ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนมกราคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 27, 2020 13:57 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า โดยกองดัชนีเศรษฐกิจการค้า มีการปรับปรุงการจัดทำดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศ ด้วยการปรับเปลี่ยนน้ำหนักทุกปี ซึ่งการปรับปรุงครั้งนี้ ได้ปรับเปลี่ยนน้ำหนัก โดยใช้มูลค่าการส่งออกและมูลค่าการนำเข้าจากกรมศุลกากรของปีก่อนหน้าเป็นตัวถ่วงน้ำหนัก จากปี 2561 เป็นปี 2562 และมีการปรับปรุงรายการสินค้าที่ใช้คำนวณดัชนีในปี 2563 ของดัชนีราคาส่งออก จำนวน 670 รายการ (ปี 2562 จำนวน 682 รายการ) และดัชนีราคานำเข้า จำนวน 730 รายการ (ปี 2562 จำนวน 728 รายการ) เพื่อให้สะท้อนความเคลื่อนไหวภาวะการค้าของประเทศที่เป็นปัจจุบัน แต่ยังคงปีฐาน 2555 = 100

ดัชนีราคาส่งออก เดือนมกราคม 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.7 (YoY) จากการปรับตัวสูงขึ้นของหมวดสินค้าเกษตรกรรม ร้อยละ 4.5 รองลงมาคือ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 8.1 และ 0.5ตามลำดับ เนื่องจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มคลี่คลาย ทำให้บรรยากาศทางการค้าดีขึ้น ประกอบกับมาตรการเร่งรัดการส่งออกของไทย ส่งผลให้สินค้าหลายรายการราคาปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ยางพารา ไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.1 อาทิ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง ตามความต้องการที่ชะลอตัวในช่วงก่อนหน้า

ดัชนีราคานำเข้า เดือนมกราคม 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 2.1 (YoY) ปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 3.4 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป เชื้อเพลิงอื่น ๆ จากความตึงเครียดของสหรัฐฯ-อิหร่าน ผลักดันให้ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.4 ได้แก่ ทองคำ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรไฟฟ้า หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 2.4 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เครื่องประดับอัญมณี และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 2.7 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก

แนวโน้มราคาส่งออก-นำเข้าของไทย คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการลงนามข้อตกลงทางการค้าระยะแรก ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งทำให้บรรยากาศทางการค้าดีขึ้น รวมถึงการปรับตัวในฐานะเป็นห่วงโซ่อุปทานโลกได้ดี อย่างไรก็ตาม ปัญหาวิกฤตไวรัส Covid-19 หากไม่สามารถควบคุมได้ในระยะเวลาอันสั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กดดันต่อทิศทางราคาส่งออก-นำเข้า รวมถึงความสามารถทางการแข่งขันของไทย

อัตราการค้า (Term of Trade) เดือนมกราคม 2563

อัตราการค้าของไทย ในเดือนมกราคม 2563 เท่ากับ 107.8 (เดือนธันวาคม 2562 เท่ากับ 108.0) ทั้งนี้ อัตราการค้ายังสูงกว่า 100 แสดงว่า ประเทศไทยยังมีความสามารถทางการแข่งขันที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าผักและผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวและแป้ง คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ นอกจากนี้ สินค้าในกลุ่มเม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ปุ๋ย เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ราคาส่งออกสูงกว่าราคานำเข้า ซึ่งเป็นไปตามปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร และความต้องการของตลาดโลก

ดัชนีราคาส่งออกประจำเดือนมกราคม ปี 2563

1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมกราคม 2563 เท่ากับ 101.0 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนธันวาคม 2562 เท่ากับ 101.1) โดยดัชนีราคาส่งออกหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 102.5 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 107.6 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 102.6 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 80.0

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมกราคม 2563 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ลดลงร้อยละ 0.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง คือ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 0.4 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของสถานการณ์เชื้อไวรัส Covid-19 ในประเทศจีน ส่งผลให้ตลาดมีความกังวลต่อความต้องการใช้น้ำมัน เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่บริโภคน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ประกอบกับตัวเลขน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ได้แก่ น้ำตาลทราย ตามปริมาณผลผลิตน้ำตาลโลกที่ลดลง จากปัญหาภัยแล้ง อย่างไรก็ตาม สต๊อกน้ำตาลคงค้างยังคงเหลืออยู่ ราคาน้ำตาลจึงสูงขึ้นไม่มาก นอกจากนี้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ราคาปรับตัวสูงขึ้น จากผลของความต้องการในการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบ สำหรับอุตสาหกรรมอาหารที่มีการขยายตัว และหมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.1 ได้แก่ ยางพารา ข้าว (โดยเฉพาะข้าวเหนียว) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง จากปัญหาภัยแล้งทำให้ไม่เพียงพอต่อการบริโภคและการส่งออก นอกจากนี้ ปลาหมึก ปลา และไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ราคาสูงขึ้นจากความต้องการของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ประเทศจีนมีความต้องการเพิ่มขึ้น เพื่อไปบริโภคแทนเนื้อสุกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคอหิวาห์แอฟริกา (ASF) สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม มีการเคลื่อนไหวของสินค้าสำคัญดังนี้ สินค้าส่งออกที่ราคาปรับสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถปรับตัวต่อภาวะสงครามการค้าได้ดี สำหรับทองคำ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ยาง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ราคาสูงขึ้นตามการสั่งซื้อสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สินค้าส่งออกที่ราคาปรับลดลง ได้แก่ เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และรถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ

2.2 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 4.5 ได้แก่ ยางพารา ไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ข้าว และผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ตามความต้องการของตลาดคู่ค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 8.1 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 0.5 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่ม ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ปรับตัวสูงขึ้นตามการขยายตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.1 โดยสินค้าส่งออกที่ราคาปรับลดลง ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ตามความต้องการสินค้าที่ชะลอตัว ประกอบกับมีการแข่งขันในด้านราคาค่อนข้างสูง

ดัชนีราคานำเข้าประจำเดือนมกราคม ปี 2563

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมกราคม 2563 เท่ากับ 93.7 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนธันวาคม 2562 เท่ากับ 93.6) โดยดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 69.1 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 104.8 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 98.1 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 104.8 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 97.2

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมกราคม 2563 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุปโภคและบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 0.6 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เครื่องประดับอัญมณี และนาฬิกาและส่วนประกอบ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ทองคำ จากการระบาดของไวรัส Covid-19 ทำให้มีความต้องการทองคำที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขณะที่หมวดสินค้าที่ปรับตัวลดลง คือ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 1.4 ได้แก่ น้ำมันดิบ เนื่องจากตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ซึ่งอาจส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัว ประกอบกับกำลังการผลิตส่วนที่หายไปจากเหตุการณ์ความไม่สงบในลิเบียได้รับการชดเชยจากผู้ผลิตในกลุ่มโอเปคที่มีกำลังการผลิตสำรองในระดับสูง ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม น้ำมันสำเร็จรูป และเชื้อเพลิงอื่น ๆ สำหรับหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ดัชนีราคานำเข้าไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีการเคลื่อนไหวของสินค้า ดังนี้ กลุ่มสินค้ารถยนต์นั่ง ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ และรถจักรยาน ปรับสูงขึ้น ขณะที่กลุ่มสินค้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ปรับตัวลดลง

2.2 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 2.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้าโดยเฉพาะหมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 3.4 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป เชื้อเพลิงอื่น ๆ ซึ่งเป็นไปตามภาวะราคาตลาดโลก ประกอบกับราคาสินค้าเชื้อเพลิงในปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์โลหะ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.4 ได้แก่ ทองคำ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรไฟฟ้า ด้ายและเส้นใย และผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 2.4 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้เครื่องประดับอัญมณี กาแฟ ชา เครื่องเทศ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรมอื่นๆ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ และสบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 2.7 ได้แก่ รถยนต์นั่ง ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของตลาด ประกอบกับผู้ผลิตได้ปรับคุณภาพสินค้าให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ