BAY มองแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ-ยุโรป-ญี่ปุ่นในปี 60 สวนทางกันชัดเจน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 19, 2016 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ให้ความเห็นต่อทิศทางนโยบายการเงินของ 3 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ในปี 60 ว่า จะสวนทางกันอย่างชัดเจน เนื่องจากเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวไม่เท่ากัน โดยสหรัฐฯ เติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ยุโรปและญี่ปุ่นนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว

สำหรับสหรัฐอเมริกา ปี 60 ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 2 ครั้ง รวม 0.50% จาก 0.63% ในปัจจุบัน สู่ระดับ 1.13 % เนื่องจากตลาดคาดว่า 2 นโยบายเร่งด่วนที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะดำเนินการตามที่หาเสียงไว้ คือ มาตรการลดภาษี และการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ เศรษฐกิจสหรัฐฯจึงมีโอกาสที่จะเติบโตร้อนแรงในระยะแรกของการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ ขณะที่ทิศทางด้านการคลังบ่งชี้ว่า การขาดดุลงบประมาณจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากและรัฐบาลสหรัฐฯต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

การกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่นี้จะเกิดขึ้นในช่วงที่เฟดกำลังใกล้บรรลุเป้าหมายด้านนโยบายการเงิน สะท้อนจากอัตราการว่างงานที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 9 ปี ที่ 4.6% ในเดือนพฤศจิกายน ตลาดการเงินจึงเชื่อว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัว และเฟดอาจตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งในการประชุมวันที่ 13-14 ธันวาคม 59 เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 0.5-0.75% ด้วยมติเอกฉันท์ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้

“การปรับประมาณการของเฟดเกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ย ในปี 60 จาก 2 ครั้ง เป็น 3 ครั้ง สร้างความประหลาดใจให้กับตลาด ทั้งนี้เดิมเฟดคาดว่าในปี 59 จะขึ้นดอกเบี้ยถึง 4 ครั้ง แต่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้เพียงครั้งเดียวในการประชุมรอบสุดท้ายของปี 59 เราจึงมีมุมมองว่านโยบายด้านเศรษฐกิจที่จะปฏิบัติจริงยังคงมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงทิศทางราคาน้ำมันดิบและการแข็งค่าเกินไปของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางความเสี่ยงของการชะลอตัวในภูมิภาคอื่นของโลกอาจส่งผลให้การขึ้นดอกเบี้ยในสหรัฐฯไม่ราบรื่นนัก"

ด้านยุโรป แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และเฟดนั้นถือว่าสวนทางกันอย่างชัดเจน ทั้งนี้คาดว่าตลอดทั้งปี 60 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของยุโรป ทั้ง ยูโรโซน และอังกฤษ จะทรงตัวที่ระดับ 0% และ 0.25% ตามลำดับ โดยการประชุมรอบสุดท้ายของปี 59 อีซีบีมีมติต่ออายุโครงการ QE ออกไปจนถึง ธันวาคม 60 จากกำหนดเดิมเดือนมีนาคม นอกจากนี้ยังได้ปรับลดวงเงินซื้อสินทรัพย์รายเดือนจาก 8 หมื่นล้านยูโรเหลือ 6 หมื่นล้านยูโรโดยจะเริ่มในเดือนเมษายนปี 60 แม้เครื่องบ่งชี้ทางเศรษฐกิจหลายรายการของยุโรปบ่งชี้แนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้น ความเสี่ยงหลักของยูโรโซนจะมาจากกระแสชาตินิยมที่ต่อต้านโลกาภิวัตน์ รวมถึงวาทกรรมหาเสียงลักษณะประชานิยมที่กำลังลุกลามไปในหลายพื้นที่ โดยในปี 60 หลายประเทศชั้นนำในยุโรป อาทิ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมัน จะจัดการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพด้านการเมืองและเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในที่สุด

ส่วนญี่ปุ่น ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ ติดลบ 0.10% ตลอดปี 60 หลังจากที่บีโอเจได้ตัดสินใจประกาศใช้มาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve Control) ในเดือนกันยายน ซึ่งนับเป็นการยกเครื่องกรอบการทำงานที่ตั้งเป้าหมายของนโยบายไปที่ดอกเบี้ยจากเป้าหมายฐานเงิน ตอกย้ำว่าเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจเหลือน้อยลงทุกขณะ

ทั้งนี้ บีโอเจดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณและคุณภาพ (Quantitative and Qualitative Easing) โดยเข้าซื้อสินทรัพย์จำนวนมาเป็นเวลานานกว่า 3 ปีแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้เศรษฐกิจ พ้นจากภาวะชะลอตัว แม้ทางการญี่ปุ่นจะยังคงมุ่งมั่นออกมาตรการต่างๆเพื่อบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% เงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วช่วงปลายปี 2559 น่าจะช่วยหนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้บ้าง ทำให้คาดว่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างมีนัยสำคัญในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ