(เพิ่มเติม1) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมก.ย.ลดลง 2.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 28, 2013 13:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยดัชนีอุตสาหกรรมผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI)เดือนก.ย.56 อยู่ที่ 172.7 ขยายตัวลดลง 2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ปรับตัวลดลงหลังหมดการส่งมอบในโครงการรถคันแรก ส่วนดัชนีอุตสาหกรรมไตรมาส 3/56 หดตัวลดลง 3.6%

ทั้งนี้ สศอ.ยังคาดการณ์ว่าแนวโน้มไตรมาส 4/56 ภาคผลิตสินค้าอุตสาหกรรมจะยังชะลอ

"แนวโน้มปี 56 เป็นไปในทิศทางเดียวกับสำนักเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งโดยรวมคงไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ตอนต้นปี โดยเมื่อก.ค. ทางสศอ.ได้ปรับลดประมาณการลงมาเหลือโต 0.5-1% แต่ ณ ปัจจุบันคาดว่าโดยรวมไม่น่าจะเกิน 0%" นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าว

ขณะที่ดัชนีอุตสาหกรรมเดือนม.ค.-ก.ย. 56 ลดลง 1.87%

ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ก.ย.56 อยู่ที่ 64.03 ลดลงจาก 65.49 ในเดือน ก.ย.55 ส่วนอัตราการใช้กำลังผลิต ม.ค.-ก.ย. 56 ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 65.15 ลดลงจาก 65.83 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับปัจจัยลบ ได้แก่ ฐานปี 55 สูงมากจากการเร่งผลิตเพื่อสนองคำสั่งซื้อหลังจากเกิดน้ำท่วมเมื่อปี 54, ดีมานด์ประเทศคู่ค้าชะลอตัวลงจากปัจจัยเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้สินค้าหลายตัวมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต ส่วนปัจจัยบวกในระยะเวลาที่เหลือของปี ได้แก่ เทศกาลรื่นเริงช่วงปลายปี และการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ขณะที่ปัจจัยการเมืองมองว่าเป็นปัจจัยกระทบระยะสั้น เพราะโดยรวมประเทศไทยผ่านเรื่องนี้มามาก

นายสมชาย กล่าวว่า ภาวะการผลิตไตรมาส 3/56 ของอุตสาหกรรมที่สำคัญ มีดังนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาสที่ 3/2556 หดตัว -8.67% เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ได้ทยอยส่งมอบรถให้กับลูกค้าจากนโยบายรถยนต์คันแรกไปเรียบร้อยแล้วเป็นส่วนใหญ่ ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4/56 คาดว่าการผลิตจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งมีฐานค่อนข้างสูง อันเนื่องมาจากช่วงปลายปี 55 เป็นช่วงที่นโยบายรถคันแรกกำลังจะสิ้นสุดทำให้ผู้บริโภคเร่งจองซื้อรถ

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ไตรมาส 3/56 การผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หดตัว -1.12% โดยมีสาเหตุมาจากการผลิตที่ลดลงทั้งในกลุ่ม IC และ HDD ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็วจากการเติบโตของสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ต ส่วนแนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้า ไตรมาส 4/56 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.99 และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.64 เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อเข้ามามากในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้งานระบบ Cloud computing และศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่จะมารองรับการจัดเก็บข้อมูลที่มีจำนวนมากขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ไตรมาส 3/56 การบริโภคเหล็กของไทยมีการขยายตัว ร้อยละ 8.35 แต่อยู่ในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับการขยายตัวในไตรมาสที่ 1 และไตรมาส 2 ของปี 56 โดยในไตรมาสนี้มูลค่าการนำเข้าลดลงอย่างมาก เนื่องจากเมื่อปีก่อนมีการนำเข้าเหล็กเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์จากโครงการรถยนต์คันแรกตามนโยบายรัฐบาล

นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากการประกาศมาตรการทางการค้า เช่น มาตรการ AD และมาตรการ Safeguard ส่งผลให้การนำเข้าเหล็กลดลง ช่วงที่เหลือปี 2556 คาดการณ์ว่าความต้องการบริโภคเหล็กโดยรวมของประเทศจะชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากช่วงปลายปีที่ผู้ซื้อจะชะลอการสั่งซื้อและจะไม่สำรองสินค้าคงคลังมาก

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ไตรมาส 3/56 การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ และเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดภายในประเทศ ประกอบกับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปจะผลิตตามคำสั่งซื้อเป็นส่วนใหญ่ สำหรับการผลิตผ้าผืนมีทิศทางลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเข้าผ้าผืนราคาถูกจากประเทศจีน ส่งผลให้การผลิตผ้าผืนของไทยลดลง

อุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมอาหารไตรมาส 3/56 การผลิตโดยภาพรวมปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 4.6 เนื่องจากสินค้าหลายชนิดเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากต่างประเทศ โดยกลุ่ม ไก่สดแช่แข็งและไก่แปรรูป ไตรมาส 3/56 มีการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 32.6 หลังจากประเทศไทยได้แก้ไขปัญหาไข้หวัดนก ซึ่งเปลี่ยนระบบการเลี้ยงมาเป็นแบบปิด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ