รายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมกราคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 15, 2016 14:15 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมกราคม 2559 เทียบกับเดือนมกราคม 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.3 โดยสาเหตุที่ทำให้ดัชนีราคาลดลงจากราคาในกลุ่มสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และยางมะตอย ตามภาวะราคาตลาดโลก เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก ตามการลดลงชองราคาน้ำมัน ผลิตภัณฑ์ยาง ได้แก่ ยางแผ่นรมควันและยางแท่ง ตามภาวะราคาตลาดโลกที่ยังคงชะลอตัว โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ ได้แก่ เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศยังคงชะลอตัวอยู่ทำให้กำลังซื้อลดลง เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เนื่องจากความต้องการใช้ลดลง

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products Activity) แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 596 รายการ สรุปผลได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมกราคม 2559 ปี 2553 ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนมกราคม 2559 เท่ากับ 99.9 ( เดือนธันวาคม 2558 เท่ากับ 101.0 )

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เดือนมกราคม 2559 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนธันวาคม 2558 (MoM) ลดลงร้อยละ 1.1 จากการลดลงของดัชนีราคา 3 หมวดหลัก คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 0.5 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 6.5 และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 1.0 ตามการลดลงของราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ยางพารา ราคาเคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ต่ำตามปริมาณที่ออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ภาวะการค้าชะลอตัวต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามมาตรการรับซื้อยางจากนโยบายของรัฐที่รับซื้อยางจากเกษตรกรโดยตรงในราคานำตลาดยางแผ่นคุณภาพดีที่ กก.ละ 45 บาท พร้อมเริ่มดำเนินการรับซื้อในวันที่ 25 ม.ค. 2559 ซึ่งเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาในเชิงบวกต่อราคายาง ข้าวเปลือก ความต้องการของตลาดชะลอตัว มะนาว มีผลผลิตนอกฤดูออกมาสู่ตลาดทดแทนมะนาวตามฤดูกาล มันสำปะหลัง ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ไข่ไก่ ปริมาณผลผลิตมากกว่าความต้องการ พืชผัก อากาศเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงตามภาวะตลาดโลก เม็ดพลาสติก ราคาลดลงตามราคาน้ำมัน เครื่องคอมพิวเตอร์ ความต้องการใช้ลดลง และผลิตภัณฑ์จากเหมือง ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ที่ลดลงตามภาวะตลาดโลก

2.2 เดือนมกราคม 2558 (YoY) ลดลงร้อยละ 2.3 สาเหตุจากดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 5.5 ตามการลดลงของผลผลิตการเกษตร สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ปลาและสัตว์น้ำ และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.5 ตามการลดลงของราคาหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ผลิตภัณฑ์อโลหะ โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 11.2 ตามการสูงขึ้นของสินค้ากลุ่มลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ แร่โลหะและแร่อื่นๆ

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 596 รายการ สรุปผลได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศชุดแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เดือนมกราคม 2559 ในปี 2553 ดัชนีราคาหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ เท่ากับ 100 สำหรับเดือนมกราคม 2559 ดัชนีราคาเท่ากับ 103.4 , 94.6 , 91.9 ตามลำดับ

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศชุดแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP) เดือนมกราคม 2559 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2558 หมวดสินค้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 0.3 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ลดลงร้อยละ 2.5 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ ลดลงร้อยละ 2.4

3. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศชุดแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เดือนมกราคม2559 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2558 หมวดสินค้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 1.3 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป(แปรรูป) ลดลงร้อยละ 5.2 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ ลดลงร้อยละ 1.6

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 5808 โทรสาร. 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ