สรท.เชื่อส่งออกไทยจะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง แต่ทั้งปียังมองติดลบ 2%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 1, 2016 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ขนส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนมิ.ย.59 มีมูลค่าการ 18,146 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -0.08% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 642,388 ล้านบาท ขยายตัว 6.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในครึ่งปีแรก มีมูลค่า 105,137 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -1.60% โดยได้รับอานิสงค์จากมูลค่าการส่งออกทองคำที่สูงถึง 781.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัว 365% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์และสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์

"สถานการณ์โดยรวมในครึ่งปีแรก จะเห็นชัดเลยว่าไม่ค่อยดีนัก ทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ออกมาลบทุกตัว ยกเว้นน้ำตาลเท่านั้นที่เป็นบวก ถึงแม้ว่าภาพรวมในครึ่งปีแรกจะออกมาติดลบ แต่มองดูว่าในเดือนที่แล้วตัวที่ผลักดันมากที่สุด คือ รถยนต์และทองคำ ซึ่งเชื่อว่าจากนี้จะปรับตัวดีขึ้น และคาดการส่งออกทั้งปีน่าจะหดตัวในระดับ -2%" นายวัลลภ กล่าว

ทั้งนี้ คาดการณ์มูลค่าการส่งออกระหว่างเดือนก.ค.-ธ.ค.59 เฉลี่ยเดือนละ 17,610 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือหดตัวเฉลี่ย -1.75% ทำให้มองมูลค่าการส่งออกปี 59 จะมีมูลค่าเท่ากับ 210,089 ล้านเหรียญ หรือหดตัว -2% โดยปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบกับการส่งออก คือ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของคู่ค้าทั่วโลกที่ส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่น และทำให้ปริมาณการอุปโภคบริโภคของลูกค้าในตลาดเป้าหมายลดลง, การดำเนินการของประเทศอังกฤษ หากเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 50 ก่อนสิ้นปี อาจจะมีผลต่อการส่งออกของไทยได้ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทย ซึ่งอาจจะทำให้เสียเปรียบสินค้าจากประเทศคู่แข่งมากยิ่งขึ้น โดยทางสภาผู้ส่งออก จะมีการเข้าพบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเร็วๆ นี้ เพื่อขอให้ช่วยดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าจนเกินไป หรือไม่ควรเกินระดับ 34.05 บาท/ดอลลาร์

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ส่งผลเชิงบวก คือ เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเข้มแข็งขึ้น และเศรษฐกิจจีนอยู่ในระดับที่ทรงตัว ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น และคาดว่าราคาทองคำและน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นได้ในช่วงปลายปีนี้ โดยมองว่าราคาทองคำน่าจะอยู่ในระดับ 1,370 เหรียญ/ออนซ์ และจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกหากอังกฤษเข้าสู่มาตรา 50 ก่อนสิ้นปี ซึ่งทำให้ราคาทองคำจะผันผวนขึ้นไปในระดับ 1,400 เหรียญ/ออนซ์ ขณะเดียวกันราคาน้ำมันคาดว่าจะอยู่ในระดับ 45 เหรียญ/บาร์เรล ในปลายปีนี้

ด้านนายรติดนัย หุ่นสวัสดิ์ ที่ปรึกษาโครงการดัชนีการส่งออก กล่าวว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจโลก มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเข้มแข็งอย่างเป็นลำดับ แม้ว่าจะมีตัวชี้วัดเศรษฐกิจบางตัวที่อ่อนกำลังลงบ้างชั่วคราว เช่น การจ้างงานนอกภาคเกษตรที่จำนวนการจ้างงานต่ำลงมากในเดือนพ.ค.59 แต่ก็กลับมาในระดับที่สูงกว่าระดับปกติที่ 2 หมื่นตำแหน่ง และการขยายตัวของ GDP ที่ต่ำกว่าคาดการณ์ในไตรมาส 2 นี้ ขณะที่การบริโภคภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชน ความเชื่อมั่นผู้บริโภค การจ้างงาน ล้วนแต่มีความเข้มแข็งมากขึ้น รวมถึง Brexit เป็นปัจจัยบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เนื่องจากนักลงทุนได้เคลื่อนย้ายเงินทุนส่วนหนึ่งมาลงทุนในสหรัฐฯ ซึ่งสนับสนุนการเติบโตอีกทาง และคาดว่ามีโอกาสต่ำหากเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่น มีการเผชิญกับปัจจัยกดดันหลายด้าน ได้แก่ ภัยจากแผ่นดินไหว การแข็งค่าของเงินเยน การชะลอตัวของบริโภคภายในประเทศจากการปรับขึ้นภาษี, ค่าเงินเยนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่นมีโอกาสไม่สูงนักที่จะดำเนินนโยบายผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติมผ่านการซื้อสินทรัพย์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะไม่ขยายตัวและไม่หดตัวในปีนี้

ด้านเศรษฐกิจจีน มีการดำเนินนโยบายเข้มงวดในการแก้ปัญหาสินเชื่อและหนี้ภาคเอกชน ส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มชะลอตัว ประกอบกับเงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และอุปสงค์ต่อสินค้าส่งออกยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ที่คาดจะขยายตัวในระดับ 6.7%

ขณะที่เศรษฐกิจยุโรป ถูกแขวนอยู่บนสถานการณ์ของ Brexit ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นความผัวผวนในระยะสั้นจนกว่าอังกฤษจะเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 50 คาดว่าจะเกิดขึ้นในต้นปีหน้า อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยุโรปยังมีความอ่อนแออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการผลิต และปัญหาหนี้เสียของธนาคารอิตาลีที่เป็นปัญหากดดันสหภาพยุโรป เนื่องจากธนาคารกลางจะต้องเข้ามาแบกภาระช่วยเหลืออย่างเดียวกับปัญหาของกรีซ รวมถึงการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ซึ่งคาดว่าจะไม่มีเพิ่มเติมอีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ