ข้าวไทยในตลาดจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 6, 2011 11:50 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครซีอานรายงานว่า รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนการปลูกข้าวที่ตกแต่งพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ (GMO) ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกของจีนลดน้อยลงจากผลพวงการขยายตัวของเมือง ประกอบกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น คาดว่า ข้าวGMO จะได้รับอนุญาตให้วางจำหน่ายในท้องตลาดได้ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า หลังจากผ่านการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่รับรองถึงความปลอดภัยต่อการบริโภคและไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอนแล้ว เป็นเครื่องชี้ว่าในอนาคตจีนอาจส่งออกข้าวได้มากขึ้นด้วย

ในปัจจุบันแม้ผลผลิตข้าวของจีนเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ พลเมืองจีน 1,300 ล้านคน บริโภคข้าวและธัญพืชโดยเฉลี่ย 388 กิโลกรัม/คน/ปี คาดว่าในขณะนี้ธัญพืชคงคลังมีสำรองเพื่อการบริโภคไม่น้อยกว่า 100 วัน เป็นข้าวคุณภาพต่ำ จีนมีการนำเข้าและส่งออกข้าว เพื่อรักษาสมดุลของอุปสงค์และอุปทานของตลาดหากปีไหนผลผลิตข้าวมีน้อย และเกิดภาวะขาดแคลน ก็จะมีแหล่งนำเข้าชดเชยการผลิตภายในได้ โครงสร้างการนำเข้าข้าวของจีนเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เคยนำเข้าข้าวคุณภาพต่ำเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนทั่วไปเพื่อการดำรงชีวิต มาเป็นการนำเข้าข้าวคุณภาพสูงเพื่อตอบสนองต่อความเจริญทางเศรษฐกิจ ความกินดีอยู่ดีของผู้ที่มีฐานะร่ำรวยขึ้น รวมทั้งใช้ในภัตตาคารร้านอาหารระดับสูงราคาแพง

พื้นที่เพาะปลูกธัญพืชในประเทศจีนมีรวมทั้งสิ้น 1,800 ล้านมู่ (1 มู่ = 0.4ไร่) ผลผลิตรวมธัญพืชทุกประเภท 540,000 ล้านกิโลกรรม/ปี โดยเฉลี่ยพื้นที่เพาะปลูกข้าวของจีนมีประมาณ 180 ล้านไร่ ในปีเพาะปลูก 2552/2553 คาดว่าปริมาณข้าวจะออกสู่ท้องตลาด 196.4 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 1,000 กิโลกรัม สต็อกข้าวจะมีจำนวน 13.71 ล้านตัน (ที่มา: CNGOIC)

ข้าวเป็นอาหารหลักของชาวจีน ถึงแม้ว่าชาวจีนจำนวนมากโดยเฉพาะทางภาคเหนือ มีอาหารหลักอื่นซึ่งทำจากแป้งข้าวสาลีหรือธัญพืชอื่นๆ ที่ปลูกกันมากทางภาคเหนือ เช่น บะหมี่ เกี๊ยว ซาลาเปา เป็นต้น ข้าวที่จีนบริโภคมีคุณภาพแตกต่างกัน ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงมักจะเป็นข้าวคุณภาพต่ำ ในขณะที่ข้าวที่มีชื่อเสียงขึ้นชื่อเป็นที่ยอมรับ นอกจากข้าวหอมมะลิเมล็ดยาวของไทยแล้ว ยังมีข้าวเมล็ดสั้นคุณภาพสูงราคาแพงที่จีนปลูกได้เองในเขต Heilongjiang ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนข้าวแบรนด์ชั้นนำจากญี่ปุ่น “Koshihikari” และ “Hitome-bore” ซึ่งใช้วิธีควบชื่อเสียงของแบรนด์มากับแหล่งผลิตเพื่อยืนยัน “ของแท้” ข้าวชื่อโด่งดังแต่ละชนิด มีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน ทั้งความนุ่มเหนียว รสชาติ กลิ่น และวิธีหุงที่แตกต่าง ก่อให้เกิดเสน่ห์และเอกลักษณ์ที่สร้างความโดดเด่นของตนเอง ต้องใจผู้บริโภค และมีวิธีการทำตลาดที่ต่างกันไป

จีนผูกพันไว้ในองค์การการค้าโลก (WTO) กำหนดโควตานำเข้าข้าวปีละ 5.32 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวเมล็ดยาว 2.66 ล้านตัน และข้าวเมล็ดสั้น 2.66 ล้านตัน ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ทำให้ภาษีข้าวลดลงเหลือร้อยละ0 ซึ่งทำให้ข้าวไทยได้เปรียบมากกว่าสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ แต่ไทยยังมีคู่แข่งภายในอาเซียน อย่างไรก็ตาม หากไทยมุ่งไปที่ตลาดระดับบน และใช้ชื่อเสียงความเป็นข้าวไทยเป็นจุดขาย ไทยก็จะสามารถแยกตัวเองออกจากคู่แข่งในสมาชิกอาเซียนด้วยกันได้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการที่จะนำเสนอจุดแข็งเป็นจุดขายของข้าวหอมมะลิไทย ที่ไม่มีการปลอมปนใดๆ วิธีหนึ่งที่จะช่วยได้คือการรับรองแหล่งผลิต โดยใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นแบรนด์รับประกันความแท้มาตรฐานคุณภาพข้าว

การจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวที่เน้นตลาดข้าวไทยในจีนโดยเฉพาะ จะช่วยให้ข้าวไทยขยายตัวและเป็นที่แพร่หลายได้มากขึ้น เศรษฐกิจของจีนกำลังเติบโตอย่างมาก ถนนการค้าทุกสายจากทั่วโลกตัดตรงมาที่จีน ถึงแม้ว่าจีนจะผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคได้ทุกอย่างและเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ แต่จีนซึ่งเป็นชนชาติที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับอาหาร ทั้งเพื่อสุขภาพ ความพึงพอใจ และการพักผ่อนหย่อนใจ พร้อมที่จะจ่ายเงินจำนวนมากหากคุ้มค่า ข้าวคือวัฒนธรรมการกินอาหารของชาวจีนมาแต่โบราณ ชื่อชั้นข้าวหอมมะลิของไทยเป็นเลิศในสายตาของชาวจีนและทั่วโลก ถึงแม้ระบบการค้าและวิธีคิดทางธุรกิจของจีนไม่ได้ลอกเลียนแบบอย่างตามตะวันตกซึ่งเราคุ้นเคย แต่ก็ไม่ยากเกินไปที่จะทำความรู้จักเรียนรู้ให้เกิดความเข้าใจ ข้าวไทยยังมีโอกาสงดงามในตลาดจีน

สิริรัตน์ วงศ์ไพโรจน์พานิช

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ นครซีอาน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ