ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 5, 2020 13:43 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนกุมภาพันธ์ 2563 (ปี 2553 = 100) เท่ากับ 101.2 เทียบกับ-เดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 (YoY) โดยมีสาเหตุสำคัญจากหมวดผลผลิตเกษตรกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 จากสินค้าสำคัญที่ราคาเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าวเปลือกเหนียว อ้อย ปาล์ม สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิตและไข่ไก่ เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่มีปริมาณผลผลิตลดลงจากภาวะภัยแล้งและอีกส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากมาตรการภาครัฐ ในขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ร้อยละ 4.0 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติและแร่ และหมวดผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.4 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์ยาง ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่า สินค้าสำเร็จรูปและสินค้าวัตถุดิบ ยังขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.3 และ 1.2 ตามลำดับ ขณะที่สินค้ากึ่งสำเร็จรูป หดตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.8 จากสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันดีเซล เหล็ก เม็ดพลาสติก ตามราคาตลาดโลก และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง จากความต้องการสินค้าที่ชะลอตัว อย่างไรก็ดี ยังมีสินค้าในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ได้แก่ ผลปาล์มสด-น้ำมันปาล์มดิบ-น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ จากมาตรการของภาครัฐโดยเพิ่มความต้องการใช้ในประเทศเพื่อลดสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ สับปะรดโรงงาน-สับปะรดกระป๋อง/น้ำสับปะรด และ ข้าวเปลือกเหนียว-ข้าวสารเหนียว-แป้งข้าวเหนียว จากวัตถุดิบการเกษตรที่ใช้ผลิตมีปริมาณน้อย

1. เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.1 โดย

  • หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.3 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียว อ้อย ผักสด (ข้าวโพดฝักอ่อน ผักคะน้า ผักกาดหอม ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว ผักชี ผักกวางตุ้ง บวบ) ผลไม้ (องุ่น กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า สับปะรดโรงงาน มะพร้าวอ่อน ฝรั่ง ชมพู่) จากปริมาณผลผลิตที่ลดลงเนื่องจากหลายพื้นที่เพาะปลูกประสบภาวะภัยแล้ง ขณะที่ความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่อง ปาล์มสด จากภาครัฐมีนโยบายเพื่อดูดซับอุปทานส่วนเกิน เช่น สนับสนุนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 ในประเทศ ส่งผลให้ราคาปรับตัวดีขึ้น กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิตและไข่ไก่ ตามความต้องการบริโภคที่มีอย่างต่อเนื่องประกอบกับการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลังสด กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ กุ้งแวนนาไม และปลาหมึกกล้วย จากความต้องการของตลาดชะลอตัว
  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.4 จากสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง (น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด) ราคาเคลื่อนไหวตามตลาดโลก กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) ปรับราคาลดลงเพื่อระบายสินค้ารุ่นเดิม สายไฟ สายเคเบิล และแบตเตอรี่ จากราคาวัตถุดิบลดลง กลุ่มเคมีภัณฑ์ ได้แก่ เม็ดพลาสติก จากความต้องการในตลาดโลกที่ชะลอตัว โซดาไฟ ราคาลดลงตามตลาดโลก กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น เหล็กเส้นและเหล็กฉาก ตามราคาตลาดโลกประกอบกับการแข่งขันสูงกับสินค้าเหล็กที่นำเข้าจากต่างประเทศ กลุ่มสิ่งทอ ตามราคาวัตถุดิบที่ลดลงและปรับราคาเพื่อกระตุ้นยอดขาย กลุ่มเยื่อกระดาษ ตามราคาตลาดโลกประกอบกับคำสั่งซื้อลดลง กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ตามราคาวัตถุดิบที่ลดลง
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 4.0 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ (ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก วุลแฟรม) เป็นไปตามภาวะตลาดโลก

2. เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ลดลงร้อยละ 0.4 โดย

  • หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.3 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงเนื่องจากมีวัตถุดิบอื่น ๆ ทดแทนในการผลิตอาหารสัตว์ มันสำปะหลังสด เป็นช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ผลปาล์มสด และยางพารา (ยางแผ่นดิบ เศษยาง) จากความต้องการของตลาดที่ชะลอตัว ผลไม้ (องุ่น กล้วยน้ำว้า มะม่วง มะพร้าวอ่อน ส้มเขียวหวาน ลำไย มะละกอ) กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาดุก ปลานิล กุ้งแวนนาไม ปลาหมึกกล้วย และหอยแครง ผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นประกอบกับความต้องการของตลาดที่ชะลอตัว สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า เนื่องจากหมดฤดูกาลเก็บเกี่ยวทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย สุกร/ไก่มีชีวิต ตามความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นประกอบกับการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว
  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.3 จากการลดลงของราคากลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด) และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ตามราคาตลาดโลก กระดาษและบรรจุภัณฑ์กระดาษ (กระดาษพิมพ์เขียน กล่องกระดาษ) เหล็กเส้นและลวดแรงดึงสูง ตามการลดลงของราคาวัตถุดิบ ขณะที่สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำตาลทราย และทองคำ ตามราคาตลาดโลก เม็ดพลาสติก จากความต้องการในประเทศเพิ่มขึ้น
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.8 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ (ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก) ตามราคาตลาดโลก

3. เฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 0.4 โดย

  • หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 6.2 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มผลผลิตการเกษตร และสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์
  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.2 จากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ หนังฟอก ผลิตภัณฑ์หนังและรองเท้า ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ และกลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 2.2 จากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ

4. แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมีนาคม 2563 มีปัจจัยที่ต้องพิจารณาทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยเฉพาะสถานการณ์ภัยแล้ง สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 และสถานการณ์โลก ซึ่งส่งผลทั้งทางบวกและลบต่อดัชนีราคาผู้ผลิต ดังนี้

  • ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบเชิงลบค่อนข้างมากจากทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวระดับต่ำ และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ส่งผลต่อการลดลงของอุปสงค์สินค้าในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง อาทิ เหล็ก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและเม็ดพลาสติก และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งรัดการลงทุนของภาครัฐน่าจะช่วยให้อุปสงค์ของสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นบ้าง อีกทั้งราคาทองคำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ความเสี่ยง แต่โดยรวมสินค้ากลุ่มนี้น่าจะมีทิศทางราคาลดลงต่อไป
  • ผลผลิตเกษตรกรรม ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากสถานการณ์ภัยแล้งและมาตรการภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าวเปลือก อ้อย ยางพารา และปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรบางส่วนได้รับผลกระทบจากอุปสงค์โลกที่ลดลง โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ผัก ผลไม้ และกุ้ง

คาดว่าสถานการณ์ไวรัส Covid-19 และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคงมีอิทธิพลต่อสินค้าอุตสาหกรรม และสถานการณ์ภัยแล้งจะยังคงมีอิทธิพลต่อสินค้าเกษตร ทำให้โดยรวมดัชนีราคาผู้ผลิตจะขยายตัวในระดับต่ำหรืออาจหดตัวได้ในระยะต่อไป

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ