ทิศทางการส่งออกและลงทุนปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 6, 2011 15:53 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

เศรษฐกิจไทยในปี 2553 ฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาด ภายหลังต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำอย่างหนักในปี 2552 นับว่าเป็นอานิสงส์จากภาคการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นสำคัญ ชดเชยกับภาคเศรษฐกิจอื่นที่ชะลอกำลังลง

การส่งออกที่ดีขึ้นนั้นเป็นการขยายตัวดีขึ้นในทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดเอเชีย ทำให้คาดว่ามูลค่าส่งออกของไทยตลอดทั้งปี 2553 จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 20% นอกจากนี้คาดว่าในปี 2554 การส่งออกจะยังเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ดังนี้

1. เศรษฐกิจตลาดใหม่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย อาทิ จีน สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations : ASEAN ) อินเดีย รวมถึงออสเตรเลีย ลาตินอเมริกา และตะวันออกกลาง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงินและ

นโยบายการคลังที่ถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงที่เกิดวิกฤตจึงทำให้เศรษฐกิจในประเทศดังกล่าวสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับการปรับเปลี่ยนนโยบายการค้าของหลายประเทศที่หันมาเน้นตลาดในประเทศและตลาดในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น ทำให้สามารถลดผลกระทบจากการส่งออกไปตลาดหลักที่ชะลอตัวลงได้เป็นอย่างดี

2. อานิสงส์จากการทำเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ เริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้นปี 2553 ข้อตกลงการค้าเสรีหลายฉบับที่ไทยเป็นสมาชิก ที่สำคัญคือ เขตการค้าเสรี ASEAN (ASEAN Free Trade Area : AFTA ) ซึ่งลดอัตราภาษีลงเหลือ 0% ในทุกสินค้าที่นำมาลดภาษี ขณะเดียวกันมีหลายความตกลง เช่น เขตการค้าเสรี ASEANจีน ASEAN-อินเดีย ASEAN-เกาหลีใต้ ASEAN-ออสเตรเลีย ตลอดจนASEAN-นิวซีแลนด์ มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ทำให้อัตราภาษีนำเข้าระหว่างประเทศสมาชิกลดลงเป็นลำดับ นอกจากนี้ ความร่วมมือภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจ ASEAN (ASEAN Economic Community : AEC ) ได้คืบหน้าไปอย่างมาก ทั้งในส่วนของการค้าสินค้าภายใต้ AFTA รวมทั้งด้านบริการและการลงทุนเริ่มมีการเปิดเสรีในสาขาเร่งรัดมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะครอบคลุมทุกสาขาในทุกประเทศสมาชิกภายในปี 2558 ปัจจัยดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศลง ส่งผลให้การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคเดียวกันขยายตัวได้มากขึ้น

3. กลุ่มบรรษัทข้ามชาติ (Multinational Corporations : MNCs) ยังคงใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกสำคัญ แม้ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนไปบ้าง แต่MNCs ส่วนใหญ่ยังมีความมั่นใจในโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยรวมทั้งความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและปัจจัยการผลิตต่างๆ ที่สำคัญคือ คุณภาพแรงงานไทยเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาค

แม้ภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2554 ยังเติบโตได้ต่อเนื่องเป็นผลจากปัจจัยสนับสนุนหลายประการข้างต้น อย่างไรก็ตามคาดว่าการขยายตัวมีแนวโน้มชะลอลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากฐานการส่งออกที่สูงในปี 2553 ประกอบกับมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ทั้งที่เป็นปัจจัยภายในประเทศและปัจจัยภายนอกประเทศซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของการส่งออกในระยะถัดไป ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษได้แก่

1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจตลาดหลักยังเปราะบาง เนื่องจากปัญหาการว่างงานทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ขณะที่ประเทศต่างๆ เริ่มเผชิญกับข้อจำกัดมากขึ้นในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ซึ่งประเทศเศรษฐกิจหลักหลายประเทศกำลังประสบปัญหาขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะในระดับสูง จนกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยรวม ดังเช่นกรณีของประเทศในกลุ่ม PIIGS* ทำให้หลายฝ่ายเริ่มออกมาเรียกร้องให้ประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ หันกลับมาให้ความสำคัญกับการรักษาวินัยทางการคลังและมีความเป็นไปได้ว่า หลายประเทศอาจเริ่มทยอยถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Exit Strategy) ก่อนที่ปัญหาการขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะจะลุกลามดังเช่นที่เกิดขึ้นกับประเทศในกลุ่ม PIIGS แต่แน่นอนว่า การใช้ Exit Strategy ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอย่อมกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดังนั้นในระยะถัดไปไม่ว่าประเทศเศรษฐกิจหลักจะดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปหรือเลือกใช้ Exit Strategy เพื่อรักษาวินัยทางการคลัง ย่อมเผชิญกับข้อจำกัดของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2. ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมัน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่ค่อยๆ ฟื้นตัวทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันมีมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย ประกอบกับปัญหาภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทำให้ความสามารถในการผลิตน้ำมันชะลอตัวลง ผลักดันให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น นอกจากนี้ ท่าทีของกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (Organization of Petroleum Exporting Countries : OPEC ) ที่ยังคงพอใจกับเป้าหมายระดับการผลิตในปัจุบันและจะยังไม่ปรับเพิ่มปริมาณการผลิตที่จะเป็นแรงกดดันต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ทำให้การเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์มีอยู่เป็นระยะ ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ อาทิ เหล็ก ทองแดง และสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตปรับตัวสูงขึ้น

3. ปัญหาภัยธรรมชาติเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและสร้างความเสียหายมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ภาคเกษตรกรรม ในปี 2553 ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ทำให้ผลผลิตทางการเกษตร ปศุสัตว์ และประมงบางส่วนได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรลดลงเกษตรกรและผู้ส่งออกจึงเสียโอกาสในการสร้างรายได้จากการขยายปริมาณการส่งออก ที่เห็นได้ชัดและจะต่อเนื่องไปในปี 2554 คือ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผักผลไม้ เป็นต้น

  • เป็นตัวย่อของประเทศยุโรปที่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ 5 ประเทศ ประกอบด้วยโปรตุเกส (Portugal) อิตาลี (Italy) ไอร์แลนด์ (Ireland) กรีซ (Greece) และสเปน (Spain)

4. เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนในทิศทางแข็งค่าตามค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศในภูมิภาคเอเชียที่แข็งแกร่ง ประกอบกับความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้เงินทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาจำนวนมากทั้งเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(Foreign Direct Investment : FDI ) และการลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio Investment) นอกจากนี้ การที่จีนยืดหยุ่นค่าเงินหยวนนับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้เงินหยวนรวมถึงเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นตามไปด้วย แนวโน้มดังกล่าวจะบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าชนิดเดียวกับประเทศคู่แข่งที่มีค่าเงินอ่อนกว่า อาทิ เวียดนาม

5. การแข่งขันในเวทีการค้าโลกทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งในรูปของการแข่งขันด้านราคาและคุณภาพของสินค้า ประกอบกับประเทศคู่ค้าจะนำมาตรการทางการค้ารูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะมาตรการที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures : NTMs ) มาใช้มากขึ้น เพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศและรักษาสถานะการแข่งขันในตลาด ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในต่างประเทศ ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุม ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อสร้างโอกาสจากสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ควบคู่กับการสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแกร่งเพื่อลดแรงกระแทกที่อาจเกิดขึ้นในระยะถัดไป ดังนี้

1. กระจายความเสี่ยงด้านการส่งออก โดยหันไปเจาะตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ขณะเดียวกันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาตลาดหลักเดิมที่มีกำลังซื้อสูง แต่อาจต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์โดยหันมาเจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะเจาะจงมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรศึกษาและใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีภายใต้กรอบข้อตกลงต่างๆ ให้เต็มประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

2. ปรับปรุงการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพและหันมาใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตและต้นทุนค่าขนส่งลง

3. ให้ความสำคัญกับการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งอาจต้องทบทวนสกุลเงินที่ใช้ในการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศอย่างจริงจังมากขึ้นนอกเหนือจากการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ภาวะที่เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิต โดยนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศหรือย้ายฐานการผลิตและขยายการลงทุนไปยังประเทศที่มีศักยภาพ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในระยะถัดไป

4. พัฒนาสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐาน โดยสอดคล้องกับข้อกำหนดของประเทศคู่ค้าและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น อีกทั้งควรหันมาเน้นแข่งขันด้านคุณภาพด้วยการใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์แทนการแข่งขันด้านราคา เพื่อลดความรุนแรงจากสงครามราคา ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอีกทางหนึ่ง

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ