รมว.พลังงานให้ตรึง FT งวดก.ย.-ธ.ค., ดีเดย์ขึ้น LPG ภาคครัวเรือน 1 ก.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 12, 2013 13:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงพลังงานได้ทบทวนแผนแบ่งเบาภาระประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นและราคาน้ำมันโลกที่กำลังปรับตัวสูงขึ้น โดยจะดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาทไปจนถึงปลายปีนี้ เช่นเดียวกับราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) และค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ(FT)ที่จะตรึงราคาไปจนถึงปลายปีนี้เช่นกัน

แม้ว่าการในเบื้องต้นคำนวณค่า FT งวดสุดท้ายของปี คือเดือนกันยายน- ธันวาคมนี้ ค่าเอฟทีจะปรับเพิ่ม 2.8 สตางค์/หน่วย เพราะต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้น และเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลง โดยจะขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เป็นผู้จะรับภาระตรึงราคาค่าไฟไว้ให้ก่อน

ทั้งนี้ ที่ประชุมคาดว่าราคาน้ำมันดิบจะไม่ปรับตัวเพิ่มสูงมากนัก แม้ว่าในขณะนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบจะปรับสูงไปถึง 104 ดอลลารร์/บาร์เรล โดยคาดว่าไตรมาสที่ 4 ราคาน้ำมันดิบดูไบจะไม่เกิน 106-108 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากการที่สหรัฐฯ สามารถผลิตเชล์แก๊ส และเชลล์ออยล์ได้ จะทำให้ความต้องการนำเข้าน้ำมันของสหรัฐลดน้อยลง

สำหรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ภาครัวเรือนนั้น นายพงษ์ศักดิ์ ยืนยันว่า จะเริ่มปรับขึ้นตั้งแต่ 1 ก.ย.นี้เดือนละ 50 สต./กก. และจะปรับขึ้นรวม 6 บาท/กก. เพราะมีนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและหาบเร่แผงลอยอยู่แล้วด้วยการตรึงราคาไว้ที่ 18.13 บาท/กก. สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วย/เดือน และหาบเร่แผงลอย 7.5 แสนครัวเรือน ดังนั้นผู้มีรายได้น้อยจะไม่ได้รับผลกระทบ และพ่อค้าไม่มีข้ออ้างในการขึ้นราคาข้าวแกง เพราะราคา LPG ที่ 18.13 บาท/กก. คิดเป็นต้นทุนข้าวแกง 1% หรือ 30 สต./จาน การปรับขึ้นเดือนละ 50 สต. ต้นทุนเพิ่ม เท่ากับ 1.5 สต./เดือน โดยหากขึ้นครบ 6 บาท/กก. จะเท่ากับต้นทุนเพิ่มเพียง 10 สต./จานเท่านั้น จึงไม่กระทบต่อต้นทุนอาหาร

รมว.พลังงาน กล่าวด้วยว่า บมจ.ปตท.(PTT) รายงานว่าขณะนี้ได้เร่งขยายปั๊ม NGV โดยในส่วนของภาครถบรรทุกกระทรวงพลังงานได้เห็นชอบให้ปรับปรุงคุณภาพก็ซโดยไม่จำเป็นต้องเติมคาร์บอนไดออกไซ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนยื่นขอจัดตั้งปั๊ม NGV ตามแนวท่อก๊าซเส้นที่ 4 ที่ปตท.อยู่ในระหว่างการก่อสร้างไปจังหวัดนครสวรค์และจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างปั๊มได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ปตท.ยังเตรียมแผนร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ส่งเสริมการสร้างโรงงานก๊าชชีวภาพเพื่อนำมาผลิตเป็นแก็สชีวภาพอัดสำหรับรถยนต์(CBG)ตามจังหวัดชายแดนที่ห่างไกล ซึ่งคาดว่าจะมีปั๊ม CBG จำนวน 200 แห่ง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดทุนจากการขนส่ง NGV ที่พบว่ามีต้นทุนมาก เช่น การขนส่งจากกรุงเทพฯ ไปขอนแก่นและอุดรธานี มีต้นทุนสุงถึง 21บาท/กก.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ