กลุ่ม ERS เตรียมยื่นหนังสือต่อ"สนธิรัตน์"แนะ 6 ข้อแก้ปัญหาพลังงาน ชี้ควรสร้างธรรมาธิบาลบริหารนโยบาย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 24, 2019 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน และเป็นหนึ่งในกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) เปิดเผยว่า กลุ่มเตรียมเสนอแนวทางปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ยื่นเป็นจดหมายเปิดผนึกให้แก่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เพื่อเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลก และแก้ข้อสงสัยเรื่องการเอื้อประโยชน์เอกชน ซึ่งบั่นทอนธรรมาภิบาลภาครัฐให้เป็นวาระเร่งด่วน

แนวทางดังกล่าวประกอบด้วย 1. การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ที่ราคาพลังงานประเภทต่าง ๆ ควรสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง 2. การเพิ่มการแข่งขันและประสิทธิภาพในธุรกิจพลังงานเพื่อมิให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค

3.การลดการแทรกแซงโดยมิชอบและแสวงหาประโยชน์ในกิจการพลังงานที่รัฐถือหุ้น และการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ 4. กระบวนการในการกำหนดนโยบาย 5. การสำรวจ พัฒนาและจัดหาแหล่งพลังงาน และ 6. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด

วานนี้ กลุ่ม ERS ได้จัดงานครบรอบ 5 ปี ภายใต้หัวข้อ 5 ปี ERS: "ทิศทางประเทศไทย ทิศทางพลังงานไทย" โดยมีแกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ซึ่งนำโดยนายปิยสวัสดิ์, นายคุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน, นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน, นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระ และนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน มาร่วมพูดคุยและเสวนาบนเวทีเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปพลังงานสู่ความยั่งยืน

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า กลุ่มฯเห็นว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้วางนโยบายแก้ไขปัญหาและปฏิรูปพลังงาน ในหลาย ๆ ประการที่เป็นไปในทิศทางที่ดีและสอดคล้องกับข้อเสนอหลายข้อของกลุ่มฯ ที่เคยเสนอไว้ต่อสาธารณชน อันทำให้เกิดความมั่นคง อาทิ การเปิดประมูลการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย 2 แหล่งใหญ่ ที่สัมปทานปิโตรเลียมใกล้จะหมดอายุ (กลุ่มแหล่งก๊าซเอราวัณ และกลุ่มแหล่งก๊าซบงกช) นอกจากนี้ยังมีการออกพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การแก้ไข พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าให้ครอบคลุมรัฐวิสาหกิจ การเปิดให้บุคคลภายนอกใช้ท่อก๊าซธรรมชาติ และลดการถือหุ้นของ บมจ.ปตท. (PTT) ในโรงกลั่นน้ำมัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาหลายประการที่ควรได้รับการแก้ไข เพราะหากทิ้งไว้จะทำให้มีความอ่อนแอลงและมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและฐานะการเงินระหว่างประเทศของไทย อาทิ ธรรมาภิบาลด้านบริหารจัดการนโยบายพลังงานที่ยังมีจุดที่ก่อให้เกิดข้อสงสัย เนื่องจากเอกชนบางรายได้ประโยชน์จากนโยบายและการตัดสินใจของหน่วยงานภาครัฐ เช่น การอนุมัติต่ออายุและสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ภาคตะวันตก 2 โรง กำลังผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ (MW) แทนโรงเดียวขนาด 700 MW ที่หมดอายุลง โดยไม่มีการประมูล

การเปิดประมูลสร้างท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ที่มีการเพิ่มคลังรับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยไม่เชื่อมโยงกับแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติที่สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2018) ในส่วนของราคาพลังงานยังมีการอุดหนุนราคาพลังงานบางประเภทแบบ Cross Subsidies ในระดับสูง ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคบางส่วนและไม่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเชื้อเพลิงชีวภาพที่ต้นทุนการผลิตยังสูงเกินควร

ทั้งนี้ กลุ่มฯได้เสนอว่าหากรัฐบาลจะใช้ดุลพินิจให้สิทธิประโยชน์แก่เอกชนรายใด เช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยที่ไม่มีการประมูลแข่งขันในการให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐ เช่น ราคาขายไฟฟ้า ก็ควรจะอธิบายว่าการเลือกปฏิบัตินั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะและผู้บริโภคอย่างไร ทำนองเดียวกันการประกาศเงื่อนไขการประมูล (TOR) ก็ควรมีความเป็นกลาง ไม่เอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วยเช่นกัน

ในด้านธรรมาภิบาล กลุ่มฯยังมีข้อเสนอให้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร อาทิ แก้ไข พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 เพื่อแยกการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแลและการดูแลผลประโยชน์ของรัฐในฐานะของผู้ถือหุ้นออกจากกันอย่างแท้จริงเหมือนในประเทศพัฒนาแล้ว และเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาได้มีการเปิดให้บุคคลที่สามใช้ระบบท่อก๊าซ ปตท.แล้ว เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้ประโยชน์จากการแข่งขันดังกล่าว เพราะก๊าซส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า จึงเห็นควรเพิ่มการแข่งขันในกิจการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้นและต้นทุนต่ำลง โดยส่งผ่านราคาค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมให้ผู้บริโภค สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ระบบผลิตไฟฟ้าจะเปลี่ยนแปลงสู่ระบบกระจายศูนย์อย่างรวดเร็วในอนาคต และส่งเสริมการผลิตเองใช้เองของผู้บริโภค (Prosumer)

ทั้งนี้ เสนอให้ปรับโครงสร้างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยยังคงให้ควบคุมระบบสายส่ง ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และให้จัดกลุ่มโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ของ กฟผ. เป็นหน่วยงานอิสระเพื่อเตรียมความพร้อมในการแข่งขันกับเอกชนที่เปิดกว้างและโปร่งใส อันจะเป็นโอกาสทางธุรกิจต่อไปในอนาคต ขณะเดียวกันก็ทำให้การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าต่าง ๆ การเชื่อมโยงระบบและการสั่งเดินเครื่องมีความเที่ยงธรรมอย่างแท้จริงและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อผู้บริโภคและความเข้มแข็งโดยรวมของเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ยังเสนอให้เตรียมการเปิดให้บุคคลที่สามใช้ระบบสายส่งไฟฟ้าและปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าให้มีการแข่งขันโดยให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีทางเลือกในการซื้อไฟฟ้า (Retail Competition) โดยริเริ่มโครงการนำร่อง (sandbox) ให้มีการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Smart Technology เช่น Block Chain) เพื่อเอื้อให้เกิดนวัตกรรมในการผลิตและการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้อาจเริ่มจากผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตนิคมอุตสาหกรรม หรือหมู่บ้านจัดสรรที่มีความพร้อม และในระยะต่อไปจึงเปิดให้มีการแข่งขันเต็มรูปแบบ

ในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิง กลุ่มฯเห็นว่ารัฐบาลควรใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรักษาเสถียรภาพของราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศเฉพาะเมื่อมีวิกฤติราคาน้ำมันในตลาดโลกและใช้ในช่วงเวลาสั้น ๆ การส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ ควรให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 กับ น้ำมันไบโอดีเซล B10 เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงหลักของประเทศ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ และลดการนำเข้า โดยทยอยลดการอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ ภายในช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนด โดยมีเป้าหมายให้ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงชีวภาพในตลาดโลกได้ กลุ่มฯ เห็นควรเลิกการอุดหนุนแบบถาวรในน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพชนิด E85 และ B20 เนื่องจากไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคกลุ่มอื่นที่ต้องรับภาระจ่ายเงินเข้ากองทุน และไม่ส่งเสริมให้ผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของตนเองให้แข่งขันได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ