(เพิ่มเติม) ธปท.ระบุเศรษฐกิจ ก.พ.หดตัวหลังการเมืองยืดเยื้อกระทบใช้จ่ายทั้งลงทุน-บริโภค

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 31, 2014 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.พ.57 ว่า เศรษฐกิจโดยรวมหดตัวจากเดือนก่อนจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อส่งผลให้ครัวเรือนและธุรกิจระมัดระวังการใช้จ่ายทั้งเพื่อบริโภคและลงทุน สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าและภาวะการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัว ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากการเมืองมากขึ้น ส่วนการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นตามแนวโน้มอุปสงค์จากต่างประเทศ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามราคาอาหารสดและราคาอาหารสำเร็จรูป ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการนำเข้าที่หดตัวเป็นสำคัญ ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นจากต่างประเทศของสถาบันรับฝากเงิน และการขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติรวมถึงการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศของนักลงทุนไทย โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุล

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ ธปท.กล่าวว่า ปัจจัยเกือบทุกด้านหดตัวทั้งการใช้จ่าย การบริโภค การลงทุน และการนำเข้า รวมถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการเมืองมากขึ้นอย่างชัดเจนในเดือน ก.พ.จำนวนนักท่องเที่ยวหดตัว 8.1% มาที่ 2,174,000 คน เทียบกับเดือนก่อนหน้ามีจำนวน 2,320,000 คน ซึ่งเป็นการหดตัวเดือนแรก นับตั้งแต่ พ.ย.54 ที่หดตัวลงไปถึง 12.7%

อย่างไรก็ตาม ยังมีการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มอุปสงค์ต่างประเทศ

"เศรษฐกิจไทยเดือนนี้หดตัวต่อเนื่องจากเดือน ม.ค.จึงยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไตรมาส 1 จะหดตัว แต่ยังอยู่ในประมาณการที่ ธปท.คาดไว้ ยังไม่ถือว่าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค เพราะเศรษฐกิจไตรมาส 4/56 เทียบกับไตรมาส 3/56 ยังขยายตัวได้ จึงต้องจับตาภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/57 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/57 ว่าจะหดตัวหรือไม่ แต่ ธปท.เชื่อว่าไตรมาส 2/57 เศรษฐกิจไทยน่าจะรีบาวด์กลับมาได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น"นายเมธี กล่าว

ธปท.ระบุว่า การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวทั้งเมื่อเทียบกับเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากความเชื่อมั่นภาคเอกชนได้รับผลกระทบมากขึ้นจากสถานการณ์ทางการเมือง โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 2.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายที่ลดลงทั้งในสินค้าคงทนและไม่คงทน เนื่องจากครัวเรือนยังคงระมัดระวังในการใช้จ่าย ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเริ่มส่งผลกระทบต่อรายได้

สำหรับดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 7.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการลงทุนออกไปเพื่อรอประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งส่งผลให้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ

การใช้จ่ายภาคเอกชนที่ลดลงส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวจากเดือนก่อน และหากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 4.4 ตาม (1) การผลิตยานยนต์ที่ได้เร่งผลิตไปมากในปีก่อน ประกอบกับคำสั่งซื้อต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงพอที่จะชดเชยคำสั่งซื้อในประเทศที่ลดลง(2) การผลิตวัสดุก่อสร้างที่ชะลอลงตามการลงทุนภาคก่อสร้าง และ (3) การผลิตปิโตรเลียมที่มีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นชั่วคราว

ทั้งนี้ อุปสงค์ภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัว ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคสินค้าทุน วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน การนำเข้าสินค้าโดยรวมจึงมีมูลค่า 14,254 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 18.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน

ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อและจำนวนประเทศที่ประกาศเตือนภัยเพิ่มขึ้น โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนนี้มีจำนวน 2.2 ล้านคน หดตัวร้อยละ 8.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลดลงของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และฮ่องกง

อุปสงค์จากต่างประเทศที่ฟื้นตัวส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้า โดยการส่งออกสินค้ามีมูลค่า 18,150 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวของการส่งออกสินค้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวและมันสำปะหลัง รวมถึงเครื่องจักรและอุปกรณ์ ขณะที่การส่งออกยานยนต์เพิ่มขึ้นจากการเร่งส่งออกหลังจากหดตัวไปในหลายเดือนก่อน อย่างไรก็ดีการส่งออกสินค้าในบางหมวดยังหดตัว อาทิ เหล็กและโลหะที่มีผลของฐานสูงในปีก่อนที่ได้รับผลดีจากการยกเลิกมาตรการทุ่มตลาดของประเทศคู่ค้า สินค้าเกษตรแปรรูปที่มูลค่าการส่งออกน้ำตาลลดลงตามราคาในตลาดโลกเนื่องจากปริมาณผลผลิตส่วนเกินในตลาดโลกมีจำ นวนมาก และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่มีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น

รายได้เกษตรกรหดตัวจากเดือนก่อน และหากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน รายได้เกษตรกรชะลอลงค่อนข้างมากจากราคาที่ลดลงเป็นสำคัญ โดยเฉพาะราคาข้าวที่มีการระบายสต็อกของทางการไทย และราคายางพาราที่สต็อกของจีนอยู่ในระดับสูง ประกอบกับผู้ส่งออกลดราคารับซื้อจากเกษตรกรหลังจากการกลับมาเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ขณะที่ผลผลิตทางการเกษตรขยายตัวตามผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกเมื่อหลายปีก่อน

ภาครัฐใช้จ่ายโดยรวมเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการเบิกจ่ายค่าจ้างและเงินเดือน รวมทั้งค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการของรัฐบาลที่สามารถเบิกจ่ายได้ตามปกติ สำหรับรายได้นำส่งลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนตามภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง รายจ่ายที่มากกว่ารายได้ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 86 พันล้านบาท

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามราคาอาหารสดและการส่งผ่านต้นทุนก๊าซหุงต้มไปยังอาหารสำเร็จรูป ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้า โดยเป็นการเกินดุลจากทั้งการส่งออกที่ปรับดีขึ้นและการนำเข้าที่หดตัวสูง ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นจากต่างประเทศของสถาบันรับฝากเงิน และการขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศของนักลงทุนไทย โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุล

"ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการนำเข้าที่หดตัวเป็นสำคัญ ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุล จากการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นจากต่างประเทศชของสถาบีนการเงิน และการขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศของนักลงทุนไทยโดยรวม ดุลการชำระเงินจึงขาดดุล ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น หนี้ต่างประเทศลดลงเล็กน้อย ประกอบกับมีการคืนหนี้ระยะสั้น โดยทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 2.8 เท่าของหนี้ระยะสั้น"นายเมธี กล่าว

นายเมธี กล่าวอีกว่า ทั้งปี 57 คาดว่าเศรษฐกิจยังเติบโตได้ตามคาดการณ์ 2.7% หากการส่งออกขยายตัว 4.5% บนสมมติฐานที่ประเทศไทยจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทำให้การใช้จ่ายของภาครัฐกลัลเข้าสู่ภาวะปกติแม้อาจจะล่าช้าไป 1 ไตรมาส แต่ก็อยู่ในประมาณการที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ความเชื่อมั่นภาคเอกชนและการลงทุนฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ส่วนการท่องเที่ยวแม้จะหดตัวค่อนข้างมาก แต่ประสบการณ์ที่ไทยเคยผ่านวิกฤติหลายเหตุการณ์จะเห็นว่าการท่องเที่ยวสามารถฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว หากไม่เกิดความรุนแรง ประกอบกับขณะนี้รัฐบาลก็ยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อออกไปจากที่คาดไว้ ทำให้รัฐบาลเบิกจ่ายล่าช้าเกินกว่า 1 ไตรมาส ก็คงต้องติดตามดูอีกครั้ง เพราะขณะนี้ประเมินได้ยากว่าจะเป็นไปตามคาดหรือล่าช้าออกไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ