รมว.คมนาคม เผยรถไฟไทย-จีน สัญญา 2.3 ยังไม่ได้ข้อยุติสัญญาระบบราง รอเจรจาค่าใช้จ่าย คาดลงนามในเม.ย.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 4, 2019 17:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 27 เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า ยังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องสัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ซึ่งจะต้องมีการเจรจาในรายละเอียดค่าใช้จ่าย ซึ่งประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เช่น กรณีจีนเสนอรับประกันรถไฟความเร็วสูงหรือการันตีให้ 1 ปี ซึ่งฝ่ายไทยไม่ยินยอม โดยต้องการ ให้รับประกัน 2 ปี ,ประเด็น จีนขอเคลมค่าปรับกรณีงานก่อสร้างงานโยธาล่าช้า เป็นต้น

ล่าสุดการเจรจาในกรอบสัญญา 2.3 ยังเกินกว่ากรอบที่ 4.5 หมื่นล้านบาทอยู่ อย่างไรก็ตามจะพยายามเจรจาให้ยุติ และเร่งเสนอครม. เพื่อให้ลงนามในสัญญา 2.3 ภายในเดือนเมษายน 2562

"ไทยยืนยันต้องปฎิบัติตาม กฎหมายและระเบียบของไทย ดังนั้น ยังคุยกันไม่จบ นอกจากนี้ค่าใช้จ่าย ราคากลาง แต่ละรายการ ยังไม่ได้เอกสารอ้างอิงจากจีน ซึ่งจีน ถนัดทำงานแบบเทิร์นคีย์เหมาเบ็ดเสร็จ แต่ไทยยอมรับไม่ได้"

สำหรับกรอบวงเงินของสัญญา 3 อยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากกรอบที่ครม. อนุมัติไว้ที่ 38,558.35 ล้านบาท เนื่องจาก จะมีการโยกย้ายเนื้องาน บางส่วนเช่น งานที่ปรึกษา งานควบคุมงาน ประมาณ 7 พันล้านบาท แต่ไม่ทำให้กรอบโครงการรวม เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

นายอาคมกล่าวถึงการเชื่อมต่อกับประเทศสปป.ลาว ช่วงหนองคาย -เวียงจันทน์ว่า จาการประชุม3 ฝ่าย ซึ่งจีนรับเป็นผู้ออกแบบนั้นได้ตกลงรูปแบบร่วมกันแล้วว่า สะพานทางรถไฟแห่งใหม่จะร่วมกันว่า จะมีขนาด 1 เมตร เป็นแบบรางเดี่ยว เนื่องจากมีความถี่ในการเดินรถไม่มากนัก และมีรางขนาด 1.435 เมตร สำหรับรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ซึ่งจะวางรางบนสะพาน 4 ราง หรือเป็นแบบทางคู่

โดยรถไฟจากหนองคาย-เวียงจันทน์ มีระยะทางประมาณ 14 กม. ตัวสะพานมีความประมาณ 400-500 เมตร โดยไทยและลาวจะออกค่าใช้จ่าย บนสะพานคนละครึ่ง ส่วนทางรถไฟฝั่งไทย ที่เชื่อมจากสถานีหนองคาย-กลางสะพาน ประมาณ 10 กม. โดยสถานีหนองคายจะเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร สถานีนาทา เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า

สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.35 กม. วงเงินลงทุนรวม 179,412.21 ล้านบาท ภายใต้ความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน นายอาคม กล่าวว่า การก่อสร้างแบ่งออกเป็น 14 สัญญา ซึ่งขณะนี้กำลังก่อสร้างงานโยธา (ถมคันดิน) ตอนที่ 1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. โดยมีความคืบหน้ากว่า 50% แล้วและจะมีการลงนามสัญญาจ้างผู้รับเหมา คือ บริษัท ซีวิล เอนจิเนียริ่ง จำกัด ผู้รับเหมาในสัญญา 2 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. วงเงิน 3,350.47 ล้านบาท ในวันที่ 6 มี.ค.นี้

ส่วนอีก 5 สัญญา ระยะทาง 144.06 กม. วงเงินรวม 58,427.58 ล้านบาท อยู่ระหว่างการประกวดราคาด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) คาดว่าจะลงนามสัญญากับผู้รับจ้างได้ในเดือนมิ.ย.นี้

ส่วนที่เหลืออีก 7 สัญญา ระยะทางรวม 111.4 กม. จะประกวดราคา และเร่งลงนามสัญญาให้ได้ในเดือนมิ.ย.ด้วย เพื่อให้เริ่มก่อสร้างราคาได้ทั้งหมดภายในไตรมาสที่ 3/62

สำหรับโครงการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. วงเงินประมาณ 215,708.76 ล้านบาท จะเสนอของบประมาณเพื่อทบทวนผลการศึกษาและออกแบบรายละเอียด จำนวน 797 ล้านบาท โดยไทยดำเนินการศึกษาออกแบบเอง โดยมีจีนเป็นที่ปรึกษา และมีเป้าหมายเปิดให้บริการได้ในปี 2569


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ