รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคม 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 14, 2017 14:32 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม และความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลง รวมทั้ง ความคาดหวังต่อเศรษฐกิจและธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า การหางานทำในปัจจุบันและในอีก 3 เดือนข้างหน้า ลดลง

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคม 2560 จากประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ 77 จังหวัด ทั่วประเทศ จำนวน 3,539 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 38.4 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2560 ที่มีค่า 38.6 จากภาคเกษตรกรรม ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม เป็นแรงกดดันให้กำลังซื้อลดลง พื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหาย แม้บางพื้นที่ระดับน้ำลดแล้ว แต่ผลที่ตามมา คือ เกิดการเน่าเสีย ส่งผลต่อสุขอนามัยของประชาชน และ การดำเนินกิจกรรมทางภาคธุรกิจ SMEs พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และบริการ อีกทั้ง ราคาพืชผลทางการเกษตรอยู่ในระดับต่ำ ได้แก่ ผักและผลไม้บางชนิด ออกสู่ตลาดมาก รวมทั้ง ปาล์มน้ำมัน ราคารับซื้อลดลงอย่างต่อเนื่องจากน้ำมันปาล์มดิบในสต๊อกมีมาก แม้ช่วงนี้ผลผลิตออกน้อย หากต่อไปมีมาก เกษตรกรชาวสวนปาล์มกังวลว่าอาจทำให้ราคาลดต่ำลงไปอีก ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ที่เป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว นอกจากนี้ ตลาดแรงงานที่ซบเซายังส่งผลต่อค่าจ้างแรงงาน และ เงินบาทที่แข็งค่ายังกระทบต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อราคาน้ำมันสำเร็จรูป โดยเฉพาะในส่วนของการปรับขึ้นค่าโดยสารเรือ ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้น สำหรับภาคธุรกิจขนส่ง ได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจาก การส่งออกสินค้าและบริการ รวมทั้ง การท่องเที่ยว ทั้งนี้ มาตรการภาครัฐจะเป็นแรงสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศที่สำคัญ ทั้งเม็ดเงินอัดฉีดจากงบกลางปี 2560 มูลค่า 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งจะกระจายสู่พื้นที่จังหวัดต่างๆ มากขึ้น และมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐที่จะเริ่มแจกจ่ายตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2560 อีกทั้ง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติงบกลาง 1.6 พันล้านบาทช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ครัวเรือนละ 3 พันบาท

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต มีค่า 42.6 ปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่มีค่า 43.1 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบัน มีค่า 32.1 ปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่มีค่า 31.9 โดยค่าดัชนีฯ ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อการบริโภคในอนาคตและสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

ทั้งนี้ การคาดการณ์สถานการณ์ทั่วไปของเศรษฐกิจและธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 49.0 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่ระดับ 49.4 โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน อยู่ที่ 24.9 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่ระดับ 25.2 และโอกาสในการหางานทำในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 30.1 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่ระดับ 31.5 ตลอดจนการวางแผนซื้อรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ยังอยู่ในระดับไม่มีความเชื่อมั่น ขณะที่ การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน อยู่ที่ 54.1 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่ระดับ 54.0 โดยค่าดัชนีมีค่าสูงกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังมีความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)
รายการ               ก.พ.60   มี.ค.60   เม.ย.60   พ.ค.60   มิ.ย.60   ก.ค.60   ส.ค.60
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม     40.4     38.5      36.1     40.3     39.5     38.6     38.4

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)
รายการ                            ก.พ.60   มี.ค.60   เม.ย.60   พ.ค.60   มิ.ย.60   ก.ค.60   ส.ค.60
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน     34.2     31.8      29.7     33.6     32.9     31.9     32.1
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต     44.5     43.0      40.4     44.7     43.9     43.1     42.6

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                        ก.พ.60   มี.ค.60   เม.ย.60   พ.ค.60   มิ.ย.60   ก.ค.60   ส.ค.60
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)     51.2     50.0      47.3     51.0     49.8     48.2     48.6

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                    ก.พ.60   มี.ค.60   เม.ย.60   พ.ค.60   มิ.ย.60   ก.ค.60   ส.ค.60
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                    26.5     24.6      21.1     25.4     25.2     25.2     24.9
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)     30.4     28.9      26.5     31.4     31.3     31.5     30.1

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                   ก.พ.60   มี.ค.60   เม.ย.60   พ.ค.60   มิ.ย.60   ก.ค.60   ส.ค.60
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน        52.1     49.9      56.3     56.3     54.3     54.0     54.1
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า         13.0     13.8      11.9     13.6     14.9     13.3     14.6
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน       18.6     19.5      19.4     22.0     21.3     19.7     21.0
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2560 ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ กรุงเทพฯ/ปริมณฑลจาก 35.3 เป็น 34.0 ภาคเหนือจาก 37.1 เป็น 35.8 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจาก 42.4 เป็น 40.4 และภาคใต้ จาก 35.0 เป็น 34.8 ขณะที่ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 41.7 เป็น 46.6 และ จาก 41.0 เป็น 41.7 ตามลำดับ ทั้งนี้ ค่าดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจาก ภาระหนี้สินครัวเรือน การมีรายได้น้อย และความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับราคาสินค้าเกษตร ที่ปรับตัวลดลง กระทบต่อรายได้เกษตรกร ประกอบกับ ภาวะอุทกภัยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดความเสียหายขึ้นในส่วนของภาคเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าว ตลอดจนประชาชนทั่วไป ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ รวมทั้ง ความกังวลปัญหาการขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทอาจกระทบต่อรายได้ของผู้ส่งออก และ การปรับตัวของภาคธุรกิจ ตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อีกทั้ง สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและการประกอบธุรกิจ

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั่วไป และภาคเกษตรกรรม

2. แก้ปัญหาภาระหนี้สินของครัวเรือนรายได้น้อย ทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี

3. มุ่งพัฒนาปฏิรูประบบเศรษฐกิจ

4. ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค

5. ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ เพื่อสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

6. ดูแลราคาน้ำมัน

7. ดูแลค่าครองชีพให้อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ ปรับรายได้ขั้นต่ำเพิ่ม

8. ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์ และส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติในไทยเพื่อมีการจ้างงานมากขึ้น

9. หาพื้นที่ว่างสำหรับคนขายของ

10. เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคเพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้

11. ช่วยเหลือราคาสินค้าเกษตรกรรม เช่น ข้าว ยาง และสินค้าการเกษตรอื่นๆ

12. ควรส่งเสริมการค้า การส่งออก สินค้าเกษตร ผลผลิตทางการเกษตร และอุตสาหกรรมของประเทศ

ด้านสังคม

1. นโยบายให้สวัสดิการคนรายได้น้อย/คนจนที่ตรงจุด ใช้เงินงบประมาณคุ้มค่า

2. คิดถึงประชาชนอันดับแรก ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ปรับภาษีสินค้าอุปโภคบริโภคผลักภาระให้ประชาชนทองอ้อม

3. พัฒนาคุณภาพคน การจ้างงาน ใช้ทรัพยากรที่มีในประเทศให้มีประสิทธิภาพ

4. กำจัดยาเสพติดออกจากประเทศชาติ

5. รับฟังความคิดเห็นประชาชนเป็นหลัก เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด

6. รักษาเถียรภาพทางการเมือง และปราบปรามการคอรัปชั่น

7. แก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

8. หยุดคอรัปชั่น

9. แก้ปัญหาการว่างงาน หางานให้ทำ เพื่อให้มีรายได้

10. เร่งพัฒนาระบบคมนาคม

11. แก้ปัญหาความยากจน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์

12. จัดระบบของหน่วยงานทั่วประเทศไม่ให้มีการโกงภาษีประชาชน

13. เพิ่มโทษกับนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน

14. พัฒนาการศึกษาเพื่อให้นักเรียนจบมามีคุณภาพ

ที่มา: กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

โทรศัพท์ 02-5076554 โทรสาร 02-5075806

http://www.price.moc.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ