักงาน ณ วันสิ้นปีปฏิทินที่สอบทานต่ำกว่า 20 ล้านบาท ธนาคารพาณิชย์อาจเลือกทำการสอบทาน โดยจัดกลุ่มหรือประเภทของบการให้สินเชื่อและทำการสุ่มตัวอย่างทางวิธีสถิติ เพื่อคัดเลือก
เงินให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อทำการสอบทานก็ได้
ในการสอบทานเงินให้สินเชื่อแต่ละรายจะต้องสอบทานทั้งเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อด้วย นอกจากนี้ ให้ธนาคารพาณิชย์ทำการสอบทานภาะผูกพันที่ไม่มีมูลหนี้รายใหญ่ 20 รายแรกด้วย
2.ให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำรายงานการสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพัน (ธ.พ.9.1) ชุดรวมทุกสำนักงาน เป็นประจำทุกไตรมาส โดยแสดงเป็นยอดปริมาณของการสอบทานเงินให้สินเชื่อสะสมจนถึงวันที่ของรายงาน และยื่นรายงานดังกล่าวจำนวน 2 ชุด ต่อส่วนสถิติสถาบันการ
เงิน ฝ่ายบริหารข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย ภายในสิ้นเดือนถัดจากวันสิ้นสุดไตรมาสที่ต้องรายงานโดยแสดงยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อ จำแนกตามสถานะการจัดชั้นของลูกหนี้เป็นหน่วยพันบาท และให้ใส่เครื่องหมายจุลภาค,”หลังหลักพันและหลักล้าน
3.ให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำรายงานการสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันดังกล่าว ในรูปแบบที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถอ่านได้(Computer Readable Form)ตามรูปแบบ (Record Specification Format) และคำอธิบายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด โดยให้จัดส่งรายงานทางอิเล็กทรอนิกส์ทางเครือข่ายสื่อสารแบบ File Transfer พร้อมกับรายงานตามข้อ 2
ข.ความหมายของรายการ
1.เงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันทั้งสิ้น หมายถึง เงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันในภายหน้าเพื่อลูกค้า เฉพาะกับที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์มีอยู่ทั้งสิ้น
1.1 เงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น หมายถึง เงินให้สินเชื่อทุกประเภท ให้รายงานแยกเป็น
1.1.1 รายใหญ่ หมายถึง เงินให้สินเชื่อให้แก่ลูกหนี้ที่มีวงเงินหรือยอดคงค้างอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันทุกสำนักงานตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป ตามที่ได้รายงานไว้ในชุดข้อมูล Loan Arrangement
1.1.2 รายย่อย หมายถึง เงินให้สินเชื่อที่ให้แก่ลูกหนี้ นอกจากข้อ 1.1.1
1.2 ภาระผูกพันทั้งสิ้น หมายถึง ภาระผูกพันในภายหน้าเพื่อลูกค้าเฉพาะที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อ เช่น การรับอาวัล รับรอง หรือสอดแทรกเข้าแก้หน้าในตั๋วเงิน สลักหลังตั๋วเงินที่ผู้รับสลักหลังมีสิทธิไล่เบี้ย การค้ำประกันการกู้ยืมเงิน หรือค้ำประกันการขาย ขายลดหรือขายช่วงลดตั๋วเงิน เป็นต้น ให้รายงานแยกเป็น
1.2.1 รายใหญ่ หมายถึง ภาระผูกพันในภายหน้าอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันเพื่อลูกค้าที่มีวงเงินรวมกันทุกสำนักงานตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป ตามที่ได้รายงานไว้ในชุดข้อมูล Loan Arrangement
1.2.2 รายย่อย หมายถึง ภาระผูกพันในภายหน้าเพื่อลูกค้านอกจากข้อ 1.2.1
2.เงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันที่มีการสอบทานรวมที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องสอบทาน หมายถึงเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันในภายหน้าเพื่อลูกค้าเฉพาะที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อที่มีการสอบทานตามคำอธิบายรายการในหัวข้อ 2.1.3
2.1 เงินให้สินเชื่อรายใหญ่ที่มีการสอบทานและได้รับการยกเว้นไม่ต้องสอบทาน หมายถึง เงินให้สินเชื่อรายใหญ่ทุกประเภทที่มีการสอบทานในปีปฏิทินที่สอบทานสะสมจนถึงวันที่รายงาน โดยให้รายงานแยกตามประเภทของสินเชื่อ คือ เงินให้สินเชื่อรายใหญ่ 100 รายแรก เงินให้สินเชื่อรายใหญ่อื่น และเงินให้สินเชื่อรายใหญ่ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องสอบทาน
2.1.1 เงินให้สินเชื่อรายใหญ่ 100 รายแรก
2.1.2 เงินให้สินเชื่อรายใหญ่อื่น
ให้รายงานแยกเป็น 4 ประเภทย่อย ดังนี้
-การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หมายถึง เงินให้สินเชื่อที่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในปีปฏิทินที่สอบทานตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด และตามนโยบายของธนาคารพาณิชย์ ทั้งที่มีส่วนสูญเสียและไม่มีส่วนสูญเสียจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ไม่ว่าจะระหว่างการติดตามผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระเงินปรับปรุงโครงการสร้างหนี้ใหม่หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขใหม่ได้ (ซึ่งเปลี่ยนสถานะเป็นลูกหนี้ปกติ) หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขใหม่ไม่ได้(ซึ่งเปลี่ยนสถานะเป็นลูกหนี้จัดชั้นใหม่ ตามคุณภาพที่แท้จริงแล้ว)ก็ตาม และให้รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องที่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วย
-บุคคลที่เกี่ยวข้อง หมายถึง กิจการที่ธนาคารพาณิชย์ หรือกรรมการผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์นั้น มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง หรือผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์นั้น ตามคำนิยามของการประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การให้สินเชื่อแก่ผู้ถือหุ้นธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
กรณีบุคคลที่เกี่ยวข้องกันซึ่งได้ปรับปรุงโครงการสร้างหนี้นั้น ให้รายงานไว้ในหัวข้อ “การปรับปรุงโครงสร้างหนี้”
-เงินให้สินเชื่อจัดชั้นอื่น หมายถึง เงินให้สินเชื่อที่ไม่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และมิใช่เงินให้สินเชื่อที่เข้าข่ายเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับธนาคารพาณิชย์ และเป็นเงินที่ให้สินเชื่อที่จัดชั้นเป็นรายบัญชีโดยมีบัญชีใดบัญชีหนึ่งจัดชั้นเป็นต่ำกว่ามาตรฐาน สงสัย สงสัยจะสูญ หรือสูญ ทั้งนี้ในกรณีลูกหนี้หนึ่งรายมีหลายบัญชีและแต่ละบัญชีมีการจัดชั้นในระดับคุณภาพที่แตกต่างกัน ให้ธนาคารพาณิชย์รายงานจำนวนลูกหนี้เพียงรายเดียว และให้ยกจำนวนแสดงข้อมูลหนี้จัดชั้นตามสถานะ การจัดชั้นเป็นรายบัญชีตามข้อเท็จจริง ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์จัดชั้นสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องเข้มงวดกว่าข้อกำหนดในการจัดสินทรัพย์ตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น การจัดชั้นสินทรัพย์เป็นรายลูกหนี้ ให้ธนาคารพาณิชย์รายงานมูลหนี้ในระดับขั้นคุณภาพต่ำสุด เป็นต้น
-เงินให้สินเชื่ออื่น หมายถึง เงินให้สินเชื่อนอกจากที่รายงานตามหัวข้อข้างต้น ซึ่งจะถูกจัดไว้เป็นประเภทปกติแลกล่าวถึงเป็นพิเศษ
2.1.3 เงินให้สินเชื่อรายใหย๋ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำการสอบทานให้รายงานแยกเป็น
2.1.3.1 เงินให้สินเชื่อที่ได้ดำเนินการจนที่สุดแล้ว หมายถึง ลูกหนี้ที่ธนาคารพาณิชย์ได้ดำเนินการจนถึงที่สุดแล้ว โดยคาดว่าจะไม่สามารถเรียกเก็บหนี้ได้เพิ่มเติมอีก และลูกหนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงการจัดชั้นและการกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ
2.1.3.2 เงินให้สินเชื่อรายใหม่ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติสินเชื่อในปีปฏิทินนี้
หมายถึง ลูกหนี้ที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อภายในปีปฏิทินที่รายงาน ที่ไม่มีปัญหาในการชำระหนี้ หรือ ระดับคุณภาพของลูกหนี้ไม่ได้ลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ
2.2 เงินให้สินเชื่อรายย่อย หมายถึง ลูกหนี้ที่มีวงเงินหรือยอดหนี้คงค้างอย่างใดอย่าง หนึ่งรวมกันทุกสำนักงาน ณ วันสิ้นปีปฏิทินที่สอบทานต่ำกว่า 20 ล้านบาท
2.2.1 เงินให้สินเชื่อที่สอบทานโดยวิธีทางสถิติ หมายถึง ลูกหนี้รายย่อยที่ธนาคารพาณิชย์จัดกลุ่มลูกหนี้ตามประเภทหรือวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมเงิน เช่น ลูกหนี้บัตรเครดิต ลูก หนี้สินเชื่อเพื่อการเคหะ และลูกหนี้สัญญาเช่าซื้อที่ได้จากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นต้น และ ทำการสุ่มตัวอย่างตามวิธีทางสถิติที่เชื่อถือได้เพื่อคัดเลือกลูกหนี้รายย่อยที่จะทำการสอบทาน โดยการ สุ่มตัวอย่างดังกล่าว จะต้องมีความถูกต้องและความน่าเชื่อถือได้ตามหลักวิชาการที่สามารถอธิบายได้ ทั้งนี้ ให้ธนาคารพาณิชย์รายงานยอดคงค้างของลูกหนี้รายย่อย ที่มีการจัดกลุ่มก่อนที่จะมีการสุ่มตัวอย่าง และเมื่อมีการสุ่มตัวอย่างลูกหนี้รายใดมาทำการสอบทาน ก็ให้ทำการสอบทานภาระผูกพันของลูกหนี้ รายนั้นด้วย
2.2.2 เงินให้สินเชื่อรายย่อยอื่น หมายถึง เงินให้สินเชื่อรายย่อยที่ธนาคารพาณิชย์สอบทานตามวิธีปกติ
2.3 ภาระผูกพันที่มีมูลหนี้และมีการสอบทาน หมายถึง ภาระผูกพันในภายหน้าเพื่อลูกค้าเฉพาะ ที่เกี่ยวกับเงินให้สินเชื่อที่มีการสอบทานในข้อ 2.1 และ 2.2 โดยแสดงยอดคงค้างของภาระผูกพันตามประเภทของเงินให้สินเชื่อและตามสถานะของการจัดชั้นของเงินให้สินเชื่อรายนั้นๆ
โดยรายงานแยกเป็น 2.3.1) รายใหญ่ 100 รายแรก 2.3.2) รายใหญ่อื่น และ 2.3.3) รายย่อย
2.4 ภาระผูกพันที่ไม่มีมูลหนี้รายใหญ่ 20 รายแรก หมายถึง ภาระผูกพันในภายหน้าเพื่อลูกค้าเฉพาะที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อ ที่มีวงเงินรวมกันทุกสำนักงานตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป และไม่มียอดคงค้างของเงินให้สินเชื่อ ให้รายงานยอดคงค้างของภาระผูกพันในภายหน้าที่มียอดคงค้างสูงสุด 20 รายแรก
3. ร้อยละของการสอบทานเงินให้สินเชื่อรายใหญ่ต่อเงินให้สินเชื่อรายใหญ่ทั้งสิ้น หมาย
ถึง อัตราส่วนการสอบทานเงินให้สินเชื่อรายใหญ่ และเงินให้สินเชื่อรายใหญ่ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องสอบ
ทาน(ตามข้อ 2.1) ต่อเงินให้สินเชื่อรายใหญ่ทั้งสิ้น (ข้อ 1.1.1)
4. ร้อยละของการสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพัน ต่อเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันทั้งสิ้น หมายถึง เงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันที่มีการสอบทานรวมเงินให้สินเชื่อที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องสอบทาน(ข้อ 2) ต่อเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันทั้งสิ้น (ข้อ 1)
คำอธิบายประกอบการจัดทำตารางสรุปการสอบทาน
เงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันรายย่อยโดยวิธีการสุ่มตัวอย่าง(ตาราง 9.1/1)
ก.ข้อความทั่วไป
1. ตารางสรุปการสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันรายย่อยโดยวิธีการสุ่มตัวอย่าง (ตาราง 9.1/1) เป็นรายงานสรุปการสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันของลูกหนี้รายย่อยที่ธนาคารพาณิชย์ทำการสุ่มตัวอย่างตามวิธีทางสถิตเพื่อคัดเลือกลูกหนี้รายย่อยที่จะทำการสอบทาน
2. ให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำตารางสรุปการสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันรายย่อยโดยวิธีการสุ่มตัวอย่าง(ตาราง 9.1/1) ในรูปแบบเอกสาร (Hard Copy) จำนาน 2 ชุด และยื่นต่อส่วนสถิติสถาบันการเงิน ฝ่ายบริหารข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยแสดงยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพัน ที่จำแนกตามกลุ่ม/ประเภทของเงินให้สินเชื่อรายย่อยตามที่ธนาคารพาณิชย์ได้จัดไว้ เป็นหน่วยพันบาท และให้ใส่เครื่องหมายจุลภาค ”,” หลังหลักพันและหลักล้าน มาพร้อมกับแบบรายงานการสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพัน
(ธ.พ.9.1)
ข. ความหมายของรายการ
1. กลุ่ม/ประเภทของเงินให้สินเชื่อรายย่อย หมายถึง กลุ่มหรือประเภทของลูกหนี้รายย่อยที่ธนาคารพาณิชย์ได้จัดแบ่งตามประเภทของเงินให้สินเชื่อหรือตามวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมเพื่อทำการสอบทานเงินให้สินเชื่อด้วยการสุ่มตัวอย่างลูกหนี้ที่จะทำการสอบทานตามวิธีทางสถิติ เช่น ลูกหนี้บัตรเครดิต ลูกหนี้สินเชื่อเพื่อการเคหะ และลูกหนี้สัญญาเช่าซื้อที่ได้จากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นต้น โดยให้แสดงรายละเอียดดังนี้ 1) จำนวนราย ยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันทั้งสิ้นของเงินให้สินเชื่อรายย่อยแต่ละกลุ่ม 2) จำนวนตัวอย่างที่สุ่มเพื่อทำการสอบทานทั้งจำนวนราย ยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันของเงินให้สินเชื่อรายย่อยแต่ละกลุ่ม และ 3) อัตราร้อยละของการสุ่มตัวอย่างต่อจำนวนราย ยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันของสินเชื่อรายย่อยแต่ละกลุ่ม
ทั้งนี้ ยอดรวมของจำนวนรายและยอดคงค้างของเงินให้สินเชื่อรายย่อยทุกกลุ่มก่อนการสุ่มตัวอย่างเพื่อสอบทานสินเชื่อด้วยวิธีทางสถิติ ต้องตรงกับยอดรวมของเงินให้สินเชื่อรายย่อยที่สอบทานโดยวิธีทางสถิติตามแบบรายงานการสอบทานเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพัน (ธ.พ.9.1)
ข้อ 2.2.1
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ