(เพิ่มเติม1) ม.หอการค้าฯเผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคก.พ.ที่ 84.0 สูงสุดในรอบ 19 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 7, 2013 14:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.พ.56 อยู่ที่ระดับ 84.0 เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค.56 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 81.7

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 74.3 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ 75.5 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 102.2

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.พ.56 ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ ซึ่งปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และปรับตัวสูงสุดในรอบ 19 เดือน นับตั้งแต่เดือน ส.ค.54 แต่อย่างไรก็ดีดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ(100) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสการหางานทำ และรายได้ในอนาคต "ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน ก.พ.56 ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 19 เดือนเป็นการปรับตัวที่สูงมาก เนื่องจากดัชนีแต่ละตัวมีการปรับตัว 2 จุด 3 จุด โดยเฉลี่ยซึ่งจะเห็นว่าตัวเลขเศรษฐกิจขยายตัว 2 จุด 3 จุด ตัวเลขการหางานทำขยายตัว 2 จุด 6 จุด และรายได้ในอนาคตขยานตัว 2 จุด 2 จุด โดยทุกตัวทำรายสถิติในรอบปีแรก ยกเว้นการเมือง" นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู่บริโภคในเดือนนี้ ได้แก่ สภาพัฒน์แถลง GDP ไตรมาส 4/55 โตถึง 18.9% ซึ่งขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์,คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75%,การส่งออกในเดือน ม.ค.56 ขยายตัวได้ 16.1%, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น, การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันทั่วประเทศ และการใช้จ่ายภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับตัวสูงขึ้น, ความกังวลต่อวิกฤติไฟฟ้าในช่วงวันที่ 5-14 เม.ย.56 ที่พม่าจะหยุดส่งก๊าซให้ไทย, ความกังวลต่อภาวะเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าอย่างรวดเร็ว, ผู้บริโภควิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง

นายธนวรรธน์ คาดว่า การบริโภคของภาคประชาชนจะขยายตัวดีขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เนื่องจากประชาชนมีรายได้มากขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย อีกทั้งรายได้ของประชาชนยังสูงขึ้นตามนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ นโยบายการจำนำข้าว การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐต่างๆ

ทั้งนี้ การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะฟื้นตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ถ้ารัฐบาลเร่งรัดการใช้นโยบายการคลังผ่านการใช้งบประมาณเพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้น จะเป็นแรงพยุงที่สำคัญเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยผันผวนตามเศรษฐกิจโลก

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีนั้น มาจากผู้บริโภคมีความมั่นใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวดีขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เงินตากโครงการรับจำนำข้าว รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่โดดเด่นเป็นพิเศษ ในช่วงเดือนธ.ค.55-ม.ค.56 การส่งออกปรับตัวดีขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลถึงการปรับตัวของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมองว่าอาจมีผลต่ออำนาจซื้อในกระเป๋า ขณะที่ความเสี่ยงทางการเมืองในอนาคตยังคงมีอยู่

นอกจากนี้ ปัญหาด้านเศรษฐกิจโลกที่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ได้แก่ 1.ข่าวการยกเลิกมาตรการ QE ซึ่งทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นทันที 2.การเมืองประเทศอิตาลีที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนลง และทำให้เกิดการต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดของยุโรป ทำให้ประชาชนไม่ออกไปเลือกตั้ง และปฎิเสธนายกรัฐมนตรีคนเก่า

3.ปัญหาคอรัปชั่นของประเทศจีนในเรื่องของการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ 4.การเก็งกำไรในฮ่องกงและสิงค์โปร์ ซึ่งกังวลว่าจะเกิดภาวะฟองสบู่ได้ 5.การเมืองในไทยที่เริ่มนิ่งมากขึ้นแต่ยังคงมีความเสี่ยงอยู่อีก และ 6.เงินบาทแข็งค่า ซึ่งทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนมากขึ้นกว่าเดิม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ