แนะใช้ไส้เดือนฝอยกำจัดปลวกปลอดภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 12, 2010 00:00 —องค์การสะพานปลา

ปลวกนอกจากจะเป็นศัตรูทำลายไม้สร้างปัญหาให้กับมนุษย์แล้ว ยังทำลายต้นไม้โดยกัดกินตั้งแต่รากจนถึงลำต้น การกำจัดทั่วไปจะใช้สารเคมีจำพวกออร์แกนโนฟอสเฟต คาร์บาเมต และสารสังเคราะห์กลุ่มไพรีทรอยด์ กรมวิชาการเกษตรได้ตระหนักถึงอันตรายจากการใช้สารเคมี จึงมุ่งเน้นให้กำจัดปลวกที่ปราศจากมลพิษและไม่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม
ไส้เดือนฝอยสกุล Steinernema เป็นสายพันธุ์ที่แยกได้ในประเทศไทย มีคุณสมบัติทนทานอุณหภูมิได้สูง 35 องศาเซลเซียส เพาะเลี้ยงได้ง่ายในอาหารเทียม ราคาถูก ปลอดภัยต่อมนุษย์ สัตว์และพืช แต่มีศักยภาพในการกำจัดปลวกที่สร้างจอมปลวกและอยู่ใต้ดินได้ดี
กลไกการเข้าทำลาย ไส้เดือนฝอยสามารถเข้าสู่ตัวปลวกได้โดยผ่านทางช่องเปิดตามธรรมชาติ หรือปลวกกินไส้เดือนฝอยเข้าไป จากนั้นไส้เดือนฝอยจะเคลื่อนที่เข้าสู่ช่องว่างในตัวปลวก ซึ่งมีน้ำเลือดและปลดปล่อยแบคทีเรียที่อยู่ร่วมกับไส้เดือนฝอยเข้าสู่กระแสเลือดของปลวก
แบคทีเรียจะสร้างสารพิษ มีผลให้ปลวกเกิดอาการเลือดเป็นพิษ หยุดนิ่งและตายภายใน 6 ชั่วโมง ไส้เดือนฝอยจะเจริญเติบโตและขยายพันธุ์อยู่ภายในตัวปลวกประมาณ 3-4 วัน ได้ลูกรุ่นใหม่และเคลื่อนที่ออกจากซากปลวกเพื่อรอปลวกตัวใหม่ต่อไป
ผลิตภัณฑ์ไส้เดือนฝอยบรรจุในถุงพลาสติกใสรูปทรงสามเหลี่ยม โดยมีโพลิเมอร์เป็นสารอุ้มความชื้น ปริมาณเท่ากับ 5 ล้านตัวต่อซอง ควรเก็บไว้ในที่อุณหภูมิห้อง 25-35 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บได้นาน 3 เดือนนับจากวันผลิต วิธีการใช้ก็ตัดถุงเทโพลิเมอร์ลงในภาชนะ เติมน้ำสะอาดพอท่วมแล้วใช้มือกวนล้างให้ไส้เดือนฝอยหลุดออกจากผิวโพลิเมอร์ จากนั้นใช้กระชอนกรองแยกโพลิเมอร์ทิ้งไป นำน้ำที่ผ่านการกรองใส่กระบอกฉีดน้ำนำไปฉีดพ่นกำจัดปลวก ดังนี้
1.กรณีที่พบตัวปลวกหรือรังปลวกให้ฉีดพ่นถูกตัวปลวก หรืออาจใช้วิธีราดไส้เดือนฝอยลงไปในรังปลวก ปฏิบัติซ้ำๆ กันห่าง 2-3 วัน หรือจนไม่พบตัวปลวก
2.กรณีไม่พบตัวปลวก ให้ขุดหลุมกว้าง 30 ซม. ลึก 20 ซม. เพื่อวางเหยื่ออาหารล่อปลวก โดยใช้ไส้เดือนฝอยคลุกกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราหรือเศษกระดาษลูกฟูก โรยในหลุมที่ขุดไว้ปิดปากหลุมตรวจดูทุก 3 วัน และโรยไส้เดือนฝอยซ้ำระยะห่าง 3-5 วัน หรือจนไม่พบตัวปลวก
ข้อควรระวัง ห้ามนำผลิตภัณฑ์แช่ตู้เย็น เมื่อล้างแยกไส้เดือนฝอยออกจากโพลิเมอร์แล้วควรใช้ให้หมดในครั้งเดียว เขย่ากระบอกฉีดพ่นให้บ่อยครั้งในขณะฉีดพ่น เพื่อไม่ให้ตกตะกอนที่ก้นกระบอก หากผู้ใดต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ สำนักงานวิจัยพัฒนาอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร.0-2579-9586.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ