ดัชนีภาวะธุรกิจส่งออก (Export Business Index) ประจำเดือนสิงหาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 27, 2018 11:12 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

Highlights

ดัชนีมูลค่าส่งออก

ภาพรวมดัชนีภาวะธุรกิจส่งออกเดือนสิงหาคม 2561 เท่ากับ 50.9 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 52.1 แต่ยังมีค่าสูงกว่าระดับ 50 แสดงว่า ผู้ส่งออกยังคงมีมุมมองที่ดีต่อภาวะการส่งออกของไทย และจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ส่งออก จำนวน 305 ราย มีรายละเอียดผลการสำรวจดังนี้

ดัชนีมูลค่าส่งออก เดือนสิงหาคม 2561 มีค่าเท่ากับ 53.1 แสดงว่า มูลค่าการส่งออกมีทิศทางที่ดีขึ้น สาเหตุหลักมาจาก ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวและกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าตามเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ

สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าส่งออก เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง ผักผลไม้ สด แช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่รวมคอมพิวเตอร์) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป

ขณะที่สินค้าที่มีมูลค่าส่งออก ลดลง ได้แก่ ยางพารา อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง น้ำตาลทราย เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ อาหารสำเร็จรูป และเชื้อเพลิงและพลังงาน

ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่

ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ เดือนสิงหาคม 2561 มีค่าเท่ากับ 53.3 แสดงว่า คำสั่งซื้อใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากความต้องการสินค้าเกษตร ที่ขยายตัว ทั้งข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผักผลไม้ สด แช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป เนื่องจากตลาดญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปยังคงมีความต้องการ อย่างต่อเนื่อง

สินค้าที่มีมูลค่าคำสั่งซื้อใหม่ เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง ผักผลไม้ สด แช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่รวมคอมพิวเตอร์) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้าและชิ้นส่วน

ขณะที่สินค้าที่มูลค่าคำสั่งซื้อใหม่ ลดลง ได้แก่ ยางพารา อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง น้ำตาลทราย เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารสำเร็จรูป และเชื้อเพลิงและพลังงาน

ดัชนีการจ้างงาน

ดัชนีการจ้างงาน เดือนสิงหาคม 2561 มีค่าเท่ากับ 51.6 แสดงให้เห็นว่าการจ้างงานของภาคการส่งออกปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น

สินค้าที่มีมูลค่าการจ้างงาน เพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่รวมคอมพิวเตอร์) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และอาหารสำเร็จรูป

ขณะที่สินค้าที่มูลค่าการจ้างงาน ลดลง ได้แก่ ผักผลไม้ สด แช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ยางพารา อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ และรองเท้าและชิ้นส่วน

ดัชนีสินค้าคงคลัง

ดัชนีสินค้าคงคลังเดือนสิงหาคม 2561 มีค่าเท่ากับ 45.7 ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50 แสดงว่ามูลค่าสินค้าคงคลังมีแนวโน้มลดลง เป็นผลจากการบริหารจัดการสินค้าคงคลังให้น้อยลง เนื่องจากเป็นการผลิต ตามคำสั่งซื้อและการส่งมอบสินค้าออกไปต่างประเทศมากขึ้น โดยสินค้า คงคลังที่ ลดลง ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง น้ำตาลทราย สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่รวมคอมพิวเตอร์) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้าและชิ้นส่วน และอาหารสำเร็จรูป

ขณะที่มูลค่าสินค้าคงคลังที่ เพิ่มขึ้นได้แก่ ผักผลไม้ สด แช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ยางพารา เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง

ปัญหาและข้อเสนอแนะของผู้ส่งออก

ปัญหา
  • ความผันผวนของค่าเงินบาท ส่งผลกระทบต่อรายได้ผู้ส่งออกในรูปเงินบาทและความสามารถในการแข่งขันทางการค้า
  • การขนส่งทางเรือโดยตู้บรรจุสินค้าสำหรับการส่งออก (ตู้คอนเทนเนอร์) และจำนวนเรือไม่เพียงพอ ต่อการส่งออกสินค้า ทำให้ต้องใช้เวลาการจองเรือขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น อีกทั้งสภาพอากาศที่มีพายุเข้าและฝนตกหนัก ทำให้การขนส่งล่าช้าและ เสียหาย รวมทั้งการส่งสินค้าทางอากาศด้วย
  • ขาดสภาพคล่องทางการเงิน
  • ความต้องการของตลาดต่างประเทศและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
  • ค่าแรงและวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตามด้วย ทำให้เสียเปรียบในด้านความสามารถในการแข่งขัน
  • ขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องคอมพิวเตอร์ และแรงงานไร้ฝีมือ ในอุตสาหกรรมทูน่ากระป๋อง อาหารทะเลแช่เย็นและแช่แข็ง เสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้า
  • ประเทศจีนไม่ให้เรือใหญ่เข้าประเทศเป็นเวลา 2 เดือน ผู้ส่งออกจึงต้องเปลี่ยนการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ขนส่งสินค้าได้ปริมาณน้อยลง
  • มาตรการ DUI สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items) จะประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ที่ให้บริษัทต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการส่งออกต้องรัดกุม และการลงทะเบียนออนไลน์ของกระทรวงพาณิชย์ควรมีความเสถียรของระบบ
ข้อเสนอแนะ

ภาครัฐควรดำเนินการ ดังนี้

  • ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ เพื่อช่วยให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่ค้า
  • ส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศให้มากขึ้น
  • ช่วยขยายตลาดใหม่ให้กับผู้ส่งออก รวมถึงเจรจาเกี่ยวกับกำแพงภาษี โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าน้ำตาลทรายที่ราคาลดลง เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศลดลง
  • ติดตามและหาแนวทางรับมือผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาและจีน โดยเฉพาะสินค้าเหล็กจากจีนที่เข้ามาไทยและผลิตต่อเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจได้รับผลกระทบในระยะยาว และช่วยเจรจากับรัฐบาลจีนเกี่ยวกับมาตรการปกป้องมลภาวะทางอากาศที่มีการตรวจสอบสินค้าอย่างเข้มงวด เพื่อช่วยให้สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น

ที่มา: กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


แท็ก การส่งออก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ